บัลลังก์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา โดย: เตือนใจ เจริญพงษ์

ภาพสมัย ร.8 ร.9 เสด็จประทับบัลลังก์
บัลลังก์หลังจากปรับปรุงแล้ว
บัลลังก์หลังจากปรับปรุงแล้ว
สุวรรณา ผู้ที่ริเริ่มปรับปรุงใหม่
สุวรรณา ผู้ที่ริเริ่มปรับปรุงใหม่

พระมหากษัตริย์ไทยกับการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยต่างซาบซึ้งและทุกคนหวังพึ่งได้มาอย่างยาวนาน ในที่นี้ขอนำเรื่องราวอันน่าประทับใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช) ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับบัลลังก์ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา (ปรากฏตามสมุดบันทึกของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 โดยได้ทรงพิจารณาพิพากษาคดีหญิงแม่ลูกอ่อนลักทรัพย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ได้ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราไว้ด้วย การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้สืบเนื่องจากการเสด็จประพาสเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงนับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของทั้งศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดฉะเชิงเทรา

“ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงร่วมพิจารณาคดีอาญา ซึ่งจำเลยเป็นหญิงแม่ลูกอ่อน ศาลอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการให้จำเลยฟังว่า จำเลยลักทรัพย์ห่วงกุญแจนากของผู้เสียหาย จำเลยได้ให้การรับสารภาพ และแถลงว่ากระทำความผิดเพราะยากจนไม่มีเงินเลี้ยงดูบุตร ศาลจึงพิพากษาจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นการรอลงโทษ”

ศาลจึงพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลย ตามพระบรมราชวินิจฉัย อันสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางด้านนิติศาสตร์ของพระองค์ ในการที่ทรงพิพากษาตัดสินครั้งนั้น ยังความปลาบปลื้มและชื่นชมแก่ปวงพสกนิกรที่มาฟังความกันจนล้นหลามห้องพิจารณา ด้วยเป็นกรณีพิเศษที่ประชาชนได้เข้าชมพระบารมีด้วย
หญิงแม่ลูกอ่อนผู้เป็นจำเลยได้คลานเข้าไปกราบที่บัลลังก์พร้อมตอบอย่างผู้สำนึกผิดด้วยรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นล้นพ้น แต่เมื่อได้กระทำผิดไปแล้ว ก็ใคร่จะรับโทษตามกฎหมาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่หญิงแม่ลูกอ่อนผู้เป็นจำเลย เป็นบำเหน็จความสัตย์ซื่อที่มีแก่อาญาแผ่นดิน ใคร่จะรับโทษตามความผิดของตนที่กระทำไปเพื่อลูก

Advertisement
ศาลเก่า
ศาลเก่า
ศาลใหม่
ศาลใหม่

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลพร้อมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงประทับที่มุขระเบียงด้านหน้าศาลเพื่อให้พสกนิกรชื่นชมพระบารมีจนกระทั่งสมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สําหรับ “ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา” นั้นนับเป็นศาลที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในฐานะ “ศาลเมือง” ซึ่งปรากฏประวัติชัดเจนตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นอกจากเคยมีที่ทำการร่วมกับศาลมณฑลปราจีนบุรีในช่วงปี พ.ศ.2450 แล้ว ส่วนหนึ่งของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังเคยเป็นที่ทำการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2520 อีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับบัลลังก์ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อปี 2449 พระพินิจดุลอัฏ อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลปาจิณ ได้มีหนังสือถึงปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลเมืองฉะเชิงเทราชำรุดทรุดโทรมมาก หลังคารั่วเวลาฝนตกน้ำสาดและรั่วเข้าไปในศาล กระทรวงยุติธรรมจึงอนุมัติงบประมาณให้สร้างศาลมณฑลปาจิณและศาลเมืองฉะเชิงเทรารวมกัน 1 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว

Advertisement

ต่อมาภายหลังจำนวนประชากรและคดีความเพิ่มมากขึ้นอาคารศาลเดิมจึงไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ อีกทั้งตัวอาคารที่ก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี ทรุดโทรมเกินกำลังที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ อาคารเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงตลิ่งพังลงทุกที ไม่เหมาะที่จะปลูกสร้างอาคารศาลใหม่ที่เดิม ประกอบกับทางจังหวัดปลูกสร้างศาลากลางหลังใหม่ จึงกำหนดให้อาคารศาลใหม่ปลูกหันหน้าไปทางสนามหน้าศาลากลาง อาคารเป็นตึก 2 ชั้น และได้ย้ายบัลลังก์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ประทับในการพิจารณาคดีจากอาคารเดิมมาไว้ที่ห้องพิจารณา 9 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน

คณะผู้พิพากษาในปี พ.ศ.2447
คณะผู้พิพากษาในปี พ.ศ.2447

คณะผู้พิพากษาปัจจุบัน
คณะผู้พิพากษาปัจจุบัน

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (ขณะทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ) ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับบัลลังก์ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และเสด็จประพาสเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา สืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งดังกล่าวของทั้งสองพระองค์ นายยงยุทธ แสงรุ่งเรือง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 จึงได้มอบหมายให้ นางสาวสุวรรณา นิ่มพงษ์ศักดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา พิจารณาทำการปรับปรุงและเก็บรักษาบัลลังก์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ประทับในการพิจารณาคดีครั้งนั้น ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์บัลลังก์ประวัติศาสตร์” ที่สำคัญและมีความหมายยิ่งควรค่าแก่การศึกษาแห่งหนึ่ง และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์

บัดนี้นางสาวสุวรรณา นิ่มพงษ์ศักดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ปรับปรุงและซ่อมแซมบัลลังก์จนแล้วเสร็จ

ป้ายห้องใหม่
ป้ายห้องใหม่

นางสาวสุวรรณา นิ่มพงษ์ศักดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เปิดใจว่า

“เมื่อมีมติ กต.ให้มาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ดิฉันได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของศาลแห่งนี้ จึงพบว่ามีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง คือ พระเจ้าอยู่หัวถึงสองรัชกาล คือ ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ขณะทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เคยเสด็จฯมาประทับบัลลังก์ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและทรงร่วมพิจารณาคดี จึงได้หารือ นายยงยุทธ แสงรุ่งเรือง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เมื่อครั้งมาตรวจราชการ มีดำริมอบหมายให้ดิฉันทำการปรับปรุงบูรณะบัลลังก์ประวัติศาสตร์นี้ให้สมจริง จึงเป็นที่มาของ “พิพิธภัณฑ์บัลลังก์ประวัติศาสตร์” แห่งนี้ สำหรับการปรับปรุงบัลลังก์พิพิธภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจาก นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะผู้ประนีประนอมของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา นางเตือนใจ เจริญพงษ์ อดีตยุติธรรมจังหวัดชลบุรี นายสมชาย เปรมใจ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดฉะเชิงเทรา และอีกหลายๆ ท่าน ทำให้การปรับปรุงบัลลังก์แห่งนี้มีความสมบูรณ์แบบเหมือนจริงทุกประการ ดิฉันภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานนี้ถวายเป็นราชสักการะแด่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และได้อนุรักษ์บัลลังก์แห่งนี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และนิติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป”

อนึ่ง ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2560 ฯพณฯ วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา จะเป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์บัลลังก์ประวัติศาสตร์” แห่งนี้อย่างเป็นทางการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image