ชีวิตมีค่า ถ้าใช้เป็น : ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

จุดมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ ต้องการให้เราเข้าใจ “ชีวิตถูกต้อง”
นั่นคือเข้าใจว่า ชีวิตคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคืออะไร มาจากเหตุอะไร แล้วให้โทษทุกข์ ให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด ชีวิตจะราบรื่นชื่นบาน จุดใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ นั่นคือ

ให้เราเพ่งพิจารณาด้วย “ปัญญา” ในเรื่อง
อะไรๆ ต่างๆ แล้วก็ทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ให้ชัดเจนให้ถูกต้อง เราก็จะมีความทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ กระทั่งอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ เมื่อใดเราอยู่โดยไม่เป็นทุกข์นั่นแหละ เรียกว่า เราได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาที่เรานับถือบูชากันอย่างแท้จริง แต่ถ้าเรายังมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจวุ่นวายใจกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ก็แสดงว่า เรายังใช้ศาสนาไม่เป็น ยังใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าสำหรับชีวิตประจำวันไม่เป็น เราจึงมี “ทุกข์” มีความเดือดร้อน มีปัญหา

ปัญหาประเภทนี้ มักเกิดเพราะเราไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องนั้น “ชัดเจน” นั่นเอง ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เพราะไม่ได้พิจารณาด้วย “ปัญญา” ไม่เอาปัญญาทางธรรมะไปใช้ เอาแต่ความไม่รู้ ไม่เข้าใจไปใช้ ถ้าพูดเป็นศัพท์แรงหน่อยก็เรียกว่า ใช้แต่อวิชชา ไม่เอาวิชชา เมื่อเราไม่ใช้วิชชา มันจะเกิดแสงสว่างขึ้นในใจไม่ได้ เพราะเราใช้แต่อวิชชากันเสียเรื่อยไป เราจึงต้องหัดใช้วิชชาให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่างในใจเรา เราจะได้มองอะไรให้มันชัดเจนถูกต้อง ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ

วิธีอยู่ในสังคม คนเราออกไปติดต่อกับคนมากๆ มักต้องศึกษา เรื่อง “คน” ศึกษาเรื่องท้องถิ่น เรื่องท้องถิ่นก็ต้องรู้ แต่ว่าเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ คือ “เรื่องคน” ว่าคนในท้องถิ่นนั้นๆ เขามีพฤติกรรมอย่างไร มีความคิดในแนวใด มีความเชื่ออย่างไร มีการกระทำมากอยู่ในเรื่องอะไร การกินอยู่เป็นอย่างไร ต้องละเอียด ต้องรู้ละเอียด แล้ว “เรา” ก็สามารถจะเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ สามารถจะแก้ปัญหาคนเหล่านั้นได้ ถ้าเราไปโดยไม่รู้ ว่าคนที่นั่น ว่าคนในนั้น เขาอยู่เป็นอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีการกระทำส่วนมากในเรื่องใด หรือพูดง่ายๆ ว่า ชื่นชอบในเรื่องใด ถ้าเราไปโดยหลับหู หลับตา ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอะไรได้ ถ้าเราไม่รู้มูลฐานของตัวปัญหาในหมู่คนเหล่านั้น แล้วจะไปแก้ได้อย่างไร มันทำไม่ได้

Advertisement

เพราะฉะนั้น เราจะไปที่ใดต้องศึกษา แม้เราไปหาใครสักคน เราก็ต้องศึกษาว่า คนคนนั้นเขาเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร พอใจในเรื่องอะไร ไม่พอใจอะไร มีงานอดิเรกอะไรบ้าง ชอบกีฬาประเภทใด มีความรู้สึกนึกคิดอะไร อารมณ์เป็นอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ถ้าเรารู้ เราเข้าใจมัน เป็นใบเบิกทางประมาณว่า : “รู้เขา รู้เรา ทำอะไรก็ชนะ” กระนั้นแหละ

มันเป็นใบเบิกทางที่ทำให้เราเข้าใจเข้าถึงบุคคลนั้น ได้สะดวกสบายไปครึ่งหนึ่งแล้ว การที่เราจะไปคุยกับใคร ถ้าไปคุยเรื่องงานเรื่องการ “มันหนัก” แล้วไม่เกิดการเป็นมิตรเท่าใด แต่ถ้าเราไปคุยไม่ใช่เรื่องงาน แต่เราเริ่มคุยเรื่องงานอดิเรกกับเขา เขาก็ชอบพึงพอใจ เป็นเบื้องต้น ต่อไปเข้าเรื่องก็จะง่าย เช่น บางคนชอบเรื่องอ่าน เราไปคุยเรื่องอ่าน บางคนชอบกล้วยไม้ เราก็คุยเรื่องกล้วยไม้ บางคนชอบเรื่องม้า หมา แมว เราก็จะคุยเรื่อง ม้า หมา แมว บางคนชอบเรื่องเข้าวัด ชอบอ่านหนังสือธรรมะ หรือชอบพระชอบอะไร เราก็จะคุยให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เรียกว่า ไปคุยสิ่งที่เขาชอบนั่นแหละ เช่น เขาชอบเลี้ยงสุนัข ถ้าไปคุยเรื่องอะไรก็ไม่สนุกเท่าเรื่องสุนัขหรอก ถ้าใครไปคุยเรื่องนี้ คุยกันได้ตลอดเวลา ชอบอกชอบใจ ให้เขาสบายใจ แล้วค่อยวกเข้ามา “เรื่องงานเรื่องการ” การคุยที่เขาชอบพึงพอใจ

