คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : อยู่กันอย่างมิตร

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ออกใหม่

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ไทยในสายตาเพื่อนบ้าน ฉบับปรับปรุง”

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการศึกษาอารมณ์ความรู้สึกคนในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย

Advertisement

หนังสือเล่มนี้หยิบยกเอาเหตุการณ์ที่คนไทยอีกหลายคนยังไม่รู้ตัวมา

บอกเล่า

ลาว พม่า กัมพูชา สั่งสมความรู้สึกไม่พอใจไทยมานานแล้ว

Advertisement

มาเลเซีย รู้สึกไม่เห็นด้วยกับไทย หลังจากเกิดเหตุร้ายที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อปี พ.ศ.2547

ขณะที่เวียดนามกลับมีท่าทีเป็นมิตรต่อไทย แม้ในช่วงสงครามเย็นจะมีการกระทบกระทั่งถึงขั้นวิกฤต…มีกองกำลังประชิดชายแดนก็ตาม

หนังสือเล่มนี้มี รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นบรรณาธิการ…เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ

หลายเรื่องในเล่มเป็นเหตุการณ์ที่ทบทวนให้ผู้อ่านระลึกได้

อาทิ เหตุการณ์ร่มเกล้า เหตุการณ์กะเหรี่ยงจับตัวประกัน ยึดโรงพยาบาล เหตุการณ์เผาบริษัทไทยในกัมพูชา ฯลฯ

ในจำนวนนี้ มีหลายเรื่องที่นอกจากจะกระตุ้นให้ผู้อ่านจำได้แล้ว ยังเจาะลึกเข้าไปหาสาเหตุ

ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์รัฐชาติของลาว โฟกัสช่วงรัชสมัยเจ้าอนุวงศ์

หรือวรรณกรรมเรื่อง “คำสอนตามาส” ที่เชิดชูฝรั่งเศส แต่ปลุกคนให้เกลียดไทย

รวมทั้งความหวาดระแวงของพม่าที่กล่าวหาไทยหนุนหลังชนกลุ่มน้อย

เรื่องเหล่านี้หลายคนรู้ แต่อีกหลายคนก็ยังไม่รู้

ดังนั้น ในช่วงที่ไทยกำลังสร้างมิตรกับ CLMV คนไทยจึงควรศึกษาเพื่อนบ้าน

ศึกษาความรู้สึกของเพื่อนบ้านที่มีต่อไทยในแง่มุมต่างๆ

ทั้งแง่บวกและแง่ลบ

ขอยกตัวอย่างความรู้สึกที่เวียดนามมีต่อไทยตามหนังสือเล่มนี้นำเสนอ

หนังสือระบุว่า จากบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เวียดนามแบ่งการปกครองเป็นเหนือใต้

เหนือปกครองโดยตระกูล จิ่ง

ใต้ปกครองโดยตระกูล เหงวียน

ไทยมีความสัมพันธ์กับเวียดนามอย่างแน่นแฟ้น เมื่อ เหงวียน ฟุก แอ๋นห์

หลบหนีการจับกุมของกลุ่มเต็ยเซินที่ยึดอำนาจ

เหงวียน ฟุก แอ๋นห์ เลือกที่จะเข้ามาอยู่สยาม

จากนั้นเหงวียน ฟุก แอ๋นห์ ก็เดินทางกลับไปกอบกู้อำนาจ และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิซาลอง

แล้วถือนโยบายเป็นมิตรกับสยามมาตลอดรัชสมัย

ต่อมาประเทศเวียดนามตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส กลุ่มผู้ต้องการกอบกู้ประเทศต่างหันมาพึ่งประเทศไทย

หลายจังหวัดในไทยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเวียดนามกู้ชาติ

ชาวเวียดนามเหล่านี้ต้องการปลดแอกจากฝรั่งเศส

ในช่วงหนึ่ง โฮจิมินห์ ผู้นำจิตวิญญาณชาวเวียดนามก็แวะเวียนมาเยี่ยมฐานที่มั่นในไทย

ไทยจึงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเวียดนามเรื่อยมา

กระทั่งสหรัฐอเมริกาประโคมทฤษฎี “โดมิโน” ที่โด่งดัง และเวียดนามก็มีทีท่าว่าจะรุกอินโดจีน

ไทยซึ่งถือข้างประชาธิปไตย จึงยืนตรงกันข้ามกับเวียดนาม

ยิ่งเมื่อเวียดนามเข้ามาช่วยคอมมิวนิสต์ในลาว และกัมพูชา ไทยยิ่งต้องระมัดระวังตัว

เกรงว่าจะตกเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน

กว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย กาลเวลาก็ล่วงเข้าสู่ยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ขณะนั้นไทยชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

เมื่อเปลี่ยนการเผชิญหน้ามาเป็นการค้าขาย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามก็ค่อยๆ ดีขึ้น

รายละเอียดของความสัมพันธ์คงต้องไปหาอ่านในหนังสือ

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย

อ่านแล้วจะทราบว่าทำไมคนลาวถึงไม่ชอบไทย อ่านแล้วจะเข้าใจว่าทำไมพม่าหวาดระแวง

และคงจะมองเห็นถึงสาเหตุที่ชาวกัมพูชาลุกขึ้นมาเผาบริษัทไทยในพนมเปญเมื่อหลายปีก่อน

ทุกอย่างมีคำตอบอยู่ในหนังสือ “ไทยในสายตาเพื่อนบ้าน ฉบับปรับปรุง”

หนังสือนี้เป็นอีกเล่มที่ขอแนะนำให้คนไทยอ่าน

เก็บไว้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลาสำหรับผู้เยาว์-ผู้ใหญ่

อ่านให้รู้จักอดีต รับทราบความรู้สึกผู้คน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นเชิงบวก

เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีหลาย “บาดแผล” ที่ต้องเยียวยา

แต่ประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาต่างๆ ก็สอนให้รู้ว่า เมื่อใดทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ความวิบัติจะมาเยือนประเทศทั้งสอง

แต่เมื่อใดที่ประเทศเพื่อนบ้านจับมือเป็นมิตร เปิดการค้าขายแลกเปลี่ยน

ความเจริญงอกงามของทั้งสองชาติจะบรรเจิด

เชื่อว่าทั้งไทยและเพื่อนบ้านต่างอยากให้ประชาชนของชาติตนอยู่อย่างสันติสุข

อยากให้ความสัมพันธ์ดีๆ เกิดขึ้นระหว่างกัน

ดังนั้น การทำความรู้จักทำความเข้าใจกันและกันจึงมีความจำเป็นอย่างสูง

การมีข้อมูล การได้ทำความรู้จัก และเกิดความเข้าใจกันและกัน

น่าจะเป็นวิธีการที่นำเราไปสู่เป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน

อยู่กันอย่างสันติ อยู่กันอย่างสงบสุข

…อยู่กันอย่างมิตร ไม่ใช่ศัตรู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image