สุจิตต์ วงษ์เทศ : การเมือง, ศิลปะ-วัฒนธรรม, และความรุนแรง ปราจีนบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ : การเมือง, ศิลปะ-วัฒนธรรม, และความรุนแรง ปราจีนบุรี

ความรุนแรงที่ จ.ปราจีนบุรี ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมีปกติเหมือนเมืองอื่นๆ ที่มีความรุนแรงจากการแก่งแย่งอำนาจและเอาเปรียบประชาชน ซึ่งเป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้าง

แต่ปราจีนเป็นที่รับรู้ในประวัติศาสตร์อย่างสืบเนื่องไม่ขาดสายว่า เป็นเมืองชายขอบด้านตะวันออกของอยุธยา บนเส้นทางเดินทัพยกไปตีนครธม และในทางกลับกันเมืองละแวกยกไปตีอยุธยา

ปราจีนบุรีมีหลายชื่อ ได้แก่ เมืองปราจีน, เมืองประจิม, เมืองบางคาง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องดินแดนส่วนที่โบราณเรียกว่า “ขอมแปรพักตร์” (อยู่ในพระราชนิพนธ์ ร.4 เมื่อ 137 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ. 2430)

ADVERTISMENT

ปราจีนบุรี เป็นชื่อไทยเรียก อย่างเป็นทางการ หมายถึง เมืองทางทิศตะวันออก (ของอยุธยา) พบในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง สมัยอยุธยา (ปราจีน แปลว่าทิศตะวันออก เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต)

ประจิม เป็นชื่อเขมรเรียกทั่วไป หมายถึง เมืองทางทิศตะวันตก (ของเมืองพระนครหลวง-นครธม-กัมพูชา) (ประจิม เป็นภาษาบาลี แปลว่าทิศตะวันตก) คนรุ่นอายุเกิน 60 ปี เรียก อ.เมืองฯ จ.ปราจีนบุรี ว่า “เมืองประจิม” โดยไม่รู้คำแปลและความหมาย

ADVERTISMENT

เมืองบางคาง เป็นภาษาปากชาวบ้านเรียกเมืองปราจีนบุรี (เขมรเรียก “เมืองประจิม”)  หมายถึงเมืองบริเวณโค้งน้ำ (ของแม่น้ำปราจีนบุรี) ยื่นง้ำชะโงก (เหมือนคางของคน) ตรงบ้านบางคาง มีวัดบางคางเป็นศูนย์กลาง

ผังสี่เหลี่ยมเมืองบางคาง มีป้อมประตูและหอคอยทำด้วยไม้เคี่ยม (เป็นไม้เนื้อแข็งยืนต้นขนาดใหญ่ นิยมใช้ก่อสร้างบ้านเรือน), มีศาลหลักเมือง (หอผี), มียุ้งฉางเก็บเสบียงเป็นข้าวเปลือกและอื่นๆ ส่วนประชาชนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร, ลาว, ฯลฯ พบในนิราศปราจีนบุรี ดังนี้

พอเขาบอกแล้วก็ออกนาวามา                    ล้วนเคหาเขมรดงลงมาใหม่
ถึงบ้านลาวชาวเชลยพนาลัย                      ประเดี๋ยวใจก็กระทั่งเมืองบางคาง
มีประตูคูค่ายล้วนไม้เคี่ยม                          เป็นสี่เหลี่ยมป้อมลอยหอคอยขวาง
ศาลเจ้าหลักเมืองประจำอยู่ท่ามกลาง         ทั้งยุ้งฉางเกลื่อนกลาดอยู่ดาษดา
พระผู้ทรงยุธเยศนิเวศจังหวัด                    ให้ข้าหลวงออกมาจัดไว้แน่นหนา
สำหรับรบไพรีจะบีฑา                                ให้ถอยทัพอัปราอย่ากล้ากราย
ชื่อเมืองประจิมทะคามงามขยัน                  เป็นประจันทคามของพระฦๅสาย
เมื่อทรงสร้างโพธิญาณสำราญกาย            ชื่อโฉมฉายมโหสถกุมาร

[นิราศปราจีนบุรี (ไม่มีชื่อผู้แต่ง) สำนวนกวีแผ่นดิน ร.3 แต่งระหว่าง พ.ศ. 2371-2380 (กรมศิลปากร ชำระและพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2551)]

เส้นทางเดินทัพ ต้องผ่านพื้นที่เมืองบางคางหลายครั้ง ได้แก่ พระนเรศวร, กรมหมื่นเทพพิพิธ, พระเจ้าตาก

