ภาพเก่าเล่าตำนาน เมื่อมัจจุราชถามหา… นาวาอากาศตรี อาคม กาญจนหิรัญ :โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ

1489387494230

1489387498230

ราว 32 ปีที่แล้วกองทัพไทยเคยรบกับกองทัพเวียดนามในลักษณะจำกัดที่
ชายแดนไทย-กัมพูชา ครับ

ก่อนที่จะมาเป็น “ประชาคมอาเซียน” เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงครามที่เรามิได้ก่อขึ้นเอง เราเคยแบ่งฝ่ายรบกันนานกว่า 40 ปี มีคนตายนับล้าน มาถึง พ.ศ.2560 ภูมิภาคนี้มีความสงบสุขพอประมาณ ไม่ต้องหวาดระแวงกันอีกต่อไป แข่งกันอยู่เรื่องเดียว คือ การทำมาค้าขาย

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนานขอย้อนไปในปี พ.ศ.2528 ที่ชายแดนไทยด้านตะวันออกที่ระอุไปด้วยไฟสงครามที่มีเดิมพันกันด้วยเอกราชและแผ่นดินเกิด เป็นอีกหนึ่งวีรกรรมของนักบินทหารอากาศที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ

พลอากาศเอก อาคม กาญจนหิรัญ เกิดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2490 บุตรชายคนเดียวของนายช่างกรมทางหลวงที่ตระเวนติดตามคุณพ่อไปหลายพื้นที่ เพื่อนคุณพ่อกลุ่มหนึ่งเชียร์ให้เป็นทหาร ในขณะที่คุณแม่อยากให้ไปเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตามแบบคุณพ่อ แต่ในที่สุดเลือดฉีดแรง นำพาให้เด็กหนุ่มชื่อ “หมึก” ไปสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 8 (พ.ศ.2508) เมื่อจบการศึกษาปีที่ 2 (เทียบเท่า ม.ศ.5 สายวิทย์) นักเรียมเตรียมทหารอาคม กาญจนหิรัญ เลือกเหล่าทหารอากาศแบบมุ่งมั่น ศึกษาในโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 15 สำเร็จการศึกษา รับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอากาศยานและการบิน เข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วไปเป็นศิษย์การบินอีก 1 ปี สอบผ่านสำเร็จเป็นนักบิน เลือกเป็นนักบินไอพ่นตามที่ใฝ่ฝัน

เป็นนักบินที่ต้องไปบินรบตามชายแดนภาคตะวันออกและภาคเหนือ มีชั่วโมงบินและทักษะการบินระดับครู

พ.ศ.2527 การสู้รบในกัมพูชาที่เขมรรบกันเอง 3 ฝ่าย และในที่สุดมีกองกำลังของเวียดนามกรีฑาทัพเข้าช่วยรบในดินแดนเขมรด้วย สงครามช่วงนั้นมาป้วนเปี้ยนอยู่แนวชายแดนไทย มีกองกำลังหลายฝ่ายที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับ บ้างก็เข้ามายึดดินแดนไทยเพื่อหลบซ่อน

ราวปลายปี พ.ศ.2527 กองกำลังของกัมพูชาถอยมาตั้งหลัก บริเวณชายแดนไทยใกล้ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ กองกำลังของเวียดนาม เฮง สัมริน ยังรุกไล่ตามมาเพื่อบดขยี้ ประชาชนเขมรที่อดอยากหิวโหย เจ็บป่วยหอบลูกจูงหลานทะลักเข้ามาสู่แผ่นดินไทย กองกำลังของเวียดนามไล่ตามมาติดๆ

กองกำลังของเขมรและเวียดนาม ต่างชิงความได้เปรียบกันโดยการแสวงหาภูมิประเทศสูงข่ม มีการปะทะกันด้วยอาวุธหนักต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน กระสุนมาตกฝั่งไทย กองกำลังสุรนารี ส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าตรึงทุกพื้นที่ชายแดนตามแผน และยิงเตือนด้วยกระสุนควันเป็นระยะๆ เพื่อมิให้มีการล้ำแดน

