ภาพเก่า..เล่าตำนาน : ทหารออสซี่ทำสงครามกับนกอีมู : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เรื่องจริงที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ที่คุยกันเมื่อไหร่ เฮฮาโดนโห่ทุกครั้ง คือ รัฐบาลออสเตรเลียเคยประกาศสงครามกับนกอีมู (Emu) ถึงขนาดส่งทหารติดอาวุธไปปราบ เป็นเรื่องจริงจัง

ออสเตรเลียเรียกสงครามครั้งนี้ว่า The Great Emu War ซึ่งถ้าพูดในหลักการ คือการฆ่านกอีมูเพื่อจะลดจำนวนลง โดยใช้การปฏิบัติการทางทหาร ในเมืองแคมเปียน (Campion) ภาคตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ.2475 ซึ่งยอมรับว่าเป็นการทำงานที่ไม่สำเร็จ สื่อมวลชนที่ทราบข่าวในภายหลังจึงหยอกล้อกันแบบขำไม่ออก

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอแบ่งปันเรื่องของสงครามกับนกอีมูในออสเตรเลียครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารผ่านศึกของออสเตรเลีย รวมทั้งทหารผ่านศึกของอังกฤษอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันตกของออสเตรเลียเพื่อทำอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างกันดาร ประกอบกับเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 เกษตรกรกลุ่มนี้ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มผลิตผลข้าวสาลีส่งให้กับรัฐบาล รัฐบาลสนับสนุนทุกอย่าง ราคาก็ยังตกต่ำ จนกระทั่งตุลาคม พ.ศ.2475 เกษตรกรกลุ่มนี้เตรียมจะเก็บเกี่ยวข้าวสาลีส่งมอบรัฐบาล แต่ก็เจอฝูงนกยักษ์ขนาดมหึมา

Advertisement

ฝูงนกอีมูราว 2 หมื่นตัวที่ผสมพันธุ์เสร็จตามฤดูกาล แห่กันมาหาแหล่งน้ำที่เกษตรกรจัดเก็บไว้เพื่อปลูกพืช พลังของฝูงนกอีมูทำให้รั้วทั้งหมดที่สร้างไว้พังทลาย สร้างความเสียหายกับพืชไร่ นกรุมกัดกินข้าวสาลีเสียหายยับเยิน เกษตรกรในพื้นที่โกรธจัดหัวฟัดหัวเหวี่ยง จัดประชุมเพื่อส่งตัวแทนที่เป็นอดีตทหารผ่านศึก ไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย เซอร์ จอร์จ เพียร์ซ (Sir George Pearce) เป็นการด่วน

อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เพิ่งมาก่อร่างสร้างตัว ในพื้นที่โดนฝูงนกอีมูบุก คิดแบบทหารเก่า ต้องยิงให้เรียบด้วยปืนกล (โดยเฉพาะปืนกลที่เพิ่งเสร็จจากสงครามโลกครั้งที่ 1) ซึ่ง รมว.กห.เห็นชอบ โดยมีเงื่อนไขว่า

Advertisement

1.ผู้ใช้อาวุธต้องเป็นทหารเท่านั้น

2.รัฐบาลของรัฐออสเตรเลียตะวันตกจะสนับสนุนการขนส่งทหาร

3.เกษตรกรจะจัดหาอาหาร จัดหาที่พักให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่

4.เกษตรกรจะออกค่าใช้จ่าย ค่ากระสุนที่จะใช้

รมว.กห.ออสซี่ร่วมด้วยช่วยเกษตรกร จะส่งทหารไป และถือโอกาสฝึกหาความชำนาญในการยิงปืนของทหารด้วย

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในรัฐบาลออสเตรเลียนะครับ

เมื่อต้องให้สภาฯอนุมัติการใช้กำลังทหาร วุฒิสมาชิก เจมส์ ดันน์ เลยตั้งฉายาให้ รมว.กห.เพียร์ซ ว่า “รัฐมนตรีปราบนกอีมู”

