ลลิตา หาญวงษ์ : พม่าในปี 2025 – สงคราม สันติภาพ แล้วก็สงครามอีกรอบ

ในปี 2024 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายเหลือเกินในพม่า โดยเฉพาะประเด็นพม่าๆ ที่มาเกี่ยวกับไทย ที่สังคมดูจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ ข้อถกเถียงว่าด้วยฐานว้าแดงล้ำเข้ามาในเขตไทย เรื่องชาวประมงไทยที่ถูกทางการพม่าโจมตี จนทำให้มีชาวประมงเสียชีวิตและถูกจับกุม รวมทั้งประเด็นทางสังคมร้อนๆ เช่น การให้สัญชาติกลุ่มอพยพ-บุตรที่เกิดในไทย 483,000 คน ที่กลายเป็นกระแสให้คนบางกลุ่มนำไปปั่น และเพิ่มกระแสเกลียดชังคนต่างด้าว โดยไม่เข้าใจว่าแรงงานต่างด้าวหลายล้านคนนี่แหละ ที่หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สำหรับในพม่า ความรุนแรงในปี 2024 ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ในปีนี้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านพยายามยึดพื้นที่ทั่วประเทศ จากการรวบรวมข้อมูลของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ในรายงานเรื่อง Thailand at the Crossroads: Strategic Pathways for Crisis Management and Regional Stability หรือ ประเทศไทยบนทางแพร่ง: แนวทางยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารวิกฤตและเสถียรภาพในภูมิภาค ตัวเลขของเมือง (township) ที่ถูกกองกำลังฝ่ายต่อต้านยึดได้มีตั้งแต่ 20 ไปจนถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศพม่า ผู้อ่านคงจะสงสัยว่าเหตุใดตัวเลขนี้จึงมีช่องว่างกว้างเหลือเกิน คุณสุภลักษณ์ในเหตุผลว่า ข้อมูลแต่ละแหล่งให้ตัวเลขที่ต่างกัน ถ้าเป็นชุดข้อมูลจากฝั่ง SAC กองทัพพม่า หรือสื่อที่เป็นของกองทัพ ก็จะมองว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านยึดครองพื้นที่ได้ไม่มาก โดยมากคือพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแนวชายแดนพม่ากับไทย จีน และอินเดีย แต่หากเป็นข้อมูลจากฝ่ายต่อต้าน สื่อ องค์กร หรือประเทศที่โปรฝ่ายต่อต้าน ก็ย่อมมองว่าฝ่ายตรงข้าม SAC ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไว้ได้หมดแล้ว

เราจะประเมินตัวเลขของพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านยึดได้ได้อย่างไร? ผู้เขียนมองว่าเราไม่จำเป็นต้องทราบตัวเลขแบบเป๊ะ แต่มีข้อเท็จจริง 2 อย่างที่เราจำเป็นต้องทราบ ประการแรก นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2021 กองทัพพม่าอ่อนแอลงไปพอสมควร ทั้งในด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ร่อยหรอไปบ้าง เมื่อถูกฝ่ายต่อต้านบุกยึดฐาน เมื่อสงครามยืดเยื้อ ขวัญกำลังใจของทหารพม่าก็ลดลงไปด้วย เราเห็นข่าวมีทหารจำนวนมากที่หนีทหารหรือเลือกเข้ากับฝ่ายต่อต้าน และ SAC ยังบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร หากสถานการณ์ของ SAC และกองทัพพม่า ดีจริง คงไม่เกิดการบังคับเกณฑ์ทหารใหม่ๆ ที่ประชาชนเพศชายอายุระหว่าง 18-35 ปี และเพศหญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี ซึ่งมีอยู่หลายล้านคน ต้องไปเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี ความอ่อนแอเชิงกายภาพที่เห็นได้นี้ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์บางอย่างในกองทัพ จนมีข่าวลือออกมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหารพลเอกโซวิน (เบอร์ 2 ของ SAC) หรือผู้บัญชาการกองพลที่ยอมแพ้ และออกมาเรียกร้องให้ทหารในกองทัพพม่ายอมแพ้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้กองทัพพม่าจะอ่อนแอลงจริง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพวกเขามีช่องทางการนำเข้าอาวุธ กระสุน และยุทโธปกรณ์อื่นๆ เพราะมีทั้งเงิน และยังสามารถเจรจากับประเทศผลิตอาวุธใหญ่ๆ ทั้งจีนและรัสเซียได้ ในขณะที่กองกำลังฝ่ายต่อต้าน ทั้ง PDF และกองกำลังชนกลุ่มน้อย มีช่องทางการซื้ออาวุธที่จำกัดกว่ามาก