นาวาอากาศตรี อาคม กาญจนหิรัญ ย้ายมาเป็นนักบินของฝูงบินขับไล่ยุทธวิธี 211 ของกองบิน 21 อุบลราชธานี นำเครื่องขึ้นบินตรวจสถานการณ์ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ประสานภารกิจกับภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบสถานการณ์หากมีการล้ำแดน

สถานการณ์เริ่มกระจ่างขึ้นเมื่อได้รับรายงานว่ากองกำลังของเฮง สัมริน เวียดนามที่เกรียงไกร ทั้งอาวุธและนักรบเต็มพิกัด เข้ายึดพื้นที่เนิน 400 ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าเป็นดินแดนไทย

หน่วยทหารภาคพื้นดิน จึงร้องขอกำลังทางอากาศเพื่อ “โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน”

นาวาอากาศตรี อาคม กาญจนหิรัญ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับหมู่บิน 3 ลำ โดยเครื่องบิน A-37B ติดตั้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์ จำนวน 4 ลูก และปืนกลอากาศขนาด 7.62 มม. จำนวน 1,500 นัด เข้าทำลายที่หมาย

ลำที่ 1 คือ นาวาอากาศตรี อาคม กาญจนหิรัญ และเรืออากาศตรี วศิน อู่ศิริ นามเรียกขานของ ผบ.หมู่บิน คือ พานทองขาว

ลำที่ 2 คือ เรืออากาศโท เผด็จเกียรติ ฯ และเรืออากาศโท ศักดิ์พินิจ ฯ
และลำที่ 3 คือ เรืออากาศโท ธวัชชัย ศรีแก้ว และเรืออากาศโท มกราชัย บูชาชาติ

และเครื่องบินลำที่ 4 เป็นเครื่องบินคุ้มกัน

นักบินรบทั้ง 6 นาย ที่นำโดย “พี่หมึก” ฮึกเหิม ห้าวหาญ จิตใจรุกรบตามแบบฉบับของนักรบที่จะได้ทำศึก

เช้า 8 มกราคม 2528 อากาศแจ่มใส เครื่องบินรบ 3 ลำ พร้อมนักบินประจำบนเครื่องบรรทุกระเบิดที่เป็นทูตมรณะติดปืนกลอากาศเต็มพิกัด รอคำสั่งเพื่อให้วิ่งขึ้น

0930 น. ได้รับคำสั่งให้วิ่งขึ้น เครื่องยนต์ไอพ่นของนักบินรบ 3 ลำแผดเสียงแหวกอากาศดังสนั่น 6 ชีวิตนักบินที่ไม่รู้ว่าจะอยู่หรือจะตาย

แต่ภารกิจคือไปสังหารข้าศึกให้ตาย

1489387505087

1489387501754
กองกำลังภาคพื้นดิน คือทหารราบ “ราชินีแห่งสนามรบ” ที่ฝึกร่วมกันมา จะเข้าใจรูปแบบการทำงาน อากาศ-พื้นดิน และจะปลื้มสุดสุด เมื่อเห็นอากาศยานฝ่ายเดียวกันเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งฝากชีวิตไว้กับ “ราชาแห่งสนามรบ” คือ ทหารปืนใหญ่ ที่เข้าร่วมการรบ

ใช้เวลาบินราว 20 นาที ด้วยรูปขบวนหมู่เดินทาง ความสูง 15,000 ฟุต เมื่อใกล้ถึงที่หมาย ครูหมึกสั่งเครื่องบินรบทั้ง 3 เปลี่ยนเป็นรูปขบวนหมู่ทำการรบ สิ่งที่นักบินต้องใช้ทักษะสูงสุดคือ ทหารไทยฝ่ายเดียวกันวางกำลังตรงไหน อย่างไร ซึ่งปรากฏชัดว่าฝ่ายเราวางกำลังบนเนินตรงช่องเขา ซึ่งเป็นข้อกังวลสำหรับการใช้อาวุธจากอากาศยาน

ครูหมึกสั่งการ ใช้รูปขบวน Box Pattern แล้วบินนำหมู่พุ่งลงโจมตีจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงไปทางทิศออกเฉียงใต้ เพื่อปลดระเบิด