เมือง ตามประเพณีวิถีดั้งเดิมของคนบนดินแดนสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว หมายถึงชุมชนขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้าน (village) ประกอบด้วยหมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้านรวมกัน

ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องมีคูเมืองและกำแพงเมืองก่ออิฐหรือศิลาแลงเหมือนเมืองโบราณที่นักโบราณคดีไทยคุ้นเคยด้านเดียว เช่น เชียงใหม่, อยุธยา, กรุงธน, กรุงเทพฯ

ฉะนั้น นักประวัติศาสตร์โบราณคดีต้องเข้าใจร่วมกันจงดี โดยเฉพาะเมืองบางคาง ลักษณะ “เมืองด่าน” บนเส้นทางเดินทัพ

ปราจีนบุรี-เมืองใหม่-ปัจจุบัน

ปราจีนบุรีสร้างเมืองใหม่ (สืบเนื่องถึงปัจจุบัน) บริเวณริมแม่น้ำ (ฝั่งตรงข้ามวัดหลวงปรีชากุล) ในแผ่นดิน ร.5 เพราะพื้นที่แถบนี้ทวีความสำคัญขึ้น

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เสด็จไปเมืองปราจีนบุรี พ.ศ. 2410 (เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่น ปลาย ร.4) หาสถานที่ก่อสร้างป้อมและกำแพงเมือง

พ.ศ. 2413 เริ่มก่อสร้างกำแพงและป้อมเมืองปราจีนบุรี (ต้นแผ่นดิน ร.5)

พ.ศ. 2415 การก่อสร้างแล้วเสร็จ ร.5 เสด็จทรงตรวจตราเมืองปราจีนบุรี

[จากหนังสือ ประวัติการและความจำ ของ รองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ อเนกบุศย์) พิมพ์ในงานพระราชทางเพลิงศพ หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ อเนกบุศย์) ณ จังหวัดปรา จีนบุรี เมื่อวันที่ 22 เม ษายน พ.ศ. 2493 หน้า 14-15]

สถานที่ราชการและตลาดเอกชน สร้างทับเมืองปราจีนบุรี สมัย ร.5 ดังนั้นถ้าขุดลงไปใต้ดินจะพบแนวอิฐของเมืองริมแม่น้ำปราจีนบุรี (แต่ไม่ได้เรียกร้องให้ขุดตอนนี้)

ปราจีนบุรี มาจากศรีมโหสถ

ปราจีนบุรีมีรากฐานดั้งเดิมมากกว่าพันปีมาแล้ว จากเมืองศรีมโหสถ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี

รุ่งเรือง 1,5000 ปีมาแล้ว หลัง พ.ศ. 1000

ร่วงโรย 800 ปีมาแล้ว หลัง พ.ศ. 1700

ประชาชนหลายชาติพันธุ์จากเมืองศรีมโหสถ โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณบางคาง (ริมแม่น้ำปราจีนบุรี) ในอำนาจของเมืองอโยธยา (เมืองเก่าของอยุธยา) ครั้งนั้นเริ่มมีอำนาจเหนือเมืองพระนครหลวง (กัมพูชา) แล้วสืบเนื่องจนสมัยอยุธยา

ศิลปะและวัฒนธรรมเมืองศรีมโหสถ มีมากเกินจะบอกได้ทั้งหมด

แต่ที่สำคัญควรแบ่งปันเป็นแรงบันดาลใจให้มีพลังสร้างสรรค์ คือ

พระคเณศอายุเก่ามากนับพันปีมาแล้ว สลักจากหินทราย (ชำรุด) จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี และ

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ลายสลักศิลาแลงที่ขอบสระแก้ว อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี

ทั้ง 2 สิ่งขณะนี้เป็นสุดยอดงานช่างเก่าแก่นับพันปีที่ปราจีนบุรี

เทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค หรือเทพเจ้าผู้ประทานความสำเร็จ

(ซ้าย) พระคเณศ อายุราว พ.ศ. 1300-1400 หินทราย ชำรุด ขุดพบที่เทวสถานกลาง เมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี)

(ขวา) พระคเณศ ลายเส้น (ตามสันนิษฐานของนักโบราณคดี) โดย คงศักดิ์ กุลกลางดอน อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (เมื่อ พ.ศ. 2557)

[เทพเจ้าแห่งศิลปะ ถูกสถาปนาในกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.6 (ไม่มีในอินเดีย)]


สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สลักศิลาแลง ขอบสระแก้ว อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image