ประการที่สอง เมื่อสงครามยืดเยื้อ ผลกระทบของสงครามในพม่าไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะประชาชนภายในประเทศอีกต่อไป หากแต่ยังกระทบไปถึงเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนที่หนาวๆ ร้อนๆ กับสงครามกลางเมืองพม่า จนต้องออกตัวแรง เข้าไปแทรกแซงอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่สนับสนุนให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ให้ร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า ก่อนจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ และล่าสุดก็หันไปสนับสนุนกองทัพและรัฐบาล SAC วิธีคิดของจีนไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด จีนต้องการให้เกิดความสงบและเสถียรภาพในพม่า ตลอดจนแนวชายแดนพม่า-จีน รวมไปถึงเสถียรภาพภายในประเทศเพื่อนบ้านของจีน โดยที่จีนต้องเป็นคนควบคุมเกมได้ด้วย เพราะหากจีนไม่ออกตัวแรงและเข้าไปแทรกแซง จีนก็เกรงว่าสหรัฐจะเข้าไปแทรกแซง และใช้โอกาสที่พม่าขาดเสถียรภาพ เจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ และสถาปนาอำนาจ โดยสรุป จีนให้ความสำคัญกับพม่าอย่างมาก จีนมองถึง end game ไปแล้วว่าพม่าต้องมีการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าพม่าจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขอเพียงแค่จีน “เอาอยู่” และเจรจากับผู้นำพม่าได้ เสถียรภาพก็จะทำให้จีนไม่ต้องพะวงกับการรักษาผลประโยชน์ในพม่ามากจนเกินไป เหมือนที่ผ่านมาหลายปี ดังนั้น การแทรกแซงจากจีน และการกำหนดทิศทางการเมืองในพม่า จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด

ในปี 2025 ที่จะมาถึงนี้ กองกำลังหลายฝ่ายก็หวังจะเผด็จศึกและยึดพื้นที่ที่ SAC ยังครอบครองอยู่มาให้จงได้ แต่ตราบใดที่ฝ่ายต่อต้านยังไม่สามารถยึดศูนย์กลางอำนาจของ SAC และกองทัพพม่า ที่เนปยีดอได้ ก็พูดไม่ค่อยเต็มปากว่า SAC กำลังจะล่มสลาย อย่าลืมว่า SAC มีหมัดหนักเป็นเครื่องบินรบ ที่สามารถเข้าไปทิ้งระเบิดในพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านได้ทุกเมื่อ ภายในต้นปีหน้า เราจะเห็น SAC มีปฏิบัติการยึดเมืองสำคัญๆ คืนอีกหลายแห่ง เมื่อฝ่ายต่อต้านในซีเรียเข้ายึดกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย และบีบให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ต้องหนีออกจากประเทศได้ ทั้งประชาชนและฝ่ายต่อต้านในพม่าก็มีกำลังใจ และมุ่งหน้ายึดพื้นที่ได้เรื่อยๆ ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม สิ่งที่ทุกกลุ่มมีตรงกัน หรืออย่างน้อยคล้ายกัน คือการล้มล้าง SAC และสถาปนาระบบสหพันธรัฐขึ้น ทุกกลุ่มต่อต้านการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และยังมีเป้าหมายเพื่อนำกองทัพพม่าออกจากการเมืองถาวร

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงการนำ SAC ออกจากการเมือง แต่ละกลุ่มมีความคิดที่แตกต่างกัน บางกลุ่มมองว่าต้องรบในแบบที่แตกหักกันไปข้าง โดยจะไม่มีการเจรจากับ SAC อีกแล้ว ในขณะที่บางกลุ่มกลับยอมเจรจา เช่น MNDAA ในรัฐฉานเหนือที่ถูกจีนบีบหนัก จนต้องหันไปเจรจากับ SAC สำหรับ end game หรือจุดสิ้นสุดของปัญหาที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร 2021 นี้ SAC มีความชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้ง และกองทัพยังจะเป็นสมการหลักทางการเมืองในพม่าต่อไป ดังนั้น แม้ในที่สุดแล้วจะมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา รูปร่างหน้าตาอาจจะใกล้เคียงรัฐบาลเต็ง เส่ง แต่สงครามในพื้นที่รอบนอกยังดำเนินต่อไป ตราบใดที่ end game ของฝ่ายต่อต้านยังไม่มีความชัดเจน แม้จะมีความพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเจรจาสันติภาพ แต่ไม่ช้าไม่นาน ข้อตกลงหยุดยิงก็จะกลายเป็น
กระดาษเพียงแผ่นเดียวเหมือนกับที่เคยเป็นมาหลายครั้งในอดีต การจบปัญหาทั้งหมดในพม่า คู่ขัดแย้งจำเป็นต้องเห็นตรงกันว่าเมื่อเกิดการเจรจา และมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง หรือข้อตกลงใดๆ แล้ว ทุกฝ่ายต้องทำตามเงื่อนไขในข้อตกลง หากไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษ มิเช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าสงครามกลางเมืองแบบนี้จะจบลงเมื่อใด