คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : จากนี้เราชาวไทยจะได้สมรสกันโดยเท่าเทียม… ว่าแต่มันเริ่มวันไหนกันล่ะ

สมรสเท่าเทียม – หลังจากการเรียกร้องต่อสู้ ร่วมผลักดันทั้งจากภาคสังคมและฝ่ายการเมือง ในที่สุดภายในเดือนนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 38 ของโลก ที่ยอมรับการสมรสของบุคคลโดยไม่บังคับเจาะจงว่าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องเป็นชายหรือเป็นหญิงเท่านั้น 

ทันทีที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) ..2567” หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะเป็นการเข้าไปแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ว่าด้วยครอบครัวเกือบทั้งบรรพ เปลี่ยนแปลงระบบครอบครัวในทางกฎหมายของไทยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

สาระสำคัญที่สุดอยู่ที่มาตรา 1435 และมาตรา 1448 ที่เดิมกำหนดว่าการหมั้นและการสมรสตามลำดับนั้น จะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว…” โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้แก่เป็นการหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปี

บริบูรณ์แล้ว…” ซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากเปลี่ยนแปลงหลักการเรื่องการสมรสระหว่างชายหญิงให้เป็นสมรสเท่าเทียมแล้ว ยังเพิ่มอายุบุคคลที่จะสมรสกันได้ให้เป็นสิบแปดปีเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นให้ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้ ซึ่งหลักการนี้ไม่ต่างจากสมรสชายหญิง เช่นเดียวกับเงื่อนไขในการสมรสอื่นๆ นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไร 

ADVERTISMENT

กระนั้นปัญหาของเรื่องนี้ก็เคยมีอยู่ ถ้าใครอ่านคอลัมน์นี้ในตอนที่แล้วและจำได้ว่าเป็นเรื่องที่ติดไว้และจะมาอธิบายยาวๆ ในคอลัมน์ตอนนี้ คือแล้วกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้เมื่อไรกันแน่ 

เดิมนั้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่กฎหมายนี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และในกฎหมายกำหนดให้กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงมีสำนักข่าวและนักวิชาการหลายท่านเริ่มนับวันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นวันที่หนึ่ง แล้วนับไปอีก 120 วัน ก็จะนับเป็นวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้

ADVERTISMENT

ซึ่งเรื่องนี้จะว่าไปก็ตรงไปตรงมาตามข้อความลายลักษณ์อักษรของกฎหมายและสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ถือตามความเห็นเรื่องเสร็จที่ 290/2543 ในครั้งที่สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงินหารือว่ากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ประกาศและให้นับวันมีผลใช้บังคับในลักษณะเดียวกันกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ จะถือวันเริ่มนับ 120 วันที่วันไหน และกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อไร

ที่เป็นปัญหาถึงต้องหารือก็เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5809/2539 วางหลักไว้ว่า การนับวันบังคับใช้แห่งกฎหมายนั้น จะต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

หากตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) เรื่องดังกล่าว มองว่า การกำหนดเวลาเริ่มใช้บังคับกฎหมายนั้นจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นเอง เพราะมิใช่เป็นเรื่องการคำนวณนับระยะเวลาตามบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาในลักษณะ 5 บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินบัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนั้นกำหนดระยะเวลาที่จะเริ่มต้นนับ 120 วันจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรก 

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกเหตุผลเพิ่มเติมว่า แม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาเอง ก็มีที่วางหลักไว้ต่างกัน คือคำพิพากษาฎีกาที่ 70/2477 ได้วินิจฉัยว่าเมื่อกฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับในวันใดกฎหมายก็ย่อมมีผลใช้บังคับในวันนั้น มิใช่มีผลในวันรุ่งขึ้นตามวิธีการนับระยะเวลาตามที่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะดังกล่าวก็ถือตามคำพิพากษานี้

อย่างไรก็ตาม การนับโดยถือว่าวันประกาศนั้นเป็นวันแรกแห่งการนับนั้น สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานของศาลยุติธรรมก็มิได้เห็นตรงกัน ล่าสุดมีหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ด่วนที่สุด ที่ ศย 016/ 1350 เรื่อง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) ..2567 (สมรสเท่าเทียม) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ระบุไว้ว่า วันที่มีผลใช้บังคับของกฎหมายนี้ คือวันที่ 23 มกราคม 2568 เท่ากับว่า สำนักงานศาลยุติธรรมนั้นก็นับวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันเริ่มต้นแห่งการนับ ซึ่งยืนตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ ล่าสุดคือคำพิพากษาฎีกาที่ 2086/2553

