ผู้เขียน | โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ |
---|
การหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์คือการโดดเดี่ยวฮามาส
ความจริงปัญหาหลักของภูมิภาคตะวันออกกลาง คือการขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับทั้งหมด 22 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย คอโมโรส จิบูตี อียิปต์ อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย มอริเตเนีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน
ปัญหาระหว่างประเทศอิสราเอลกับชาติอาหรับทั้งหลายเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2425 ตั้งแต่ชาวยิวเริ่มต้นการอพยพครั้งใหญ่เพื่อเดินทางไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาตามความเชื่อของพวกยิว คือ นครเยรูซาเลมในปาเลสไตน์ หลังจากที่ถูกขับไล่จากดินแดนเดิมของตนโดยจักรวรรดิโรมันใน พ.ศ.613 มาอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วยุโรปมาอย่างยาวนาน โดยตอนนั้นปาเลสไตน์ยังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้เข้ายึดครองปาเลสไตน์และพื้นที่แถบทรานส์จอร์แดน ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวยิวอพยพได้เข้ามาในปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่นาซีเยอรมนีเริ่มเรืองอำนาจได้กดชี่ชาวยิวอย่างหนัก ทำให้ชาวอาหรับในปาเลสไตน์ลุกฮือประท้วงต่อต้านการปกครองของอังกฤษและผู้อพยพชาวยิวจึงมีการรบต่อสู้กันไม่หยุดหย่อนในปาเลสไตน์
เมื่ออังกฤษตัดสินใจจะถอนตัวจากการปกครองปาเลสไตน์ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2491 และยกให้องค์การสหประชาชาติเป็นผู้แก้ปัญหาการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวในปาเลสไตน์ ปรากฏว่ามีประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอลในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2491 กลายเป็นรัฐยิวแห่งแรกของโลกในรอบ 2,000 ปี นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศอิสราเอลกับบรรดาชาติอาหรับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานับเนื่องกันเป็นเวลากว่า 70 ปี ที่สงครามเป็นช่วงๆ มาไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างไรก็ดี ก็มีอยู่ 6 ประเทศอาหรับจาก 22 ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอิสราเอลในขณะนี้ คืออียิปต์ มีเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเป็นประเทศแรกใน พ.ศ.2522 หลังจากนั้นประธานาธิบดีอียิปต์คนที่เปิดความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็ถูกฆ่าตายอีก 2 ปีต่อมา
ใน พ.ศ.2537 จอร์แดนก็เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอีกประเทศหนึ่ง ต่อมาใน พ.ศ.2563 จึงมีประเทศอาหรับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเดิมด้วยข้อตกลง “อับราฮัมแอคคอร์ด” เท้าความความเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยมีบาห์เรน โมร็อกโก และซูดาน ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลตามลำดับ ประเทศที่เจ้ากี้เจ้าการคือสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าเก่าที่ได้พยายามชักชวนให้ประเทศอาหรับทั้ง 6 ประเทศนี้รับรองประเทศอิสราเอล ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐในอุปถัมภ์ของสหรัฐอเมริกา ด้วยการเสนอผลประโยชน์ให้ประเทศทั้ง 6 ประเทศนี้อย่างจุใจ อาทิ การลบซูดานออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย และยอมความในเหตุการณ์ระเบิดโจมตีสถานทูตสหรัฐ ทั้งในแทนซาเนียและเคนยา เมื่อ พ.ศ.2541 หรือตกลงที่จะขายฝูงบินรบแบบล่องหนเอฟ-35 ที่ทันสมัยที่สุดของสหรัฐ ที่ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแต่อิสราเอลเท่านั้นที่มีประจำการให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือการให้อิสราเอลคืนดินแดนทั้งหมดรวมทั้งคลองสุเอซที่อิสราเอลยึดครองจากสงคราม 6 วันให้แก่อียิปต์ เป็นต้น
