นโยบายการศึกษา 2568-2569… ปะผุ ปฏิรูป ปฏิวัติ?

นโยบายการศึกษา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 309 งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 หน้า 11 ลงประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2569

เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย ดังนี้

1.ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา
1.1 พัฒนาและต่อยอดวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.2 ย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น กลับภูมิลำเนาด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
1.3 พัฒนาและต่อยอดการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและเห็นผลเป็นรูปธรรม
1.4 จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ
1.5 ดำเนินการยกเลิกครูเวรอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง “ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน” ครูมีเวลาจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
1.6 จัดหานักการภารโรงเพื่อช่วยลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาและช่วยรักษาความปลอดภัย
1.7 ปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อน
1.8 แก้ปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา

2.ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง
2.1 เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบ หรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.2 ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Drop out) ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย
2.3 จัดให้มีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อย 1 โรงเรียนต่อ 1 อำเภอ
2.4 พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์และมีเหตุผล
2.5 พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียน โดยมีระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพและมีระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา การประเมินผลการศึกษา ผ่านธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)

ADVERTISMENT

2.6 พัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
2.7 จัดให้มีอาหารสำหรับนักเรียน เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ
2.8 ส่งเสริมให้มีกระบวนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน
2.9 สร้างโอกาสให้ทุกคน ทุกช่วงวัย เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ตั้งแต่การศึกษาปฐมวัยจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต พร้อมการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และทักษะอาชีพที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill)
2.10 นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ
2.11 ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสุข ให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการนำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2569 ข้างต้นไปเป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาและดำเนินงาน โดยจัดทำแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว และรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

ครับ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการศึกษา ผมคัดประกาศกระทรวงศึกษาธิการมาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อให้ร่วมกันติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงนั่นข้อหนึ่ง

ADVERTISMENT

ข้อต่อมาเพื่อมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดนโยบายการศึกษา ตามหลักการศึกษาแบบมีส่วนร่วม การศึกษาเพื่อปวงชน ไม่ใช่ของภาครัฐ รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียว

ข้อความตามประกาศกล่าวถึงนโยบายแค่ 2 ข้อหลักเท่านั้นจริงๆ เรื่องอื่นไม่กล่าวถึงเท่าที่ควร

อ่านแล้วเกิดข้อชวนคิดว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรควรทำยิ่งกว่า ให้สมกับที่ประกาศหนักแน่นหลายครั้ง การศึกษาไทย ไม่ใช่แค่ปฏิรูป ต้องปฏิวัติ “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”

ตามด้วยข้อคำถามว่า นโยบาย 2 ข้อ 2 ปีต่อจากนี้จัดอยู่ในระดับไหน ระหว่าง ปะผุ ปฏิรูป ปฏิวัติ

ขณะที่นโยบายสำคัญมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่า ได้แก่ การกระจายอำนาจบริหารการศึกษา ความเป็นอิสระของสถานศึกษา การจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขนานใหญ่ วางโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและกฎหมายรองรับ และปฏิรูปครูทั้งระบบ กลับไม่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าจะเร่งรัดให้ก้าวหน้า เห็นผลภายใน 2 ปีต่อจากนี้

เมื่อไม่ปรากฏย่อมไม่เป็นการผูกมัดถึงความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติต่อไป

ทั้งความรับผิดชอบทางการบริหาร ความรับผิดชอบทางการเมือง และที่สำคัญความรับผิดชอบทางการศึกษาต่ออนาคตลูกหลาน ทั้งปัจจุบันและอนาคต

แม้จะอ้างว่าเรื่องใหญ่ๆ ที่ว่า ก็ทำ ไม่ใช่ไม่ทำ เพียงแต่ไม่ได้เขียนให้ชัด เมื่อเขียนแต่เรื่องระดับรอง แผนปฏิบัติราชการที่จะตามมาก็ย่อมมุ่งตอบโจทย์ 2 เรื่องตามประกาศเป็นหลัก แทนที่จะเป็นแผนปฏิบัติการรองรับนโยบายสำคัญใหญ่ๆ

การไม่เขียนเรื่องใหญ่ไว้ในนโยบาย แปลความไปได้อีกว่า ไม่ทำก็ไม่ผิด ทำไม่สำเร็จก็ไม่ผิด เพราะไม่ปรากฏลายลักษณ์อักษรใดๆ และไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

การกำหนดนโยบายเพียงเท่านี้จึงสะท้อนว่า การเมืองนำการศึกษา ยิ่งกว่าการศึกษานำการเมือง

เมื่อนักการศึกษาไม่สามารถนำเสนอ โน้มน้าว ผลักดันให้ฝ่ายการเมืองเห็นคล้อยตาม ทำเรื่องสำคัญที่ให้ผลยิ่งกว่าได้สำเร็จ

แล้วเราจะฝากความหวังไว้กับใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image