ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
ภาพเก่าเล่าตำนาน : กว่า 40 ปีแล้ว…ที่ไทยต้องแบกรับ
เชื่อมั้ยครับ…พ.ศ.2567 ยังมี “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” จากพม่าตกค้างตามแนวชายแดนไทย-พม่า อีกกว่า 9 หมื่นคน ใน 9 พื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี…คาราคาซัง ลืมกันหมดแล้ว
แรกเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย พื้นที่รองรับในประเทศไทยมิใช่พื้นที่ปิด รั้วพัง พังรั้ว บ้างก็หนีออกมาหางานทำในเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายแสนจะแออัด แต่ละวันรอรับแจกอาหารตามโควต้า มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศมาดูแล กิน อยู่ หลับ นอน เด็กๆ เรียนหนังสือ มีเรื่อง เงินๆ ทองๆ เข้ามาขับเคลื่อน
จำนวนคนที่แน่นอนเป็นเรื่องที่หละหลวม อยู่กันมานานแสนนาน ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกแล้ว คนเกือบแสนคนที่เราไม่รู้จะจัดการอย่างไร มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากในศูนย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่เฝ้ารอนโยบายแบบชัดเจน
“มรดก” ที่น่าอึดอัดราว 40 ปี ไปยังไง มายังไง?
ผู้เขียนขอเรียกว่า “พม่า”
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 นายพลเนวิน ผู้นำพรรคสังคมนิยมพม่า นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศในรูปแบบ “รัฐพรรคเดียว” ปกครองแบบเผด็จการ ภายใต้แผนงานของรัฐบาลทหารที่เรียกว่า “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม”
พม่าปิดประเทศ ไม่ขอข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับประเทศใดๆ ปฏิเสธวัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยี จากโลกตะวันตก
ผ่านไปราว 30 ปี ดินแดนแห่งนี้พลิกโฉมกลายเป็น 1 ในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก บริษัทจำนวนมากของเอกชนถูกยึดเป็นของรัฐ รัฐบาลทหารบริหารประเทศแบบระบบของโซเวียต ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้นำเผด็จการหลงใหล ยึดมั่นในประเพณี เชื่อโชคลาง และยึดถือวิชาไสยศาสตร์ แบบเคร่งครัด
การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าที่ต่อเนื่องยาวนาน สร้างความพินาศให้กับระบบเศรษฐกิจ การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์แสนสาหัส
จากที่เคยเป็นดินแดนที่ผลิตข้าวออกจำหน่ายอันดับต้นของโลก กลายเป็นดินแดนแห่งความอดอยาก แร้นแค้น
ประชาชนในประเทศเอง ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อยู่กันเป็นชนเผ่า กระจายตัวกันไป รบกันเองบ้าง เป็นมิตรสหายทางการค้ากันบ้าง เป็นมิตรและศัตรูควบคู่กันไป
ที่แน่นอนที่สุด คือ แทบทุกกลุ่มที่อยู่กันในชนบท บนดอย ต่างปลูกฝิ่น ผลิตยาเสพติดขายกันอย่างเอิกเกริก เข้ามาในไทยก็ไม่น้อย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เริ่มมีการต่อสู้ด้วยอาวุธในการแบบสงครามกองโจร กองทัพพม่าถูกส่งออกไปเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง
นั่นคือจุดเริ่มต้น มีชาวบ้านจากพม่าทยอยอพยพหนีภัยสงครามเข้าสู่ดินแดนไทยตลอดแนวจำนวนหลักหมื่น (ชายแดนไทย-พม่า ยาว 2,401 กม.) หน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนเข้าไปดูแลเท่าที่พอจะทำได้
ถ้าจะว่าไปแล้ว ส่วนราชการของไทยที่จะดูแล “วิกฤต” ในลักษณะนี้โดยตรงก็ยังไม่มี เท่าที่พอจะทำได้คือ หน่วยกาชาดจังหวัด ที่ทำงานชั่วคราวได้ขนาดเล็ก เฉพาะพื้นที่
