อำนาจไม่เต็มร้อย โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

 

การพูดว่าจะขึ้นภาษีแวตอีกแค่เปอร์เซ็นต์เดียว เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐอีกปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท จะทำให้การพัฒนาประเทศราบรื่นขึ้นของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไร เพราะภาษีแวต 7 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้กันอยู่ขณะนี้ รู้กันอยู่ว่าเป็นเรื่องของการยกเว้นที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

อัตราที่กำหนดไว้จริงคือร้อยละ 10 แต่ทุกรัฐบาลผัดผ่อนกันมา ไม่ยอมใช้อัตราเต็มเพื่อเอาใจประชาชน

Advertisement

เมื่อรัฐบาลชุดนี้มาจากรัฐประหาร มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจกับประชาชนมากกว่าจะเอาอกเอาใจเหมือนที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องทำ จึงดูเหมือนไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชะลอการใช้กฎหมายภาษีแวต

แต่ท่าทีในการพูดถึงเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีออกไปในทางหยั่งเสียง หรือโยนหินถามทาง ทั้งที่เป็นการเพิ่มจากเดิมแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เต็ม 10 ตามกฎหมาย

ทำให้ดูคล้ายกับว่า แม้จะมาจากรัฐประหาร แต่มีความรู้สึกรู้สากับความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนัก

Advertisement

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่เชื่อมั่นในอำนาจ และดูแล้วยังมีประชาชนจำนวนมากที่ถึงอย่างไรก็ให้การสนับสนุน เพราะเชื่อมั่นว่าในยุคสมัยเช่นนี้ รัฐบาลเผด็จการทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน ที่มีแต่ความเหลาะแหละไม่กล้าตัดสินใจ

ว่าไปแล้วหากมองให้กว้างออกไปเรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่เหมือนกันในเรื่องนี้

เรื่องน่าจะเป็นแบบว่าขณะที่ทั่วโลกกำลังเกิดความคิดว่า การเมืองการปกครองที่ผู้นำกล้าตัดสินใจ ใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อทำในสิ่งที่ควรทำ มีผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเป้าหมาย มากกว่าจะกังวลแต่ประชาชนจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วยแล้วทำให้ประเทศเละเทะกำลังเป็นที่นิยม

สะท้อนจากการเลือกตั้งในหลายประเทศ ผู้นำซึ่งมีบุคลิกเด็ดขาดเป็นที่ชื่นชมได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่า ที่ชัดเจนและกล่าวถึงกันมากคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการประกาศนโยบายแข็งกร้าว และพร้อมเผชิญหน้ากับคนไม่เห็นด้วย

กระแสชื่นชมผู้นำมาดเด็ดขาดเกิดขึ้นทั่วโลกเช่นนี้เองที่ทำให้คนไทยเราเชื่อว่ารัฐบาลเผด็จการเหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว สอดคล้องเป็นไปตามกระแสโลก

แต่นั่นเป็นมุมมองที่ต้องชั่งใจกันว่าครบถ้วนในทุกมิติหรือไม่

โลกที่พัฒนาและยืนหยัดในประชาธิปไตยที่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจในการปกครองประเทศมายาวนาน กลไกและกติกาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศวางไว้ในทางเอื้อกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ อันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

ดังนั้น ไม่ว่าผู้นำจะใช้อำนาจจัดการด้วยความเด็ดขาดแค่ไหน แต่ยังต้องอยู่ในกรอบของกติกาประชาธิปไตยอย่างว่า

จะเห็นได้ว่าคำสั่งของทรัมป์หลายเรื่องถูกคัดค้านจากกลไกอื่นที่คานอำนาจไว้ จนไม่มีผลทางปฏิบัติ

เหมือนกับในอีกหลายประเทศที่คะแนนนิยมของผู้นำมีสูงยิ่ง แต่ไม่สามารถทำทุกเรื่องได้

อาจจะเป็นเพราะอย่างนี้ ที่ผู้นำของไทยเราถึงจะมีอำนาจมากมายในระดับที่ออกกฎหมายได้เองด้วยมาตรา 44

แต่จะทำอะไรก็ยังต้องหยั่งเสียงประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image