พี่หมึกของน้องๆ ทำหน้าที่พญาอินทรีย์ที่ต้องแสดงภาวะผู้นำสูงสุด จิกหัวเครื่องดำดิ่งจากความสูง 15,000 ฟุต พุ่งลงไปหาข้าศึกจำนวนมหึมาที่กำลังดัดแปลงที่มั่นบนเนินเขา ลูกหมู่อีก 2 ลำตามดิ่งลงไป เครื่องบินรบลำแรกของครูหมึกวิ่งสวนห่ากระสุน ปตอ. ที่ทหารญวนยิงสวนขึ้นมา มีแสงไฟจากปากกระบอกปืนบนเนินเขามองเห็นได้ชัด แต่นักบินยังวิ่งเข้าหาเป้าหมาย เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ

ความกล้าหาญจะตัดสินกันด้วยการกระทำที่มุ่งมั่น มีสติแม้จะต้องเผชิญกับความตาย

ทหารราบ ทหารม้า ทหารพราน นักรบภาคพื้นดิน หยุดยิงชั่วคราว ขอดูมวยคู่เอก แหงนคอจ้องดูภาพประวัติศาสตร์ที่นักบินรบ ทอ. 3 ลำมาสนับสนุน และอีก 1 ลำคอยคุ้มกัน เสียงปืนจากฝ่ายทหารเวียดนามดังสนั่นภูเขา กระสุนแหวกอากาศขึ้นไปเพื่อทำลายเครื่องบินรบทั้ง 3 ลำ ที่กำลังเอาทูตมรณะมาทิ้งใส่

ครูหมึกปลดระเบิดทั้ง 4 ลูก ลงเป้าหมายดังสนั่นปานฟ้าผ่า แล้วรีบดึงหัวเครื่องบินเชิดขึ้น เลี้ยวซ้ายไต่ระดับเพื่อหาความสูงที่ปลอดภัยมุ่งหน้าเข้าเขตประเทศไทย เครื่องบินตรวจการณ์ที่บินอยู่รายงาน พานทองขาว ว่าระเบิดลงตรงเป้าหมาย 100% ผบ.หมู่บินควบคุมเครื่องตนเอง และเงี่ยหูฟังการรายงานผลการทิ้งระเบิดของน้องๆ นักบินลำที่ 2 และลำที่ 3

ระหว่างเครื่องบินวนซ้ายไต่ระดับความสูง นักบินคู่ใจที่นั่งข้างครูหมึก ชื่อ เรืออากาศตรี วศิน อู่ศิริ ที่เพิ่งจบโรงเรียนการบินร้องแบบเจ็บปวด ตามด้วยเสียงระเบิดปานฟ้าผ่าพร้อมกับแรงกระแทกอย่างหนักผลักให้ร่างกายนักบินที่ 1 พุ่งขึ้นไปชน canopy หลังคาเครื่อง หน้ากากออกซิเจนถูกกระชากหลุดข่วนใบหน้า ทันใดนั้น A-37B เกิดอาการปักหัวควงสว่านลงสู่พื้น ครูหมึกเกือบหมดสติ มีอาการเบลอกลางอากาศ

นักบินที่ 1 ที่มีชั่วโมงบินกว่า 1,000 ชั่วโมง เรียกสติบอกกับตัวเองว่า ตายไม่ได้ รวบรวมกำลังแขนเอื้อมไปดึงพนักท้าวแขนซึ่งเป็นระบบดีดตัวอัตโนมัติ แต่เอื้อมไม่ถึง

เครื่องบินรบ A-37B กลายเป็นเศษเหล็กขาดกระจุย ไฟลุกท่วมหมุนลงสู่พื้นพสุธา ครูหมึกรวบรวมกำลังอีกครั้งใช้แขนซ้ายควานไปแตะพนักเก้าอี้จนได้ ดึงตัวกลับมานั่งบนเก้าอี้ แล้วใช้มือขวากดไกดีดตัวอัตโนมัติพุ่งออกไปลอยคว้างในอากาศนอกเครื่องบินตามที่เคยฝึกมาในเศษเสี้ยวของวินาที ร่มชูชีพทำงานกางเต็มใบ
“เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อนะครับ พอร่มกางผมก็มีสติเต็มที่ ยังได้ยินเสียงระเบิด เพราะเครื่องบินอีก 2 ลำ ก็ยังทำการโจมตีเป้าหมายอยู่ และมองไปด้านล่างเห็นต้นไม้ที่ถูกไฟเผาแห้ง เป็นตอแหลมเต็มไปหมด เชื่อหรือไม่ว่าตอนร่มของผมลงมาถึงพื้น ผมไม่โดนตอไม้อะไรเลย เหมือนมีคนเอาเบาะมารับไว้” ร่มตกลงในดินแดนของไทย
ครูหมึกเดนตายเล่าให้น้องๆ ฟังน้ำตาคลอเบ้า

