ลลิตา หาญวงษ์ : พม่าเรียนรู้อะไรจากซีเรียได้บ้าง?

สงครามกลางเมืองในพม่ากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นี่คือช่วงเวลาที่คู่ขัดแย้งหลายฝ่ายเริ่มรู้สึก “ล้า” อย่างเต็มที่ นอกจากจะล้าทั้งทางกายและใจแล้ว สงครามต้องใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งทรัพยากรที่เป็นคน อาวุธ กระสุน และทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมาย ความล้านี้ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาทางลง จริงอยู่ว่ายังมีกองกำลังและกลุ่มการเมืองที่ยืนยันจะต่อสู้จนถึงที่สุด และจะไม่มีวันยอมศิโรราบต่อ SAC และกองทัพพม่าอย่างเด็ดขาด

ความรู้สึกที่ว่าจับอาวุธขึ้นสู้มาหลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสียที ทำให้หลายฝ่ายนึกถึงทางลง อย่างน้อยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และ SAC เอง ที่จากเดิมมีท่าทีแข็งกร้าว ก็โอนอ่อนเข้าทางจีน ที่เดินเกมผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2025 อย่างเต็มที่ เพราะจีนเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นหนทางเดียว ที่จะเป็นทางลงให้พม่า “มูฟออน” ต่อไปได้ และจะเป็นหนทางที่จีนจะรักษาผลประโยชน์ของตนเองภายในพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะหากปล่อยให้มีสงครามต่อไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง อาจจะมีลูกหลงไปกระทบโครงสร้างพื้นฐานที่จีนสร้างไว้ในพม่าก็ได้ จีนจึงเลือกความแน่นอน เข้าเกียร์เดินหน้าสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งในพม่าเต็มที่ พร้อมสนับสนุนเงินให้อีกต่างหาก

การเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนนี้ อาจเป็นทางลงที่จีนมองว่าเป็นออปชั่นที่ดีที่สุดในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ จีนก็เคยลองวิธีอื่นมาแล้ว ทั้งการสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ให้ร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า หรือการใช้ยุทธศาสตร์ทางการทูตเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำ SAC หาทางลง แต่สำหรับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ทั้งฝ่ายการเมือง กองกำลังต่างๆ พม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ต่างไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อ

ข้อแรก การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 พรรค NLD ได้รับเสียงข้างมาก แต่ในวันที่สมาชิกสภาสูงและสภาล่างกำลังเดินทางไปร่วมพิธีเปิดสมัยประชุมสภาเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ก็เกิดรัฐประหารขึ้น โดยคณะรัฐประหารใช้เหตุผลที่ว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และนักการเมืองที่ถูกเลือกเข้ามาต่างเป็นพวกฉ้อฉล อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่อต้านยังยึดการเลือกตั้งในปี 2020 ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ชอบธรรม และต้องการให้ยึดผลการเลือกตั้งนี้

ADVERTISMENT

ข้อสอง พื้นที่ที่ SAC ควบคุมได้นั้นไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตัวเลขของพื้นที่ที่ SAC สูญเสียไปในช่วงเกือบ 4 ปีมานี้ มีตั้งแต่ 20-86 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่าอ้างแหล่งข้อมูลใด ไม่ว่าตัวเลขที่แน่ชัดว่า SAC ควบคุมพื้นที่ทั้งประเทศได้กี่มากน้อย แต่ความแน่นอนหนึ่งคือในพื้นที่รอบนอก อันมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม และ PDF ควบคุมอยู่ SAC ไม่สามารถเข้าไปจัดการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งขึ้นจริง ก็จะมีเพียงในพื้นที่ที่ SAC ควบคุมได้ ในพม่าตอนล่างเนปยีดอ และพม่าตอนบนบางส่วน

ในรอบสัปดาห์นี้ ประเด็นยอดฮิตที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในพม่า คือเหตุการณ์ในซีเรีย ที่ฝ่ายต่อต้านในซีเรียสามารถบุกยึดดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย และโค่นล้มประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ปกครองซีเรียแบบเผด็จการมาตั้งแต่ปี 2000 เมื่อดามัสกัสตกเป็นของฝ่ายต่อต้าน อัล-อัสซาดต้องหนีไปรัสเซีย

ADVERTISMENT

เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวนี้ออกไป ก็เริ่มเป็นที่ฮือฮาทันทีในพม่า เพราะประชาชนในพม่ามีความรู้สึกว่าชะตากรรมของประเทศตนก็ไม่ต่างจากของซีเรียเท่าไหร่นัก เพราะทั้งสองประเทศล้วนถูกควบคุมโดยรัฐบาลของผู้นำเผด็จการ ดังนั้นหากกองกำลังฝ่ายต่อต้านตีดามัสกัสแตก และขับไล่ผู้นำเผด็จการออกไปได้ สถานการณ์แบบเดียวกัน ก็อาจเกิดขึ้นในพม่าได้เช่นกัน

ชาวเน็ตพม่า “อิน” กับข่าวใหญ่จากซีเรียมาก เพราะนี่เป็นข่าวแรกในรอบปีที่ทำให้พวกเขามีหวังว่าสักวันหนึ่ง มิน อ่อง ลายอาจต้องหนีไปรัสเซียเหมือนอัล-อัสซาดก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี การล่มสลายของอัสซาด ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดสงครามและความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในซีเรีย ผู้เขียนมองว่าหากมิน อ่อง ลายลงจากอำนาจจริง (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม) ปัญหาในพม่าก็ยังไม่จบ และจะยังมีความรุนแรงอื่นๆ ตามมา พร้อมคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้ปกครองพม่าคนต่อไป รัฐบาล NUG หรือ? หรือจะมีการสถาปนาระบอบการปกครองกันใหม่ เป็นระบอบสหพันธรัฐ แบบที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อยากจะเห็น?

ปัญหาในพม่ามีความสลับซับซ้อน และถูกหมักหมมมานานหลายสิบปี แม้สักวันหนึ่ง พม่าจะกลับมามีรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง แต่ก็ยังจะมีคำถามว่ากองทัพจะมีสถานะอย่างไร และรัฐบาลพลเรือนจะสามารถควบคุมกองทัพได้มากน้อยเพียงใด หนทางสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในพม่าที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเสมือนคอขวดมาเนิ่นนาน คือ ผู้นำพม่าต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง เลิกนโยบายโปรวัฒนธรรมและคนพม่า อีกทั้งนักการเมืองแบบเดิมๆ ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น มีเพื่อนชาวฉานของผู้เขียนคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “สงครามกลางเมืองครั้งนี้เป็นสงครามของคนหนุ่มสาว แต่เหตุใดพรรคการเมืองในระดับชาติจึงยังถูกผูกขาดโดยนักการเมืองอายุมากอยู่เล่า?”

การมุ่งหน้าสู่สันติภาพในพม่าจะไม่เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านบุกยึดเมืองหลวงเนปยีดอ หรือเมืองขนาดใหญ่ในมัณฑะเลย์หรือย่างกุ้งได้ แต่โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายอย่างยิ่ง คือโฉมหน้าของพม่าในยุคหลังสงครามกลางเมืองรอบนี้จะเป็นอย่างไร หากกลับไปเป็นรัฐบาลพลเรือน ในแบบที่กองทัพยังมีบทบาททางการเมืองอยู่ ก็ยากเหลือเกินที่จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image