เมื่อคนไหลเข้ามาไม่หยุด…หน่วยงานของสหประชาชาติ คือ UNHCR เข้ามาร้องขอรัฐบาลไทยให้ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
รัฐบาลไทยมีคำสั่งผ่อนปรน ให้ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าเหล่านี้พักอาศัยอยู่ในเขตประเทศไทยเป็นการ “ชั่วคราว” เพื่อรอการกลับสู่มาตุภูมิ…เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย
สถานการณ์ในประเทศรุนแรงขึ้น ประชาชนฮึดสู้
ต้นปี 1988 ประชาชน พระสงฆ์ นักศึกษาทั่วประเทศ รวมตัวกันเป็นรูปเป็นร่าง มีแกนนำ มีแผน มี “วัน-เวลา” เป็นความลับ
8 สิงหาคม 1988 คือ วัน ว. ประชาชนทุกกลุ่มเลือกวันนี้ เพราะจะเป็น “วันประวัติศาสตร์” ที่ผู้คนสามารถจดจำได้ง่าย เมื่อถอดมาเป็นตัวเลข คือ 8888
ช่วงสายๆ ของวันนั้น ประชาชนนับหมื่น มืดฟ้า มัวดิน คล้องแขนกันออกมาบนถนนสายหลักในย่างกุ้ง ฉากหลังของภาพที่ฉายไปทั่วโลกคือ เจดีย์สีทอง อันเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนในดินแดนพม่า
นักศึกษาพม่าจากมหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์ย่างกุ้งและสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้งเป็นแกนหลัก ผสมผสานกับหมู่พระสงฆ์ที่ห่มผ้าเหลืองพลิ้วไสวไปกับสายลมแห่งการต่อสู้ ทหารพม่าได้รับคำสั่งให้ “สลาย” ผู้คนล้มตายเกลื่อน เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
การต่อสู้ขยายตัวไปทั่วประเทศ
ทิศทางที่ผู้คนทั้งหลายมุ่งจะหนีตาย คือ ไปทางตะวันออก…ชายแดนไทย ต้องข้ามไปให้ได้เพราะมีคนส่วนหนึ่งหนีเข้าไปได้แล้ว..ปลอดภัยแน่นอน มีคนดูแล
บังเกิดเป็น “คลื่นมนุษย์” นับแสนเข้ามาในดินแดนไทย
การทำงานเพื่อรองรับคนนับแสนตลอดแนวชายแดน ใช้เวลาไม่น้อยสำหรับการตั้ง กฎ ระเบียบและหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรง เกิดความสับสนอลหม่านในระบบราชการ
พ.ศ.2545 ครม.อนุมัติให้โอนภารกิจการควบคุมผู้หนีภัยการสู้รบมาให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราว โดยมอบให้จังหวัดและอำเภอที่มีพื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่งตั้งปลัดอำเภอเป็นผู้ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราว และให้มีสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) ปฏิบัติงานเป็นประจำ
ช่วงแรก…รัฐบาลไทยอนุมัติให้จัดตั้ง “ศูนย์แรกรับ” ขึ้นในบริเวณชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยมีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 แก่ผู้หนีภัยนับแสนชีวิต
ต่อมา…เปลี่ยนเป็นการจัดตั้ง “พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบ” หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกระทรวงมหาดไทย
เรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจที่สุด คือ เรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อการจัดระเบียบ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารแบบนับหัว-นับยอด
นักศึกษา ชาวบ้านนับแสนตลอดแนวชายแดน มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนมหาศาล มีชื่อ-ไม่มีนามสกุล ชื่อ-แซ่ สะกดได้ยากมากสำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย
องค์กรระหว่างประเทศแย่งเข้ามาทำงานกันแน่นขนัดตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า เพื่อทำงานในพื้นที่ดังกล่าวและผู้หนีภัยจะเรียกกันเองว่า refugee camp หรือค่ายผู้ลี้ภัย