นาวาอากาศตรี อาคม กาญจนหิรัญ ไม่เคยลืมน้ำใจของ ตชด.จากค่ายพระราม 6 หัวหิน ที่แหวกวงล้อมการยิงเข้ามาช่วยชีวิตเอาไว้
พี่หมึกรีบถามถึงน้องรัก เรืออากาศตรี วศิน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม คำตอบคือ เสียชีวิตพร้อมเครื่องที่ตกลงในเขตไทย

การสอบสวนเพื่อทบทวนเหตุการณ์ในวันนั้น พบว่าข้าศึกใช้จรวดประทับบ่ายิง SAM-7 ซึ่งน่าจะยิงมาจากเนินบริเวณใกล้ๆ กับที่หมาย จรวดชนิดนี้เมื่อยิงออกไปแล้วจะไล่ติดตามเป้าหมายด้วยความร้อนจากท่อสันดาปที่อยู่ท้ายอากาศยาน จรวดนี้มีระบบค้นหาเป้าหมาย มีระบบการกรองเพื่อจะลดประสิทธิภาพของแฟลร์ (Flare) ที่ใช้ลวงได้ด้วย เหตุการณ์วันนั้นเครื่องครูหมึกโดน SAM-7 ยิงครับ

ความกล้าหาญ คือ สภาวะที่ต้องเผชิญกับความกลัว ความเจ็บปวด อันตรายและความตายแล้วยังมุ่งมั่นไม่ยอมถอย คนบางคนมีความกล้าหาญที่มาจากภายใน คนกล้าคือบุคคลที่สามารถเอาชนะความกลัว ความกล้าหาญเป็นแรงกระตุ้นให้คิดบวก ให้หาทางออกและสามารถทำให้ผู้อื่นกล้าเผชิญกับปัญหา

ครูหมึกฮีโร่ของน้องๆ กล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงเรียบๆ “ยอมรับว่าหลังจากเหตุการณ์ถูกยิงในวันนั้น จิตใจยังสับสนและยังตื่นเต้นอยู่ แต่หลังจากนั้นอีกอาทิตย์หนึ่งเริ่มรู้สึกว่ามีอาการหลอน เริ่มกลัวชีวิตการบิน เวลานอนก็ยังฝันว่าเสียงดังปึงปังตลอด จึงกัดฟันทำการบินเดี่ยว เพื่อปรับความรู้สึก และปรับอารมณ์ บินอยู่หลายเที่ยวกว่าจะฟื้นฟูความรู้สึกให้เป็นปกติ หลังจากปกติได้ทำการบินเหมือนเดิมอีก…”

22 ตุลาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเหรียญกล้าหาญให้กับนายทหารนักบินเดนตาย นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตของเสืออากาศทั้งสองและทหารอากาศทั้งปวง

วีรกรรมในวันนั้น คือ พันธสัญญาของลูกผู้ชายที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงของทหารอาชีพ

ชีวิตรับราชการของนักบินเดนตายต่อมา เป็นผู้บังคับการกองบิน 4 จ.นครสวรรค์ ไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทย/ลอนดอน รักษาการผู้ช่วยทหารอากาศไทย/โคเปนเฮเกน เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนการบิน เจ้ากรมกำลังพลทหาร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพลอากาศเอก อาคม กาญจนหิรัญ ถูกบันทึกไว้ให้ชนรุ่นหลังยกย่องสรรเสริญตลอดไป

เกียรติศักดิ์ รักข้าฯ มอบไว้แก่ตัว

AIS Logo-Online

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image