ไทยพบพม่า..รำลึกถึงอู นุ นึกถึงจอมพล ป. : ย้อนดูยุคทองความสัมพันธ์ไทย-พม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) พม่าเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสมัยใหม่กับไทย ตลอดหลายสิบปี ไทยคือประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์แนบชิดกับพม่ามากที่สุด ท่ามกลางสภาวการณ์โลกที่ผันผวนในสงครามเย็นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และพม่าก้มหน้าก้มตาแก้ไขปัญหาภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา จึงเลือกเป็นกลางในเวทีการเมืองระดับโลก ความเป็นกลางของพม่าหาใช่การปิดหูปิดตาไม่รับรู้การเมืองโลกแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเลือกที่จะรับรู้เหตุการณ์ของโลกอยู่ห่างๆ แต่ในขณะเดียวกันพม่าก็มีนโยบายเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านทุกประเทศรอบด้าน ตั้งแต่จีนทางตอนเหนือ อินเดียทางตะวันตก และไทยทางตะวันออก

ในสมัยนายกรัฐมนตรีอู นุ ซึ่งปกครองพม่าระหว่าง ค.ศ.1948-1958 (พ.ศ.2491-2501) และ 1960-1962 (พ.ศ.2503-2505) รัฐบาลพม่าแสดงออกถึงมิตรจิตมิตรใจกับไทยเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะว่าทั้งพม่าและไทยเป็นประเทศพุทธ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในเวลานั้นก็มีนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบชาตินิยมใกล้เคียงกับพม่า เรียกได้ว่าผู้นำทั้งสอง “คลิก” และ “มีเคมีต้องกัน” เมื่อทั้งอู นุและจอมพล ป. ต่างประสบเหตุทางการเมืองจนเป็นเหตุให้ต้องวางมือทางการเมืองแล้ว ทั้งสองครอบครัวก็ยังติดต่อสัมพันธ์ ต่างมีมิตรจิตมิตรใจให้กันต่อมาอีกหลายทศวรรษ

ตลอดทศวรรษ 1950 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าดำเนินไปด้วยดี อู นุ พร้อมคณะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) ในฐานะอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการนี้ อู นุ ร้องขอให้ทางไทยพาคณะจากพม่าไปอยุธยา เข้าสักการะวัดต่างๆ ในอยุธยา รวมทั้งมอบเงินเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระมงคลบพิตรเป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท (ในขณะนั้นวิหารวัดมงคลบพิตรยังไม่มีหลังคาคลุมเหมือนในปัจจุบัน) และได้ทำพิธีเพื่อขอขมาที่กองทัพพม่าเมื่อเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้ว ได้ยกทัพเข้าตีและเผากรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ อู นุ ยังได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากพม่าไปปลูกที่วิหารพระมงคลบพิตรและวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) ด้วย

ในปลายปีเดียวกันนั้น รัฐบาลอู นุ ทำเรื่องเชิญจอมพล ป. พร้อมท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และคณะให้ไปเยือนพม่า จุดประสงค์หลักนอกจากเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองชาติแล้ว ยังไปเพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมพิธีสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม คณะของไทย ซึ่งนำโดยจอมพล ป. ประธานฝั่งฆราวาส และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประธานฝั่งสงฆ์ เป็นตัวแทนนำมิตรภาพจากไทยไปมอบให้ประชาชนชาวพม่า ในการนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้มอบพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ ที่มีความสูงถึง 205 ซม. ให้เป็นที่ระลึก และได้มอบเงิน 2 ส่วน ส่วนแรก (12,000 ปอนด์) เพื่อนำไปบำรุงกิจการสาธารณกุศลตามที่รัฐบาลพม่าเห็นสมควร และส่วนที่สอง (20,000 จ๊าด) เพื่อซื้อทองไปปิดพระเจดีย์ชเวดากอง

Advertisement
จากซ้ายไปขวา : ด่อ มยะ ยี ภริยาอู นุ, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และอู นุ ถ่ายเมื่อครั้งอู นุ และคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ (ภาพจาก www.peoplewinthrough.com)
จากซ้ายไปขวา : ด่อ มยะ ยี ภริยาอู นุ, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และอู นุ ถ่ายเมื่อครั้งอู นุ และคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ (ภาพจาก www.peoplewinthrough.com)

อู นุได้กล่าวในสุนทรพจน์ต้อนรับคณะจากไทยโดยเน้นว่าความสัมพันธ์ทางการทูตสมัยใหม่ระหว่างไทยกับพม่าควรเป็นไปในทิศทางบวก “ทั้งๆ ที่เรา [ไทยกับพม่า] เคยมีรอยร้าวซึ่งกันและกันในประวัติศาสตร์” ความสัมพันธ์ในเชิงบวกและมิตรภาพที่อู นุ มอบให้จอมพล ป. และคณะนั้นมีถึงขนาดที่รัฐบาลพม่าส่งเครื่องบินรบของตนเข้ามาคุ้มกันเครื่องบินของจอมพล ป. จากกรุงเทพฯไปจนถึงสนามบินมินกะลาดงที่ย่างกุ้ง และต้อนรับคณะจากไทยอย่างเอิกเกริก

เมื่อการเมืองทั้งในพม่าและไทยเปลี่ยนทิศ รัฐบาลของทั้งอู นุ และจอมพล ป. ถูกรัฐประหารโดยนายพลเน วิน และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) และ 1957 (พ.ศ.2500) ตามลำดับ รัฐบาลไทยยังคงมีนโยบายเอาใจพม่าไม่เปลี่ยนแปลง นายพลเน วิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลรักษาการในปี 1960 (พ.ศ.2503) ก็ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การรับรองรัฐบาลรัฐประหารของเน วิน และมิได้แสดงทีท่ารังเกียจรังแคลนรัฐบาลของนายพลเน วิน แต่อย่างใด

