ไปให้ถูกทาง โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 10-16 มีนาคม 2560 ที่วางแผงอยู่ตอนนี้

มีเรื่องให้ “อภัย” และ “ปรองดอง” น่าสนใจ

อยู่ในข้อเขียน ของ “สุรชาติ บำรุงสุข”

ที่ได้ความบันดาลใจจากที่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ได้จัดฉายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในวันที่ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้นิรโทษกรรม เข้าเยี่ยมคารวะผู้ดำเนินการเรื่องนี้คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีช่วงนั้น

Advertisement

หนึ่งในนักศึกษาที่เป็นอิสระคือ “สุรชาติ บำรุงสุข” นั่นเอง

สุรชาติ ยอมรับว่า การตัดสินใจของนายกฯ เกรียงศักดิ์ มีนัยสำคัญต่อการ “ปลดชนวนสงคราม” หลังการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519

และยังเป็นโอกาสให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 ในเวลาต่อมาอีกด้วย

Advertisement

ทำให้ “ความขัดแย้ง” ในระดับ “สงครามกลางเมือง” คลายตัวลง

ดูเหมือนง่ายๆ แต่ยากอย่างยิ่ง

เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้นำทหารและผู้ครองอำนาจรัฐขณะนั้น ส่วนหนึ่งยังสุดโต่งว่า รัฐมีความชอบธรรมในการที่จะใช้กำลัง “ปราบปราม” ฝ่ายตรงข้ามอย่างสุดขั้ว และไม่มีข้อจำกัด

ทั้งที่ฝ่ายตรงข้ามนั้นก็คือ คนไทยด้วยกันนั่นเอง

แต่ก็พยายามสร้างกระบวนการให้คู่ต่อสู้ของรัฐเป็น “คนนอก”

ขบวนนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จีนบ้าง คอมมิวนิสต์เวียดนามบ้าง

หรือที่สุดโต่งก็คือ ผู้นำนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็น “ญวน”

และรวมไปถึงมีข้อเสนอเชิงวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

เพื่อให้เกิดสิ่งสำคัญคือ “ความชอบธรรมในการฆ่า” เพราะถ้าบอกว่าพวกเขาเป็น “คนไทย” แล้ว จะมีคำถามต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

คอมมิวนิสต์จึงถูกนิยามให้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไทย

สามารถฆ่าหรือล้อมปราบได้ อันนำไปสู่เหตุ 6 ตุลาคม 2519 นั่นเอง

แม้จะบรรลุผลในตอนแรก แต่รัฐไทยก็ไม่อาจสามารถเอาชนะในสงครามคอมมิวนิสต์ได้

ตรงกันข้ามไทยยังถูกมองว่าจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์อีกต่างหาก

นี่เองทำให้ นักการทหารอีกปีก พบว่า “กำลังมีความจำกัดในตัวเอง”

คือรัฐไม่สามารถใช้กำลังอย่างที่รัฐต้องการได้โดยไม่มีข้อจำกัด

ตรงกันข้ามมีข้อจำกัดในตัวเองอย่างมากทั้งในทางการเมือง กฎหมาย ศีลธรรม และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

จึงมีการผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญหลังปี 2519

นั่นคือต้องมิใช่มุ่งเอาชนะสงครามกับ “พคท.”

แต่จะทำอย่างไรที่จะพาประเทศออกจากสถานการณ์สงคราม

และจุดเริ่มต้นที่เป็น “การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” นี้ จึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการตัดสินใจนิรโทษกรรมจำเลยคดี 6 ตุลาฯ

เพราะเป็นดั่งส่งสัญญาณของการประนีประนอมทางการเมือง

ซึ่งถ้าจะเปรียบกับภาษาในปัจจุบันก็คือการส่งสัญญาณของ “การปรองดอง” นั่นเอง

โดยหวังว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติให้ได้มากที่สุด

หรือในปัจจุบันคือกระบวนการสร้าง “ความสมานฉันท์”

การตัดสินใจของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงถือเป็น “หัวเลี้ยว” สำคัญของสถานการณ์

แน่นอนคงต้องใจใหญ่ ใจกว้าง ใจกล้าหาญมากพอสมควร

เพราะการตัดสินใจครั้งนั้นเผชิญกับ “แรงเสียดทาน” ของกระแสขวาจัดที่ยังต้องการให้คุมขังผู้นำนักศึกษาประชาชนต่อไป

โดยเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดอาการไม่เกรงกลัวรัฐบาลและหันกลับมาเคลื่อนไหวอีก

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ก็พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในคดี 6 ตุลาฯ ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ถูกต้อง

การที่หยิบเรื่องนี้มาเล่าขาน

ไม่ได้มีอะไรมาก นอกจากความหวังว่าขบวนการ “ปรองดอง” ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้

จะถูกต้องเหมือนการตัดสินใจของนายกฯ “พญาอินทรี” ในวันนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image