พันตรี จี ดับเบิลยู เมอร์ดิทธ์ (Major G.W. Meredith) จากหน่วยทหารปืนใหญ่ที่ 7 กองทัพบกออสเตรเลีย เป็นผู้บังคับหน่วยทหารเดินทางไปปราบนกอีมู อาวุธหลักที่นำไปสังหารนกอีมูคือ ปืนกลลูอิส (Lewis) 2 กระบอก พร้อมกระสุน 1 หมื่นนัด กำลังพล 12 นาย

ฝนเจ้ากรรมตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ ฝูงนกอีมูกระจายตัวกันออกไปทั่ว นกยักษ์อยู่ไม่เป็นกลุ่มก้อน จึงทำให้ต้องขยับแผนงานออกไปจนถึง 2 พฤศจิกายน 2475 ทหารต้องประสานงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อจะทราบว่านกอีมูไปทำความเสียหายในบริเวณใด

เราลองมาทำความรู้จักกับนกอีมูกันหน่อยครับ

นกอีมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dromaius novaehollandiae Aptenodytes forsteri ในเขต Western Australia ซึ่งมีนกอีมูอยู่หลายหมื่นตัว เมื่อโตเต็มที่ มันสูงถึง 190 เซนติเมตร น้ำหนัก 60-70 กิโลกรัม เป็นกลุ่มเดียวกับนกกระจอกเทศ และนกคาสโซวารี่ เป็นนกบินไม่ได้ ซึ่งการไปบุกเบิกที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการรุกรานถิ่นที่นกอีมูต้องใช้ผสมพันธุ์ อีมูเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ขนเป็นเส้นสีน้ำตาลอมเทา บริเวณคอมีขนขึ้นปกคลุม สามารถวิ่งได้เร็ว 50 กม./ชม.

นกอีมูหากินเป็นฝูงโดยแต่ละฝูงจะมีตัวผู้หนึ่งตัวคอยควบคุม จะพบได้ในเขตทุ่งหญ้าและป่ากึ่งแห้งแล้ง มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย นกอีมูกินผลไม้ ดอกไม้ เมล็ดพืช และแมลง รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังต้องการน้ำทุกวันด้วย นกอีมูวางไข่ครั้งละ 9-12 ฟอง

นกอีมูมีอยู่มากตามธรรมชาติในภาคตะวันตกของออสเตรเลีย การขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เลี้ยงแกะ ทำให้นกอีมูเหล่านี้มาชุมนุมที่แหล่งน้ำ

2 พฤศจิกายน 2475 วันแรกของสงครามปราบนกอีมู ทหาร 12 นาย นำปืนกลไปตั้งยิง 2 กระบอก มองเห็นฝูงนกยักษ์ราว 50 ตัว แต่พวกมันยังอยู่ไกลเกินระยะยิง เกษตรกรเจ้าถิ่นพยายามที่จะล่อนกให้เข้ามาใกล้ๆ แต่ฝูงนกดันแยกตัวกันเป็นฝูงย่อยๆ

พลยิงปืนกลสาดกระสุนแบบออโตออกไป 1 ชุด ไม่โดนนกสักตัว พลยิงจัดท่าทางใหม่ให้เข้าที่ เล็งอย่างตั้งใจ ปล่อยกระสุนชุดที่ 2 ออกไปอีก เสียงปืนดังสนั่นทุ่งออสเตรเลียตะวันตก มีนกอีมูล้มลง 3-4 ตัว มีเสียงเฮลั่นทุ่งแบบผู้ชนะศึก

ทหารมีกำลังใจ กระชุ่มกระชวยขึ้นทันตาเห็น และยังคงเฝ้ารอ ดักยิง ดักสอยนกอีมูทีละตัวสองตัว ที่เดินไปมาบริเวณนั้นจนเย็นค่ำ วันแรกยิงนกตายไปราว 1 โหล