Advertisement

แม้ยุคของนายพลเน วิน จะไม่ใช่ยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าแล้ว แต่ก็กล่าวได้เต็มปากว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในรัฐบาลเผด็จการของ 2 ประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและราบเรียบ

เมื่อครั้งที่จอมพล ป. ไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในปี 2498 นั้น นายกรัฐมนตรีของไทยได้นำผู้ติดตามจำนวนหนึ่งไปด้วยอีก 29 คน นอกจากท่านผู้หญิงละเอียดแล้ว ยังมีพันตรี รักษ์ ปันยารชุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมภริยา คุณจีรวัสส์ (พิบูลสงคราม) ปันยารชุน ซึ่งเป็นบุตรีคนโตของจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทั้งพลอากาศโท ทวี จุลละทรัพย์ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และพลตรี ประภาส จารุเสถียร รองแม่ทัพภาคที่ 1 ตามไปด้วย

บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอู นุ และครอบครัวในยามที่ต้องลี้ภัยและลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลเผด็จการของนายพลเน วิน หลังรัฐประหารปี 1962

ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับทายาทของอู นุ และด่อ มยะ ยี หลายต่อหลายครั้ง ทั้ง อู อ่อง บุตรคนที่ 3 และ ด่อ ตัน ตัน นุ บุตรคนที่ 4 (อู นุ และด่อ มยะ ยี มีบุตรและธิดา 4 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน) ยังจดจำความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากรัฐบาลไทย และโดยเฉพาะจากคนในครอบครัวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อย่างแม่นยำ ทั้งอู อ่อง และด่อ ตัน ตัน นุ นั้นมีโอกาสติดตามอู นุ และด่อ มยะ ยี เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยระหว่าง ค.ศ.1969-1974 (พ.ศ.2512-2517)

ระหว่างที่อู นุ และอดีตนักการเมืองจากฟากฝั่งของตนพยายามจัดตั้งกองกำลังปฏิวัติเพื่อล้มล้างรัฐบาลของนายพลเน วิน ในช่วง 4-5 ปี ที่อู นุ และครอบครัวต้องระหกระเหิน ทั้งในกรุงเทพฯและตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ครอบครัวของอดีตนายกรัฐมนตรีพม่าได้รับความช่วยเหลืออย่างอบอุ่นจากมิตรแท้หลายท่าน โดยเฉพาะจากท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และคุณจีรวัสส์ ปันยารชุน ซึ่งลูกๆ ของอู นุ เรียกอย่างภาคภูมิใจและเป็นกันเองเป็นภาษาไทยว่า “พี่จี”

อู อ่อง เล่าผ่านคุณอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ว่าครั้งหนึ่ง เมื่อ “พี่จี” ทราบว่าบ้านพักที่อู นุ เช่าอยู่ในซอยสวัสดี (สุขุมวิท 31) คับแคบ เธอได้เอื้อเฟื้อบ้านของเธอในซอยสุขุมวิท 18 ให้กับอู อ่องเพื่อใช้เป็นที่พำนัก ต่อมาเมื่ออู นุ ตั้งพรรคการเมืองในชื่อพรรคประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy Party หรือ PDP) ขึ้นแล้ว ก็ได้ใช้บ้านของคุณจีรวัสส์ในซอยสุขุมวิท 18 เป็นที่ทำการพรรคอยู่จนกระทั่งอู นุ ถูกขับ (deport) ออกจากประเทศไทยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1974 (พ.ศ.2517) ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์

ด่อ ตัน ตัน นุ แม้เป็นบุตรสาวและไม่ได้มีส่วนร่วมกับขบวนการปฏิวัติของบิดาและพี่ชายโดยตรง แต่ก็จดจำมิตรไมตรีของท่านผู้หญิงละเอียดและคุณจีรวัสส์ได้อย่างแม่นยำ ภายหลังอู นุ และครอบครัวถูกขับออกจากไทย รัฐบาลอินเดียให้อู นุ และครอบครัวลี้ภัยในอินเดีย เริ่มจากกัลกัตตา (กอลกาตา) และที่โบพาล

อู นุ และด่อ มยะ ยี ภริยา เดินทางกลับพม่าในปี 1980 หลังได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่า ด้านด่อ ตัน ตัน นุ และครอบครัวเดินทางกลับพม่าในปี 2003 เธอเล่าว่า “พี่จี” เป็นกังวลมากว่าเธอจะกลับไปใช้ชีวิตที่พม่าได้หรือไม่ “พี่จี” เดินทางมาเยี่ยมเธอและครอบครัวอีกหลายครั้ง และขนเสื้อผ้าจำนวนมากมาให้บุตรชายทั้งสองของเธอ ทั้งสองครอบครัวยังคงไปมาหาสู่กันตลอดมา จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมาเมื่อคุณจีรวัสส์ต้องเข้ารับการผ่าตัด และรักษาตัวในโรงพยาบาลจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา สิริอายุ 96 ปี

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความสูญเสียนี้ และขอร่วมรำลึกถึงมิตรภาพระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม และอู นุ ขอให้มิตรภาพระหว่างไทยกับพม่าเติบโตอย่างเข้มแข็งและสง่างามเฉกเช่นความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ครอบครัวที่แนบแน่นและจริงใจมาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image