ความคล้ายคลึงในความแตกต่าง กรณีการรับรองรัฐของไต้หวันกับคอซอวอ

อนุสัญญามอนเตวิเดโอ (Montevideo Convention) ..2476 เป็นเอกสารสำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกำหนดสถานะของ รัฐ(state) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประการที่รัฐจะต้องมีเพื่อถือว่าเป็นรัฐสมบูรณ์ ได้แก่

1) ประชากรถาวร คือมีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของรัฐอย่างถาวร

2) อาณาเขตที่กำหนดชัดเจน คือมีอาณาเขตที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังมีข้อพิพาทในบางพื้นที่ก็ตาม

3) รัฐบาล คือมีรัฐบาลที่สามารถใช้อำนาจบริหารและปกครองดินแดนและประชากรของตน

ADVERTISMENT

4) ความสามารถในการเข้าสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือมีอำนาจอธิปไตยที่จะมีปฏิสัมพันธ์และดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ บนเวทีระหว่างประเทศ

อนุสัญญามอนเตวิเดโอนี้ยังระบุหลักการสำคัญ เช่น หลักการไม่แทรกแซง (Non-intervention) และการยอมรับรัฐใหม่ (Recognition of New States) โดยอนุสัญญามอนเตวิเดโอได้กลายเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจสถานะของรัฐในกฎหมายระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ADVERTISMENT

สำหรับการรับรองรัฐ (Recognition of a State) ในกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง การที่รัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศยอมรับว่านิติบุคคลหนึ่งๆ มีสถานะเป็นรัฐที่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในเวทีระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ การรับรองรัฐมีความสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตและการยอมรับสถานะของรัฐใหม่ในประชาคมระหว่างประเทศ 

การรับรองรัฐแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.การรับรองโดยชัดแจ้ง เป็นการรับรองที่แสดงออกอย่างเป็นทางการ เช่น การออกแถลงการณ์ การลงนามในสนธิสัญญา หรือการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

2.การรับรองโดยปริยาย เป็นการกระทำที่แสดงการยอมรับสถานะของรัฐใหม่โดยไม่ได้กล่าวอย่างชัดแจ้ง เช่น การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศร่วมกัน หรือการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทางการทูตในระดับหนึ่ง                     

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการรับรองอีก 2 แบบคือ

1.การรับรองแบบนิตินัย (De Jure Recognition) เป็นการยอมรับอย่างถาวรและสมบูรณ์ว่านิติบุคคลนั้นเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบ

2.การรับรองแบบพฤตินัย (De Facto Recognition) เป็นการยอมรับสถานะของรัฐในเชิงข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้ให้การรับรองเต็มรูปแบบ อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รัฐนั้นยังไม่มั่นคง

สำหรับกรณีการรับรองรัฐของไต้หวันและคอซอวอ มีความคล้ายคลึงและแตกต่างในหลายมิติ โดยพิจารณาจากปัจจัยทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะกล่าวถึงความคล้ายคลึงก่อน ดังนี้

1.การเผชิญปัญหาการรับรองทางการทูต

ไต้หวัน: ไต้หวันไม่ได้รับการรับรองเป็นรัฐอธิปไตยอย่างเป็นทางการจากส่วนใหญ่ของนานาชาติ เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิเหนือไต้หวันตามหลักจีนเดียว” (One-China Policy) และใช้แรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจในการจำกัดการรับรองจากประเทศต่างๆ

คอซอวอ: คอซอวอประกาศเอกราชจากเซอร์เบียใน พ..2551 แต่ไม่มีสิทธิได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เนื่องจากถูกรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขัดขวาง

2.การเผชิญแรงกดดันจากมหาอำนาจ

ไต้หวัน: สาธารณรัฐประชาชนจีนกดดันประเทศและองค์การระหว่างประเทศให้ปฏิเสธการติดต่อกับไต้หวัน เช่น การห้ามไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นต้น

คอซอวอ: รัสเซียและจีนเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่โคโซโวจะได้รับการยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN โดยให้การสนับสนุนเซอร์เบียและใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 

3.การใช้ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ (De facto Diplomacy) ทั้งไต้หวันและคอซอวอใช้กลไกการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการกับประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม แม้จะไม่ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่

4.การสนับสนุนจากพันธมิตร

ไต้หวัน: ได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่มีแนวโน้มสนับสนุนประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในแปซิฟิก

คอซอวอ: ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และนาโต โดยเฉพาะในกรณีการแทรกแซงทางทหารเพื่อยุติความขัดแย้งกับเซอร์เบียใน พ..2542 จนสำเร็จ

สำหรับความแตกต่างระหว่างไต้หวันกับคอซอวอ 

มีดังนี้

1.สถานะทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย

ไต้หวัน: มีสถานะเป็นรัฐเดิมที่ตั้งรัฐบาลมาตั้งแต่ พ..2492 แต่สูญเสียที่นั่งในองค์การสหประชาชาติให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนใน พ..2514 การดำรงอยู่ของไต้หวันในฐานะรัฐอธิปไตยมีการโต้เถียงถึงความต่อเนื่องของสาธารณรัฐจีน” (Republic of China)

คอซอวอ: เป็นพื้นที่ที่แยกตัวออกจากเซอร์เบียในยุคหลังสงครามยูโกสลาเวีย สถานะการเป็นรัฐใหม่เกิดจากการประกาศเอกราชใน พ..2551 แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากเซอร์เบีย หรือรัฐอื่น อาทิ รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สเปน เป็นต้น

2.จำนวนประเทศที่รับรอง

ไต้หวัน: มีเพียง 13 ประเทศ รับรองอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กในภูมิภาคแปซิฟิกและละตินอเมริกา

คอซอวอ: ได้รับการรับรองจาก 100 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และไทย ฯลฯ

3.บทบาทในองค์การระหว่างประเทศ

ไต้หวัน: ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และส่วนใหญ่ถูกกีดกันจากองค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากแรงกดดันจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

คอซอวอ: แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาขาติ แต่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

4.ลักษณะความขัดแย้ง

ไต้หวัน: ความขัดแย้งกับจีนมีลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์และอุดมการณ์ (ประชาธิปไตยกับเผด็จการคอมมิวนิสต์) เป็นประเด็นหลัก

คอซอวอ: ความขัดแย้งเป็นผลจากปัญหาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และศาสนา ระหว่างชาวอัลเบเนียที่เป็นชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในคอซอวอ กับเซอร์เบียที่เป็นชาวสลาฟใต้และเป็นคริสเตียนออร์โธดอกซ์

โดยสรุป ทั้งไต้หวันและคอซอวอต่างเผชิญปัญหาคล้ายกันในเรื่องการแสวงหาการยอมรับจากประชาคมโลก แม้จะมีสาเหตุพื้นฐานและบริบทที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองกรณีสะท้อนถึงความซับซ้อนของการเมืองระหว่างประเทศและผลกระทบจากแรงกดดันของมหาอำนาจในระบบโลกปัจจุบัน

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image