แต่เพราะสื่อต่างๆ ที่ออกมาในครั้งแรกที่นับแบบกฤษฎีกานั้นเป็นข่าวออกมาก่อนแล้วในช่วงแรกที่กฎหมายประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทำให้คนทั่วไปและสังคมเข้าใจกันไปแล้วว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มกราคมนี้ นอกจากนี้ แรกทีเดียวฝ่ายปกครองทั้งกรมการปกครองและท้องถิ่น เช่น กทม. ก็ออกมาประชาสัมพันธ์แล้วว่า จะเริ่มรับจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักเพศเดียวกันได้ ในวันที่ 22 มกราคมนี้เป็นต้นไป 

ซึ่งหากมีการจดทะเบียนสมรสให้คู่รักเพศเดียวกันไปในวันที่ 22 จริงๆ และในภายหลังเกิดกรณีพิพาทใดๆ ที่จะต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นยุติธรรมแล้ว หากศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวถือนับตามหนังสือเวียนของสำนักงานศาลยุติธรรมหรือตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ถือว่าประมวลแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มกราคมแล้ว ช่องว่างเพียงวันเดียวนี้จะก่อปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อสิทธิหน้าที่และนิติฐานะของครอบครัวคนเพศเดียวกันอย่างร้ายแรง ผลคือเท่ากับการสมรสเป็นโมฆะ เนื่องจากในวันที่ 22 นั้นยังใช้บังคับกฎหมายเดิมที่ถือว่าการสมรสต้องเป็นเรื่องของชายและหญิงเท่านั้นอยู่

ทำให้แรกทีเดียวผมตั้งใจว่าจะต้องมาเขียนเรื่องนี้ลงในคอลัมน์ในฐานะของนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง หวังใจว่าผู้อ่านท่านใดเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่หรือบารมีเพียงพอที่จะสามารถโน้มน้าวให้ทางฝ่ายปกครองทบทวนเรื่องวันบังคับใช้กฎหมายได้ก็อาจจะเป็นประโยชน์และป้องกันปัญหาดังกล่าวได้

ดีว่าในที่สุดแล้วทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอต่างๆ จะรับจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมนี้เป็นต้นไป ก็เป็นอันว่าปัญหาที่เกรงกลัวนั้นจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ขอแสดงทัศนะว่าส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยกับการนับวันเริ่มบังคับใช้กฎหมายแบบเดียวกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นเหมือนกฎหมายทั่วไปที่ใช้ได้ในกรณีต่างๆ ทั้งปวงที่ไม่มีกฎหมายอื่นบัญญัติเป็นพิเศษไว้

เช่นเดียวกับที่ในกฎหมายปกครองเองก็ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติหลักเรื่องละเมิดหรือนิติกรรมสัญญา” (และเรื่องหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมสัญญานั้นๆ) ไว้เป็นการเฉพาะ หากมีกรณีพิพาทต่อศาลปกครอง ที่เรียกว่าเป็นคดีละเมิดทางปกครอง” (ที่หมายถึงคดีละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง) หรือคดีสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ..2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) ขึ้น การจะพิจารณาว่าอย่างไรคือการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ฯลฯ นั้น ศาลปกครองก็ใช้หลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งรวมถึงเรื่องการกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 438 ด้วย 

เช่นเดียวกับเรื่องสัญญาทางปกครอง ว่า สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ นั้นสัญญาที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องรับผิดหรือมีหน้าที่กันอย่างไร ศาลปกครองก็ถือเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาและหนี้มาใช้เป็นหลักในการพิจารณา แม้แต่เรื่องอายุความสะดุดหยุดลงก็ยังนำเอาเรื่องการนับเวลาและอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 มาใช้ในคดีปกครองแล้วหลายเรื่อง

จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นไม่ได้ใช้บังคับแต่กับคดีแพ่งที่เป็นกฎหมายเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นกฎหมายทั่วไปที่ใช้ได้กับปัญหาทางกฎหมายทั้งปวงไม่ว่าจะในทางเอกชนหรือมหาชน ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายอื่นบัญญัติในเรื่องใดไว้เป็นพิเศษ หากเรื่องนั้นมีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ควรต้องถือบังคับตามหลักการที่กำหนดไว้นั้น 

เช่นเดียวกับเรื่องการนับระยะเวลาการใช้บังคับกฎหมายที่เมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดเรื่องการนับระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะก็จะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 193/1 ที่ว่าการนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่นและนับวันบังคับใช้ของกฎหมายตามหลักแห่งมาตรา 193/3 วรรคสอง ที่มิให้

นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน นั่นคือต้องนับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ซึ่งกรณีของกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ก็จะเริ่มนับวันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นวันที่แรกของ 120 วัน 

แต่ถ้ากฎหมายใดกำหนดวันบังคับใช้ไว้ชัดเจนแล้วโดยไม่ได้กำหนดให้ต้องนับวันใดๆ เช่น ให้ใช้วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะไม่มีกรณีใดให้ต้องนับนี่เอง ถ้าพิจารณาตามนี้แล้วจะเห็นว่าที่คำพิพากษาฎีกาที่ 70/2477 วินิจฉัยว่ากฎหมายให้ใช้บังคับในวันใดกฎหมายก็ย่อมมีผลใช้บังคับในวันนั้น มิใช่มีผลในวันรุ่งขึ้น ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางนี้

สำหรับเหตุผลของทางกฤษฎีกาที่ว่า การนับวันมีผลบังคับใช้ของกฎหมายมิใช่เป็นเรื่องการคำนวณนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็มิได้อธิบายถึงเหตุผลทางกฎหมายที่รองรับว่า ทำไมจึงไม่อาจนำเรื่องระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับเรื่องนี้ รวมถึงก็ไม่ได้อ้างว่ามีกฎหมายอื่นใดกำหนดให้ต้องนับวันแรกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเข้าไปด้วย ความเห็นดังกล่าวจึงออกจะเห็นพ้องด้วยยาก

การนับวันแบบประมวลกฎหมายแพ่งที่ว่านี้ยังสอดคล้องกับสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าความยุติธรรมตามธรรมชาติด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ แต่ผู้ที่ทำงานไต่เส้นตายต้องเข้าใจตรงกันแน่ๆ คือถ้าเจ้านายหรือลูกค้าของท่านมาสั่งงานด่วนไว้ ในเช้าวันพุธที่ 8 นี้ ในเวลา 19:00 . เข้าไปแล้ว และบอกว่าให้เวลาทำ 3 วันท่านอยากจะให้นับว่างานนี้จะต้องส่งภายในวันศุกร์ที่ 10 (โดยนับวันที่ 8 เป็นวันแรก) ซึ่งเอาเข้าจริงท่านอาจจะมีเวลาทำแบบเต็มวันจริงๆ เพียงวันพฤหัสวันเดียวเท่านั้น หรือจะถือว่าเริ่มนับวันแรกในวันถัดไป คือวันพฤหัสที่ 9 แล้วครบกำหนดวันเสาร์ที่ 11 (ซึ่งบางที่อาจจะอนุโลมให้ส่งในวันทำงานแรกคือวันจันทร์ที่ 13 ก็ยังได้) จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นว่าการนับวันเริ่มต้นแบบประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 193/3 นั้นออกจะสอดคล้องกับความยุติธรรมตามสามัญสำนึกมากกว่า

สุดท้ายนี้ผู้ที่ถือสาในทางมูเตลูยังกระซิบเพิ่มเติมมาว่า วันพุธที่ 22 มกราคม ในทางปฏิทินจีนถือเป็นวันมฤตยู ที่คงจะไม่เหมาะแก่การมงคลเช่นการตั้งครอบครัวใหม่ตามกฎหมาย ในขณะที่วันที่ 23 มกราคมอันเป็นวันพฤหัสถือเป็นดิถีเรียงหมอนที่เหมาะแก่การวิวาห์มากกว่าอีกต่างหาก เช่นนี้การที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้วันแรกในวันดังกล่าวก็เข้ากันดีอยู่กับเหตุผลนี้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image