ทำไป ทำมา เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศกลายเป็น “ผู้ควบคุม-บริหาร-จัดการ” ไปโดยปริยาย จากกลุ่มกลายเป็นค่าย ขยายตัวออกไปไม่หยุด จัดระเบียบแสนยาก ใช่ว่าจะไปสั่งการอะไรได้หมด มีการตั้งศูนย์ตลอดแนวชายแดน 9 แห่ง ในดินแดนไทย
ผู้เขียนที่ยังรับราชการอยู่ ติดตาม เข้าประชุมกับส่วนราชการ เรื่องคน 2 แสน จำได้ว่า UNHCR ตกลงกับรัฐบาลไทยว่า “จะให้อยู่ชั่วคราว” และจะมี “กระบวนการส่งกลับมาตุภูมิ”
มีรัฐบาลชาติต่างๆ โดยเฉพาะอเมริกา รับตัวไปหลายพันคน ประเทศอื่นๆ ไม่สนใจ แต่ขอเป็นข่าวว่ากำลังพิจารณา
กาลเวลาผ่านไป รัฐบาล ข้าราชการ หมุนเวียน เปลี่ยนกันไป การบริหารขาดช่วง ขาดตอน ปรากฏข่าวการทุจริตสารพัด เกิดการทำมาค้าขาย มีทะเลาะเบาะแว้ง มีเหตุไฟไหม้พื้นที่หน้าแล้ง ที่เลวร้าย คือ มีผู้ลักลอบเข้ามาใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายไหน เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยาเสพติด มีอาวุธสงคราม หรือไม่?
ขาดการตัดสินใจ นโยบายที่ชัดเจน โยนกันไป-มา กลายเป็นประเด็นที่ “ถูกลืม” หายไปกับกาลเวลา
พ.ศ.2567 ประเทศไทยยังต้องแบกภาระ 9 ศูนย์ ที่ใหญ่ที่สุดคือ ที่บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตากมีผู้หนีภัยอาศัยอยู่ประมาณ 4 หมื่นคน และเล็กที่สุดที่บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ประมาณ 3,400 คน และบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 3,600 คน
ราชการไทยไม่เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น Refugee หากแต่ใช้คำว่า Displaced Persons
ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 ของสหประชาชาติ และไม่มีมาตรการปกป้องอย่างเป็นทางการให้แก่ผู้ที่ลี้ภัยสงครามในพม่า ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีเพียงเอกสารไม่กี่ชิ้นหรือบางคนก็ไม่มีเลย
เคยมีการเจรจาพูดคุยกันนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อจะให้คนเหล่านี้เดินทางกลับไปในพม่า…หากแต่ทางการพม่า “ปฏิเสธแข็งขัน” เมื่อไปไหนไม่ได้ ก็กลับเข้าไปในศูนย์
40 ปีที่ผ่านมา…ก็ยังไหลเข้ามาไม่หยุดนะครับ
1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดรัฐประหารในเมียนมา
ผู้คนอีกหลายหมื่นคน ไม่ลังเลที่จะลี้ภัยเข้ามายังเขตชายแดนไทยใน อ.แม่สอด จ.ตาก และตลอดแนวชายแดน
กลุ่มผู้ลี้ภัยหน้าใหม่ ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนหนุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารแก่พลเรือนชายและหญิง ผู้ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ล้วนคัดค้านการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ที่กลายเป็นชนวนให้คนหนุ่มอพยพออกจากประเทศ
เรื่องไม่ดี ไม่งาม ปรากฏขึ้นเสมอ
ย้อนหลังไปเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่พักผู้หนีภัยกว่า 100 หลังคาเรือน
14 ธันวาคม 2565 ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่มาก่อนในศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ อส.ในศูนย์พักพิงที่ทำร้ายร่างกายผู้หนีภัย 4 คน ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้หนีภัยทั้งหมดไม่พอใจ ออกมาชุมนุม
ได้เวลา “จัดการ” แล้วครับ…ลองหา “วิธีการ” ที่เหมาะสม พิจารณาความเหมาะสมให้เป็นบวกสำหรับเศรษฐกิจ สังคมไทย สำหรับคนเกือบแสนชีวิต…ศูนย์เหล่านี้ควรยุติกิจการได้แล้วครับ