Advertisement

เท่ากับเป็นใบเบิกทาง ทำให้คนนั้นมีความเป็นมิตรกับเรา เมื่อเป็นมิตรกันแล้ว เราจะพูดเรื่องอะไรๆ ต่อไปก็สะดวกสบาย ไม่เป็นปัญหาต่อไป นี่เรื่อง “คนคนเดียว”

ถ้าเป็นเรื่องของ “คนหมู่มาก” ก็ต้องดูว่าคนในที่นั้น เขาชื่ออะไร เขาชอบอะไร เขามีความเป็นอยู่ในรูปใด เราจะได้คุยให้เขาถูกใจ เช่นว่า ขึ้นไปพูดอะไรกับชาวบ้าน ถ้าเราไม่รู้เรื่องเสียเลยชาวบ้านนั้นมีสถานะอะไร พูดไปเขาไม่หัวเราะ เขาไม่สนุกไม่เพลิดเพลิน แต่ถ้าเราคุยจี้ถูกเส้นขึ้น เขาก็ฮาตึมเลยทีเดียว ถ้าฮาหลายๆ ครั้งเรียกว่าเป็นพวกเราแล้ว แต่ถ้าเราพูดแล้วไม่เห็นใครหัวเราะเลยอยู่ในภาวะเงียบงัน อย่างนี้เรียกว่า “เราไม่มีพวกจากคนเหล่านี้” นี่มันเป็นเรื่องสำคัญทางจิตวิทยาที่สำคัญที่ต้องศึกษาสนใจยิ่งในประเทศ ธรรมะ หรือวิชาการเชิงนโยบาย แก่ประชาชนก็ต้องมีเทคนิค หรืออุบาย ต้องมีเรื่องอะไรไปเบิกใจ ทำให้เขา “เลื่อมใสพอใจ” กันเสียก่อน

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเตือนให้พระที่จะไปที่ใด ก็ให้ไป และลา “พระสารีบุตร” เพราะพระสารีบุตรเป็นสาวกที่มีปัญญาเลิศ เรื่องความรู้ความเข้าใจในปัญหาอะไรต่างๆ เพราะพระสารีบุตรมีญาณอันไกล จะได้ชี้แนวทางปฏิบัติงาน ให้พระเหล่านั้นเข้าใจ ชี้แนวทางต่อสู้ปัญหา ใช้หลักอะไรในการปฏิบัติงาน ท่านฉลาดในเรื่องนี้ ส่วนพระโมคคัลลานะเป็นหนึ่งในด้านแสดงพระเดช พระสารีบุตรเป็นเรื่องพระคุณ เช่น เราติดต่อกับคน มักต้องมีกลอุบาย ต้องมีแนวทางการวางแผน ว่าเราจะไปพูดอะไร เพื่อให้เขาพอใจในเรา คนเรารักกันชอบพอกันแล้ว จะขออะไรกันก็ได้ง่าย
อนึ่ง คำสอนของพระสารีบุตร คือ “สิ่งที่คนไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น” หรือท่านพูดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้เรียกว่าเป็นเบื้องต้น เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คนที่นับถือศาสนาพุทธต้องรู้ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ

เพราะจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่การทำลาย “ปัญหา” คือ “ความทุกข์ให้หมดสิ้นไป”

เคล็ดลับในการดำเนินชีวิตมีหลัก 4 ประการ คือ ชีวิต จะมีค่าถ้าใช้เป็น ชีวิตจะโดดเด่นเพราะสันโดษ ชีวิตไม่มีโทษเพราะเห็นถูก และชีวิตต้องฝังปลูกความไม่ยึดติด

