อนาคต ธรรมกาย พระไชยบูลย์ สุทธิผล กับ ‘มาตรา 44’

มีความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงว่า เมื่อวัดพระธรรมกายไม่มี พระไชยบูลย์ สุทธิผล ดำรงอยู่ในฐานะ “ผู้นำ” เป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่สถานะของวัดพระธรรมกาย

จะดำเนินไปในแบบ “สาละวันเตี้ยลง”

เตี้ยลงเหมือนวัดบ้านไร่ ไม่มี พระอาจารย์คูณ ปริสุทฺโธ เตี้ยลงเหมือนวัดป่าบ้านตาด ไม่มี พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

หรือสวนโมกขพลาราม ไม่มี ท่านพุทธทาสภิกขุ

Advertisement

ความเชื่อมั่นนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ พระไชยบูลย์ สุทธิผล ต้อง “หมายจับ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 มาแล้ว

จากเดือนมิถุนายน 2559 มาถึงเดือนมีนาคม 2560 เหมือนกับเป็นพลังงาน “แฝง”

ยิ่งเมื่อมีการถอดสมณศักดิ์จาก พระเทพญาณมหามุนี มาเป็นเพียง พระไชยบูลย์ สุทธิผล แนวโน้มที่จะต้องพ้นจากความเป็นพระมีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง

Advertisement

นั่นเท่ากับเป็น “บทจบ” อย่างแท้จริงของ “ธรรมกาย”

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็น “ประเด็น” ซึ่งมิได้ท้าทายเฉพาะการลงหลัก ลงแรงโดย พระไชยบูลย์ สุทธิผล เมื่อ 40 กว่าปีก่อน หากแต่ยังเป็นการทดสอบอย่างสำคัญต่อ “คณะศิษยานุศิษย์”

ความแข็งแกร่งที่เห็นผ่าน “มหาเจดีย์” อาจเป็น “ภาพลวงตา”

การระดมทุนจาก 2 มือเปล่าในเบื้องต้นกระทั่งขยายกลายเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ โอ่อ่าอลังการด้วยอาคารขนาดมหึมา

ไม่ว่าจะเป็น “อาคารดาวดึงส์” ไม่ว่าจะเป็น “อาคารบุญรักษา”

อาจจะต้องค่อยๆ พังครืนลงหากว่า อำนาจและบารมีของ พระไชยบูลย์ สุทธิผล

หมดสิ้นไปพร้อมกับคดีความไม่ต่ำกว่า

300 คดี

มองจากพื้นฐานความคิดแบบ “วีรชนเอกชน” อาจเป็นไปได้

เหมือนกับการนับถอยหลังของสวนโมกขพลาราม แม้จะมีแกนนำจาก “กปปส.” เข้าไปผนวกตัวรวมพลังก็ตาม

เพราะที่พุมเรียงไม่มี “พุทธทาสภิกขุ” อยู่แล้ว

ทั้งๆ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้ประสบชะตากรรมในลักษณะ และอาการแบบเดียวที่ พระไชยบูลย์ สุทธิผล กำลังประสบอยู่

สมมุติฐานนี้จึงท้าทาย “วิชชาธรรมกาย” อย่างยิ่งยวด

 

ชะตากรรมของ “วัดพระธรรมกาย” จึงขึ้นอยู่กับว่า “โครงสร้าง” การบริหารภายในประกอบส่วนขึ้นอย่างไร

ดำเนินไปอย่างเป็น “ระบบ” และได้ “มาตรฐาน” หรือไม่

ที่วัดพระธรรมกายพยายามนำเอา “การตลาด” เข้ามาเป็นเครื่องมือ 1 ในการขับเคลื่อนจะเป็นการนำเข้ามาอย่างเป็น “นวัตกรรม” อย่างเป็นจริง

หรือเสมอเป็นเพียงการลอกเลียนในทาง “รูปแบบ”

ที่ว่าสำนักวัดพระธรรมกายมีเปรียญธรรม 9 ประโยครวมแล้วถึง 70 รูป

มีดุษฎีบัณฑิตมากกว่า 20 รูป จะสามารถ

นำมาใช้อำนวยประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด

ชะตากรรมของ พระไชยบูลย์ สุทธิผล กำลัง “ทดสอบ”

1 ทดสอบรองเจ้าอาวาสที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาอย่าง พระเผด็จ ทัตตชีโว ว่าจะสามารถสืบทอดข้อดีของ พระไชยบูลย์

สุทธิผล ได้หรือไม่

1 ทดสอบ “ทรัพยากรบุคคล” ภายในว่ามี “ประสิทธิภาพ” เพียงใด

ยิ่งกว่านั้น 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างสูงลักษณะการจัด “องค์กร” ซึ่งสามารถสร้างปรากฏการณ์ระดมคนได้ไม่ต่ำกว่าแสนในแต่ละ “อีเวนต์” จะสะท้อนเข้าไปภายใน “โครงสร้าง” ของวัดพระธรรมกายได้อย่างเป็นคุณ

หรือมีอันต้องเป๋ไปกับ พระไชยบูลย์ สุทธิผล

 

เส้นทางของวัดพระธรรมกายภายใต้ “อำนาจ” แห่ง “มาตรา 44” จึงเป็นหินลองทองอันคมแหลม

ตรวจสอบความเป็นปึกแผ่น ตรวจสอบความแข็งแกร่ง ตรวจสอบว่าแนวทาง “วิชชาธรรมกาย” สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และต่อยอดไปได้เป็นลำดับหรือไม่ อย่างไร

หรือว่านับจากนี้จะเป็น “อวสาน” อย่างแท้จริงของ “ธรรมกาย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image