ในบรรดาประเทศอาหรับทั้ง 6 ประเทศมีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประเทศเดียวเท่านั้นที่ต่อยอดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลจากข้อตกลง “อับราฮัมแอคคอร์ด” ในทางเศรษฐกิจที่เพิ่มผลประโยชน์มหาศาลให้ทั้ง 2 ประเทศ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าไปซื้อบ่อน้ำมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอิสราเอลและบริษัทเชฟรอนด้วยเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปีที่แล้วนักท่องเที่ยวยิว จำนวน 200,000 คน ได้บินไปพักผ่อนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แม้ว่าในช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ปริมาณการค้าและการบริการระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยคาดว่าปริมาณการค้าและการบริการของ 2 ประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลา 10 ปี เมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถส่งน้ำมันดิบผ่านอิสราเอลไปยังยุโรปได้สำเร็จ
ความจริงแล้วข้อตกลงอับราฮัมนี้เป็นข้อตกลงที่ทำให้ชาติอาหรับเทปาเลสไตน์กลายๆ นั่นเอง เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ตั้งแต่ พ.ศ.2561 มกุฎราชกุมารซัลมาน ผู้มีอำนาจเต็มแห่งซาอุดีอาระเบีย พี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มประเทศอาหรับ กล่าวว่า อิสราเอลมีสิทธิเหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ซาอุดีอาระเบียไม่มีปัญหาคนยิว ทั้งยังมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง ซึ่งเท่ากับว่ายอมรับรัฐชาติอิสราเอลปัจจุบันแล้ว ต่างจากอดีตที่ประกาศว่าอาหรับกับยิวอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้
นอกจากนี้ มกุฎราชกุมารซัลมานยังชี้แจงเพิ่มอีกว่า ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามูฮัมมัดของเราก็แต่งงานกับหญิงยิว เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว แม้ในประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อย ทั้งจากอเมริกา ยุโรป นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่า พระองค์หวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะหมดไป ซาอุดีอาระเบียไม่ได้มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู ตรงกันข้าม คาดหวังว่าจะเป็นพันธมิตรต่อกันเพราะมีผลประโยชน์หลายอย่างที่ร่วมมือกันได้
โดยแท้ที่จริงแล้วซาอุดีอาระเบียมีศัตรูตัวฉกาจคืออิหร่าน ซึ่งไม่ใช่อาหรับแต่เป็นชาวอินโดยูโรเปียนที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และมีชาวอาหรับจำนวนไม่น้อยที่เป็นพวกชีอะห์แทรกอยู่ในแทบทุกประเทศในกลุ่มอาหรับ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีแหล่งน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของชาติอาหรับนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่
อิหร่านได้สนับสนุนการฝึกอาวุธและมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนการเงินให้กับชาวอาหรับชีอะห์เพื่อต่อสู้กับชาวอาหรับซุนหนี่ เช่น พวกฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน พวกฮูติในเยเมน และบรรดาชาวอิรักชีอะห์ในอิรัก รวมทั้งกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาที่แม้จะไม่ใช่พวกชีอะห์แต่อิหร่านสนับสนุนการเป็นศัตรูเพื่อล้มล้างประเทศอิสราเอลอย่างจริงจัง
ปรากฏว่า นายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา เห็นว่ากลุ่มประเทศอาหรับจะพากันเทพวกปาเลสไตน์กันแน่แท้ จึงต้องการให้เกิดสงครามใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มที่กลุ่มประเทศอาหรับทั้งปวงจะเทพวกปาเลสไตน์ โดยบุกเข้าไปในอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2566 สังหารชาวอิสราเอลไปนับพันคนและจับตัวประกันชาติต่างๆ รวมทั้งชาวยิวด้วยกลับไปกักขังที่ฉนวนกาซา ซึ่งก็ได้ผลที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา และฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนกับพวกฮูติในเยเมน และดึงเอาอิหร่านเข้าร่วมรบโดยตรงด้วย
แต่แล้ว นายยาห์ยา ซินวาร์ ก็ถูกสังหารในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้หลังจากฉนวนกาซาถูกถล่มจนแทบไม่เป็นชิ้นดี มิหนำซ้ำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนก็ตกลงหยุดยิงกับอิสราเอลเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และอิหร่านสปอนเซอร์ใหญ่ก็โดนอิสราเอลส่งฝูงบินไปทำลายระบบป้องกันทางอากาศของประเทศอิหร่านโดยสิ้นเชิง ทำให้อิหร่านไม่กล้าตอบโต้กลับ แบบว่าต้องสงบศึกไปโดยปริยายเช่นเดียวกับกลุ่มฮูติในเยเมน
ครับ ! ตอนนี้ฮามาสก็ถูกโดดเดี่ยวและอิสราเอลคงไม่ยอมถอนทหารจากฉนวนกาซา และคงไม่ยอมหยุดยิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งคงให้ท้ายอิสราเอลมากกว่าสมัยของโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส อย่างแน่นอน
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์