พ.ร.บ.การศึกษาฯ-เดินหน้าถอยหลัง (1)

พ.ร.บ.การศึกษา

รัฐสภาเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันที่ 12 ธันวาคม 2567 แฟนคลับคอการเมืองคงเฝ้ารอความคืบหน้าของการบัญญัติกฎหมายสำคัญๆ ได้แก่ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ส่วนคอการศึกษา คงหนีไม่พ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งประสบปัญหาตะกุกตะกัก ขลุกขลัก ทุลักทุเล ล้มแล้วล้มอีก ลากยาวไม่แพ้กฎหมายการเมือง ใช้เวลานานไม่น้อยหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังมองไม่เห็นฝั่งจะสำเร็จวันไหนเมื่อไหร่

กล่าวเฉพาะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 รัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มีวุฒิสภาเป็นทัพหนุนเต็มที่กว่า 8 ปี ไม่สามารถทำคลอดใหม่ออกมาใช้ได้สำเร็จ จนมาถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนเดียวกัน จากพรรคภูมิใจไทย ให้สภาการศึกษายกร่างใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 แต่ถูกตีกลับให้มาทบทวน

ADVERTISMENT

ขณะที่ฟากสภาผู้แทนราษฎรโดยกรรมาธิการการศึกษา มี นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ เป็นประธาน ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่จนแล้วเสร็จ

อีกด้านหนึ่ง เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ นำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยื่นเข้าประกบพรรคภูมิใจไทยในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการยกร่างขึ้นใหม่ ใช้คำเก๋ไก๋ทันสมัยวัยโจ๋พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม ส่วนฝ่ายค้านพรรคประชาชนปัดฝุ่นฉบับเดิมที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคก้าวไกลเข้าสู่เวทีการพิจารณาอีกฉบับ

ADVERTISMENT

ทุกร่าง พ.ร.บ.ที่ว่ามา นำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังไม่กำหนดวันแน่นอนเมื่อไหร่

โดยธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ เมื่อกฎหมายทุกฉบับเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารดูแลรับผิดชอบงบประมาณแผ่นดินจะยืนยันกฎหมายของรัฐบาลเป็นหลักและขอรับร่างอื่นๆ ไปพิจารณาประกอบ

ความคืบหน้าล่าสุด ในส่วนของรัฐบาล การประชุมสภาการศึกษาที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 มีมติให้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเสร็จที่ 660/2564 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสภาต่อไป

มติสภาการศึกษาระบุด้วยว่าให้นำความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เพื่อพิจารณาได้ทันต่อสมัยประชุมรัฐสภา

นั่นหมายความว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้าเกณฑ์กฎหมายปฏิรูป จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา

ประเด็นที่น่าพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปจึงอยู่ที่ว่า ฉบับของใครทันสมัย ก้าวหน้า แก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายปฏิวัติการศึกษาไทยได้สำเร็จดีกว่ากัน

เพราะแต่ละฉบับมีเนื้อหาสาระหลายหมวด วางแนวทางปฏิบัติรองรับแต่ละหมวดแตกต่างกัน จะหลอมรวมอย่างไรให้ออกมาดีที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีประเด็นรายละเอียดต่างๆ มาก

ตั้งแต่หมวด 1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา การพัฒนาฝึกฝนและบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัย เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูจนมีพัฒนาการถึงระดับใด

ได้แก่ ช่วงวัยที่หนึ่ง ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี ช่วงวัยที่สองเมื่อมีอายุหนึ่งปีจนถึงสามปี ช่วงวัยที่สามเมื่ออายุเกินสามปีจนถึงหกปี ช่วงวัยที่สี่เมื่ออายุเกินหกปีจนถึงสิบสองปี ช่วงวัยที่ห้าเมื่ออายุเกินสิบสองปีจนถึงสิบห้าปี ช่วงวัยที่หกเมื่ออายุเกินสิบห้าปีจนถึงสิบแปดปี

นักการศึกษาฝ่ายปฏิบัติไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าควรกำหนดเป้าหมายการฝึกฝนบ่มเพาะให้สัมพันธ์กับช่วงชั้นการเรียนของนักเรียนมากกว่า คือ ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3) ช่วงชั้นที่ 2 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6) ช่วงชั้นที่ 3 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ช่วงชั้นที่ 4 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6)

ครับ แค่ประเด็นความเห็นต่าง ระหว่าง “ช่วงวัยกับช่วงชั้น” ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาอภิปรายถกเถียงกันยืดเยื้อยาวนานมาก จนบัญญัติกฎหมายออกมาใช้บังคับไม่ทัน

การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของรัฐสภาชุดนี้ จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ ยังไม่มีใครให้คำตอบ จนเป็นหลักประกันได้ว่าจะเข็นมาใช้ได้เมื่อไหร่

นอกจากนี้ในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ ผมขอชวนคุย 2 เรื่องใหญ่ก่อน เรื่องแรกร่างกฎหมายส่วนใหญ่ เขียนหลักการตามมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา

ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้มีความรู้ความสามารถได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน

ร่างฉบับของใคร เขียนรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเรื่องนี้ ไว้ตรงไหน อย่างไร

เรื่องที่สอง เป็นข้อห่วงใยที่อาจทำให้การยกร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เกิดปัญหาอุปสรรคยืดเยื้อยาวนาน จนอาจสะดุดหยุดลง เนื่องมาจากบทบัญญัติว่าด้วยโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง

สาระของทั้ง 2 เรื่อง เป็นอย่างไร ไว้ว่าต่อตอนหน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image