ชีวิต จะมีค่าถ้าใช้เป็น : ถ้าชีวิตคนเรามีค่าเพียงเท่านี้ คือ คุณค่าของชีวิตนี้ อยู่ที่การเกิดการเปลี่ยนแปลง ในช่วงของการมีชีวิตอยู่ และก็แตกสลายไปในที่สุดเท่านั้นหรือ ก็คงไม่ต่างอะไรกับสภาพธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แต่การที่เราได้เกิดมาเป็น “มนุษย์” และอยู่ในบวรพุทธศาสนา เราก็ต้องมีอะไรดีกว่านี้ เราจึงควรพิจารณาว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ชีวิตมีสาระ? ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตมีค่าบ้าง? สิ่งที่ดีมีสาระมีคุณค่ากับชีวิตนี้ คงไม่มีอะไรอื่น นอกจากว่า “ต้องใช้ชีวิตนี้ให้เป็น” ซึ่ง การใช้ชีวิตให้เป็น ก็คือการทำ “หน้าที่” นั่นเอง ดังนั้น หน้าที่ จึงเป็นเครื่องกำกับวิถีชีวิตว่า ชีวิตคนเรานั้นจะมีค่ามีราคาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น “ทางกาย” พระพุทธเจ้าสอนให้ขยันหมั่นเพียร คือ ลุกขึ้นแต่เช้า ก้าวไปข้างหน้า ทำงานแข่งกับเวลา เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม นี่คือ เรื่องของการใช้ร่างกายให้ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง

การใช้ร่างกายแสวงหาสิ่งที่ควรแสวงหา แล้วก็รักษาสิ่งที่หามาได้นั้น การดูแลรักษามีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “เราคบคนให้เป็น” เราต้องรู้จักเลือก รู้จักคิดให้ได้ เพื่อนที่แท้เรียกว่า “กลฺยาณมิตฺตา” คือ คนที่เป็นกัลยาณมิตร จะช่วยเสริมสร้างให้คนเรามีชีวิตที่ปลอดภัย เมื่อเรามีเพื่อนดีแล้ว เราก็ควรใช้ชีวิตของเราทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเหมาะสม เรียกว่า “สมชีวิต” เมื่อเราใช้ร่างกายไปในวิถีทางอย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา คือ ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง เพื่อเพิ่มพูนความสะดวกสบายทางร่างกาย

การที่เราดิ้นรนพยายามแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยเหลือดลบันดาล ให้ได้รับความสำเร็จตามที่ต้องการ ก็เพราะความขัดสนในเรื่องปัจจัยสี่ของตน ทำให้เราต้องมีชีวิตอยู่กับ… “ความคาดหวัง” หวังว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ จากความคาดหวังเช่นนี้ สิ่งที่เป็นเรื่อง… “มืดบอด” จึงเกิดขึ้นในสังคมมากมาย กระบอกเซียมซีก็มี การดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ดูยาม อะไรก็ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดจากมนุษย์ เราไม่เชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า คือ ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่เอาใจใส่ในการรักษาทรัพย์สมบัติ ไม่มีเพื่อนที่ดี และไม่รู้ว่าจะเลี้ยงชีวิตอย่างเหมาะสม จึงมีชีวิตในโลกอย่าง “ขัดสน” เป็นคนจนทั้งทรัพย์และความคิด ความงมงายเป็นตัวการสร้างความมืดบอด ให้กับมนุษย์ ละเลยในการทำหน้าที่ของตน นี่แสดงให้เป็นว่า… เราใช้กายของเราไม่เป็น เมื่อร่างกายไม่สมบูรณ์ จิตก็ไม่สมบูรณ์ตามมา

“จิตใจ” เป็นฐานของชีวิต เพราะคนเราเมื่อจะเสียอะไรก็ตาม ถ้าสูญเสียร่างกายก็จะเสียเรื่อยๆไป เช่น เสียแขน เสียขา ถ้าเรียกว่าคนพิการทางแขนขา เสียหูก็พิการหู เสียตาก็พิการตา ยังไม่ถึงขั้น “เสียคน” การเสียคนจึงไม่ได้เสียที่แขน ขา มือ แต่การเสียคนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเสียสุขภาพจิต คือ สุขภาพจิตเสียเมื่อไรก็เรียกว่า “เสียคน” เมื่อนั้น เช่น เมื่อรักคนอื่นมากแล้วเกลียดคนอื่นมาก มีความคิดที่ไม่สามารถคุมได้

เมื่อนั้นแหละคนนั้นเป็นคน “เสียคน” ตามข้อเท็จจริง เมื่อร่างกายเราต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ “จิตใจ” นั้นต้องทำให้สงบ คติธรรมควรจำใส่ใจไว้ให้ดี “ร่างกายเคลื่อนไหว แต่จิตใจต้องสงบ”

