ผู้เขียน | สุชาติ ศรีสุวรรณ |
---|
ไม่ว่าเป็นเพราะกระแสการต่อต้านรัฐบาลเริ่มแปรรูปจากการแสดงผ่านสื่อโซเชียล สู่การหาจังหวะที่เอื้อต่อการประกาศลงถนนชัดขึ้น ที่เห็นชัดจากที่มีการรวมเพื่อหารือกันอย่างเป็นการเป็นงานของบรรดาแกนนำองค์กรแนวร่วม
หรือเพราะเป็นวาระเปิดสมัยประชุม ที่ฝ่ายค้านเริ่มใช้เวทีรัฐสภาตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งน่าจะจริงจังมากขึ้น
ทำให้ทีมงานของรัฐบาลต้องสร้างวาระพิเศษให้ “นายกรัฐมนตรี-แพทองธาร ชินวัตร” แถลงผลงาน 90 วันอย่างให้เป็นอีเวนต์ใหญ่
อาจจะเพราะเป็น “นายกรัฐมนตรี” มาได้แค่ 3 เดือน ท่ามกลางปัญหาเฉพาะหน้า และอุปสรรคจาก “โครงสร้างอำนาจที่บล็อกรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน” ไม่ให้ขยับทำตามนโยบายได้ง่ายๆ
ทำให้ผลงานที่ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” แถลงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกระแสที่ต่อต้านและฝ่ายค้านทำนองว่า “ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” จนควรจะเอามา “อวดเป็นโบแดง” สมกับสร้างเป็นงานระดับที่เรียกหัวหน้าหน่วยราชการทุกระดับกว่า 500 คน มารวมตัวเพื่อรับฟัง
และแม้แต่จะขยายเนื้อหาให้เข้าสู่คอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ว่า “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” อันเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และโครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อเป็นนโยบายทำให้เกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งกลายเป็นการเปิดประเด็นให้ฝ่ายต่อต้านหยิบมาขยายโจมตีกันคึกคัก
ที่สำคัญคือ คนที่จะช่วยอธิบายไม่ว่าจะระดับ “นางแบก-นายหาม” หรือ “องครักษ์ผู้พิทักษ์” ดูจะพลิกตัวเพื่อรับมือไม่ทัน อย่าว่าถึงจัดกระบวนเพื่อรุกกลับเลย กระทั่งตั้งรับที่แสดงให้เห็นปฏิภาณเฉียบคม ยังแทบไม่มีให้เห็น
นี่เป็นความน่าเห็นใจอย่างยิ่ง
เพราะหากติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยการมองให้ครบทุกด้าน จะเห็นว่าแม้จะทำงานมาแค่ 3 เดือน แต่ “แพทองธาร ชินวัตร” มีความตั้งใจ และพยายามอย่างสูงยิ่งที่จะแก้ไขความเป็นไปของประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตแทบทุกด้าน ด้วยผลจาก “การแช่แข็งประเทศ” ที่ยาวนานมากว่า 10 ปี และยังมีการวางกลไกสืบทอดต่อเนื่องมาเป็นอุปสรรค
ซ้ำยังต้องทำงานกับพรรคร่วมที่พร้อมจะแสดงท่าทีมี “จุดยืนที่เป็นอิสระ” พร้อมเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ได้นึกว่าจะส่งผลต่อ “พรรคแกนนำ”
อย่างไร
ทั้งที่ในความเป็นจริง การบริหารจัดการประเทศในห้วงเวลาที่โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกมิติจำเป็นที่ผู้นำต้องใช้ความรู้ความสามารถที่สูงยิ่ง
ขนาดสหรัฐที่วางตัวเป็น “พี่เบิ้มของโลก” สร้างภาพว่าคอยให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา วันนี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศกดดันให้ “อเมริกันชน” ต้องเลือก “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่มีแนวทางความคิด “America First” อเมริกาต้องมาก่อน ทิ้งการวางโพสิชั่นเป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” เพื่อ “เอาตัวรอด”
โลกยังพูดถึงผลกระทบจากความคิด “ภูมิรัฐศาสตร์ geopolitics” เป็นสาระหลัก ต่างคนต่างหาทางที่จะแสวงประโยชน์จากพื้นที่ ซึ่งเกิดแรงเสียดทานจาก “สำนึกชาตินิยม” กระจายไปทั่วทั้งเรื่องใหญ่ระดับสงครามอย่างที่เกิดขึ้นไปทั่วหลายภูมิภาค และเรื่องที่เล็กลงมาอย่างการจัดการกับพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ เช่น MOU 44 ที่กำลังมีความพยายามที่จะใช้จุดความเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลกันอยู่
ยังมีการลงทุนที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบ “Sustainable Development Goals-เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” มีเรื่อง “Clean Development Mechanism (CDM)-กลไกการพัฒนาที่สะอาด” ที่ยุ่งยากต่อการส่งเสริมการลงทุน เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของ “คาร์บอนเครดิต” ที่ส่งผลต่อการส่งออก
ขณะประเทศพัฒนาแล้วเกิดอาการเสื่อมทรุดไปทั่ว แทบทุกประเทศเกิดปัญหาภายในต่างต้องหาทางเอาตัวรอด พร้อมกับเป็นการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนาเป็นไปอย่างเข้มข้นยิ่ง ด้วยต่างดิ้นเพื่อโอกาสเกิด
ความเป็นเอกภาพภายในประเทศ คือพลังสำคัญของการแข่งขัน แต่ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” สำหรับประเทศไทยกลับต้องเผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะ “โครงสร้าง” ที่ “อำนาจทางการเมือง” ยังสับสนว่าจะร่วมกันสร้างเอกภาพ หรือมุ่งที่จะบ่อนเซาะทำลายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ “อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน” ที่มีการจัดตั้งทั้ง “ขบวนการนอกสภา” และครอบงำ “นักการเมืองที่มีบทบาทในสภา”
โลกที่เต็มไปด้วยความโกลาหลจากความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนไปทุกมิติ การพัฒนาประเทศจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการก่อพลังให้เพียงพอกับการรับมือ
รัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย” ที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี คือความลงตัวที่ทุกฝ่ายเลือกขึ้นมาเอง
จึงเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวยิ่ง หากเลือกมาแล้ว คนที่เลือกเข้ามาจะปล่อยให้เผชิญการต่อต้านตามยถากรรม ทั้งที่เห็นๆ กันอยู่ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ประเทศต้องการ “เสถียรภาพการนำที่สูงยิ่ง”
ยิ่งขำไม่ออก เมื่อเสียงต่อต้านเอ่ยอ้างถึง “ความห่วงใยประเทศ” อย่างเต็มปากเต็มคำ