เกษตรกรที่ล้วนเป็นทหารผ่านศึก ร่วมกับทหารที่ถูกส่งมาปราบนก ศึกษาหาทางที่จะหลอกล่อให้นกมารวมตัวกันให้มากที่สุด ณ พื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่อจะสาดกระสุนให้ตายหมู่นับร้อยนับพัน ในที่สุดจึงพบว่า บริเวณสันเขื่อนกักน้ำ เหมาะที่สุดเพราะนกมันจะมากินน้ำแน่ๆ

4 พฤศจิกายน 2475 ทุกอย่างเป็นไปตามแผนยุทธการ ฝูงนกอีมูราว 1 พันตัวรวมตัวกันเดินเข้ามาใน “พื้นที่สังหาร” (Killing Zone)

พลยิงปืนกล ทาบศูนย์หน้า ศูนย์หลังตรงกันเป๊ะกับฝูงนกยักษ์จอมเขมือบ บรรจงลั่นไกสาดกระสุนออกไป 1 ชุด นกอีมูตัวสูงเท่าคนล้มระเนระนาด 12 ตัว ขาดใจตายคาที่

ปืนกลสิ้นเสียงไปดื้อๆ ท่ามกลางกองเชียร์ที่ปรบมือรัวๆ

ทุกคนหันไปมองที่พลยิงและพลยิงผู้ช่วยที่กำลังดึงลูกเลื่อนปืนกลไป-มา เปิดฝาปิดรังเพลิง ดันกระสุนเข้าไปใหม่ แล้วลั่นไป เสียงดังเชี้ย

อาการแบบ คือ ปืนขัดลำกล้อง ปืนกลติดขัด ยิงต่อไม่ได้แล้ว ภาษาเรียกง่ายๆ คือ ปืนกลเจ๊งครับ วันนั้นทั้งวันยิงได้อีก 12 ตัว รวม 2 วัน ยิงนกอีมูได้ราว 2 โหล

ทหารที่ได้รับมอบภารกิจมาปราบนกอีมูแสนจะหงุดหงิด ปรับแผนอีกครั้งโดยขยับที่ตั้งปืนลงไปทางทิศใต้ เพราะมีข้อมูลว่าฝูงนกแถวนั้น “น่าจะเชื่อง” ยิงได้ง่ายกว่าแน่นอน แต่เมื่อไปตั้งปืนจริงๆ กลับไม่เป็นไปตามแผน ยิงไม่ได้เลยสักตัว

ผู้พันเมอร์ดิทธ์ คิดใหม่ ทำใหม่ ต้องใช้การไล่ล่านกอีมู จึงนำปืนกลขึ้นตั้งบนรถบรรทุกของชาวบ้าน แล้วขับตระเวนไปหลายพื้นที่เพื่อหาแหล่งชุมนุมของนกที่น่ารังเกียจ

รถบรรทุกวิ่งไปได้เพียงพื้นที่จำกัดเท่านั้น และพื้นที่สูงต่ำทุลักทุเลจนเล็งปืนไม่ได้ เป็นอันว่าการไล่ล่าเอาปืนกลตั้งบนรถบรรทุกของชาวไร่แบบใน “ภาพยนตร์สิงห์ทะเลทราย” ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอีก

ทหารยอมรับว่า นกยักษ์พวกนี้ฉลาด มีผู้นำที่เสียสละคอยหาทางหนีทีไล่ให้สมาชิกในกลุ่มปลอดภัยจากการถูกสังหาร

8 พฤศจิกายน หลังจากเปิดยุทธการมา 6 วัน ทหารสำรวจกระสุนพบว่าใช้ไปเพียง 2,500 นัด จำนวนนกที่สังหารได้ราว 50 ตัว (โดยประมาณ) ส่วนทหารปลอดภัยทุกนาย

สื่อมวลชนที่ติดตามข่าวการส่งทหารไปล่านกอีมูมาตั้งแต่ต้น นำเสนอข้อมูลในเมืองหลวงอย่างเข้มข้น มีสีสันปนความสนุก บทสรุปที่ได้ คือ นกอีมูไม่ยอมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ พวกมันพากันสลายตัวออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะไปไล่ยิง

ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ทราบข้อมูลด้านลบดังกล่าวจากสื่อมวลชน นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในสภา เป็นผลให้รัฐมนตรีกลาโหมสั่งยุติปฏิบัติการสังหารนกอีมูและให้ถอนกำลังกลับในวันที่ 8 พฤศจิกายน

พันตรีเมอร์ดิทธ์ยอมรับอย่างลูกผู้ชายว่า นกอีมูเหล่านี้กล้าหาญ อดทน ฉลาด และเป็นนักสู้แม้เมื่อโดนกระสุนบาดเจ็บ

ทหารถอนกำลังกลับไป ฝูงนกอีมูกลับมาอาละวาดทำความเสียหายต่อพืชไร่แบบผู้ชนะ อากาศที่ร้อนจัดและสภาวะแห้งแล้งทำให้นกอีมูนับพันแห่กันมาใช้แหล่งน้ำของเกษตรกรแบบมืดฟ้ามัวดิน นายเจมส์ มิทเชลล์ (James Mitchell) ผู้ว่าการที่ดูแลรัฐออสเตรเลียตะวันตก ออกมาขอให้ส่งทหารเข้าไปปราบนกใหม่อีกครั้ง

โดยผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ช่วยเสริมข้อมูลระบุว่า ครั้งแรกที่ส่งทหารไปยิงนกอีมูตายไปราว 300 ตัว

12พฤศจิกายน ปีเดียวกัน รมว.กห.ออสเตรเลียต้องชี้แจงต่อสภาฯ เรื่องที่จะส่งทหารไปปราบนกอีมูรอบ 2 โดยยกประเด็นความเสียหาย ความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่ประชุมสภาเห็นชอบ และมอบหมายให้พันตรีเมอร์ดิทธ์คนเดิมนำปืนกลกลับไปอีกรอบ เนื่องจากทหารในพื้นที่ยังใช้ปืนกลรุ่นนี้ไม่เป็น

13 พฤศจิกายน ทหารเริ่มลงมือไล่ล่าวายร้ายนก

อีมูรอบ 2 เพียง 2 วันแรกยิงได้ 40 ตัว ทหารไม่ลดละความพยายาม วางจุดซุ่ม ดักยิงนกได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 ตัว

ความซื่อตรงของทหารออสเตรเลีย พันตรีเมอร์ดิทธ์รายงานกลับมาที่สภา เมื่อ 10 ธันวาคม ว่า ใช้กระสุนไป 9,860 นัด สังหารนกได้ 986 ตัว เฉลี่ยแล้วใช้กระสุน 10 นัดต่อนก 1 ตัว มีนกบาดเจ็บ 2,500 ตัวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ถ้าจะว่าไปแล้ว การลดประชากรนกอีมูที่ทำลายพืชผลของเกษตรกรก็ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง ตามข้อมูลที่ปรากฏ เกษตรกรในรัฐตะวันตกของออสเตรเลียได้ร้องขอทหารไปปราบนกอีมูอีกในปี พ.ศ.2477 ปี พ.ศ.2486 และปี พ.ศ.2491

ข่าวการทำศึกกับนกอีมูแพร่ไปถึงอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศแม่ของออสเตรเลีย กลายเป็นประเด็น “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์” ในรัฐสภาอังกฤษ

คนออสเตรเลียยอมรับว่าการรบทัพจับศึกครั้งนี้ไม่สามารถเอาชนะฝูงนกเหล่านี้ได้ เลยกลายเป็นเรื่องล้อเลียน หยอกล้อ เฮฮากันมาจนถึงทุกวันนี้

คนออสเตรเลียยกย่องนกอีมู และให้เกียรตินกอีมูเป็นสัตว์ที่ปรากฏบนสัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลียคู่กับจิงโจ้

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
————————-
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Emu_War
และ Pickering Brook Heritage

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image