ฉะนั้นจึงควรต้องมี “การฝึกฝน” ฝึกหัดจิตใจ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตัวเราจริงๆ พระพุทธเจ้าระบุอย่างชัดเจนว่า “จิตตํ ทนฺตํ สุขเวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้! เราฝึกจิต : โดยการใช้จิตทำหน้าที่เฉพาะอย่างลงไปเรียกว่า “การเจริญภาวนา” หรือ “การฝึกกรรมฐาน” แต่การทำทั้ง 2 อย่างนี้ ทำให้คนคิดไปนอกลู่นอกทางไปมาก เพราะไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจจริงๆว่า การเจริญภาวนาคืออะไร? กรรมฐานคืออะไร? เมื่อไม่เข้าใจ เขาก็จะคาดการณ์เอาเอง ผู้ที่ได้ฝึกเจริญภาวนาและมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย สิ่งที่ปรากฏขึ้นกับจิตที่ได้ฝึกหัดแล้ว คือ จิตจะเกิดความเข้มแข็ง รู้เท่าทันอารมณ์ “มีสติ” รู้เท่าทัน มีปัญญา รู้ทัน เรียกว่า มีสติและปัญญา ควบคุมสิ่งที่มากระทบไม่ทำให้จิตนั้นกระเพื่อม หวั่นไหว เติมความ “มั่นคง” ในจิตใจ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกหัดควบคุมตัวเองไว้ จะกลายเป็นความเคยชิน ผลตามมาก็จะเป็น ความเคยชิน ผลตามมาก็คือ จะเป็นสมาชิกโรงพยาบาลประสาทโรคจิต ในที่สุดนี้คือผลร้ายที่เกิดจากการไม่ได้ควบคุมฝึกหัดจิตให้ถูกต้อง

นอกจากเรื่อง “กาย” เรื่อง “จิต” แล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “เราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ เราต้องเกี่ยวข้องกับสังคม” เราจึงต้องใช้กายและจิตของเราให้ที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวของกับสังคมให้ถูกต้องด้วย ด้านสังคมนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เกี่ยวข้องเป็นไปตามลำดับ ต้องให้มองตั้งแต่ “ตัวเรา” แล้วเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่รอบข้าง เช่น คนที่อยู่หน้าเรา คนที่อยู่ด้านขวา คนที่อยู่ด้านซ้าย คนที่อยู่ด้านหลัง คนที่อยู่ด้านล่าง คนที่อยู่ด้านบน หรือที่เรียกว่า “ทิศทั้ง 6” นั่นเอง ให้ไปเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นโดยมีหลักง่ายๆ คือ “สัปปุริสธรรม” ด้วยการ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้ชุมชน เมื่อเรานำหลักธรรมทั้ง 7 ประการนี้ มาเป็นเครื่องกำกับในการเกี่ยวข้องกับสังคม เราจะเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมอย่างไม่มีปัญหา ไม่มีความเดือดร้อน ชีวิตจะมีความปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองตลอดเวลา

หนึ่ง เคล็ดลับในการดำเนินชีวิต เข้าใจชีวิตที่ถูกต้อง ชีวิตจะมีค่าถ้าใช้เป็น ความมีค่า หรือ “คุณค่า” (Value) ของชีวิตเรานั้น ต้องมีพื้นฐานชีวิตที่ดี มีความถูกต้อง หน้าที่ และใช้ท่าน(เรา) ให้เป็นอย่างมีค่า คือ การใช้ “กาย” ของเราให้มีสาระด้วยการทำหน้าที่ หน้าที่ทางกาย คือ ต้องขยันหมั่นเพียร อดทน ซื่อสัตย์ เคลื่อนไหวตลอดเวลา ขณะเดียวกัน หน้าที่ทาง “จิต” นั้นต้องฝึกให้เข้าใจ “ความสงบ ร่มเย็น” และหน้าที่ทางสังคม ทิ้งไม่ได้ต้องวางตัวให้เหมาะสม ก็จะถึงพร้อมเป็นบุคคลหรือเป็นที่ถึงพร้อม “สัปปุริสธรรม 7” แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนของฝาก “คน” ข้างเคียงท่านทั้ง 6 ทิศ ว่า

อย่าทิ้งคน ที่ร่วมสู้ อยู่เคียงข้าง
อย่าลืมคน ที่ช่วยสร้าง ทางยิ่งใหญ่
อย่าละเลย คนที่เคย มีน้ำใจ
อย่าลืม เป็นผู้ให้ เมื่อได้ดี

ประมาณว่าเป็น “คนรู้คุณคน เสมอต้นเสมอปลาย” อย่าเนรคุณคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา และก็อย่าถึง “เสร็จนา อย่าโคถึก เสร็จศึก ฆ่าขุนพล” เขาและเรา เราและเขาจะได้ดีดีด้วย สุขสุขด้วยเจริญและโชคดีไปพร้อมกัน จึงจะได้ชื่อว่าเป็น “กัลยาณมิตร ที่ทรงคุณค่า” ทั้งผองไงเล่าครับ

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image