สิงห์บุรีกับ1ล้าน5แสนก้าว…ศิริราช และเรื่องเล่า Health Literacy : โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

สิงห์บุรีเป็นจังหวัดตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานคร 142 กิโลเมตร มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนช่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี” หลวงพ่อชื่อดังๆ ระดับเกจิ ในอดีต : หลวงพ่อเจ๊ก หลวงพ่อบุดดา หลวงพ่อจวน หลวงพ่อแพ หลวงพ่อจรัญ ฯลฯ เป็นถิ่นวีรชนคนกล้า ว่าด้วย นายแท่น นายอิน นายเมือง นายโชติ นายดอกไม้ นายทองแก้ว นายขุนสรรค์ นายพันเรือง นายทอง แสงใหญ่ นายจันหนวดเขี้ยว นายทองเหม็น สิงห์บุรีเป็นเมืองคนดี วันนี้จึงขอเล่าเรื่องดีๆ เมืองสิงห์เมื่อ 3-4 วันที่ผ่าน

16 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญ คือ โครงการ “หนึ่งล้านห้าแสนก้าวศิริราชและพสกนิกรไทยร่วมวิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่-ศิริราช” ตีห้า เริ่มสตาร์ตจากโรงพยาบาลสิงห์บุรี ซึ่งมีพิธีถวายความเคารพพระรูป สมเด็จพระบิดาฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10

นำโดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.พะเยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ผอ.รพ.สิงห์บุรี ก่อนทีมวิ่งของนิสิตแพทย์ศิริราช และชมรมวิ่งจังหวัดสิงห์บุรีจะเคลื่อนขบวนไปสู่บริเวณเทวาลัยพระพรหม ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายพาศิน โกมลวิทย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการวิ่ง

พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี อินทร์บุรี พรหมบุรี บางระจัน ฯลฯ มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง และยังมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดารานักร้องนักแสดง อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ เชียร์-ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ ทอฟฟี่สามบาทห้าสิบ ศิวดล จันทนเสวี หลังผู้ว่าราชการจังหวัดลั่นฆ้องชัยเพื่อปล่อยตัวนักวิ่งและเป็นประธานนำคณะนักศึกษาแพทย์ศิริราชวิ่ง โครงการวิ่ง “1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช” และประชาชนนับร้อยคน

Advertisement

สำหรับโครงการวิ่ง “1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช” นับเป็นโครงการที่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ เนื่องด้วยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยชมรมกรีฑาและนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดกิจกรรมวิ่งดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาการแพทย์ปัจจุบันของไทย”

พร้อมทั้งร่วมสืบสานพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการวิ่งผลัดโดยนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 20 คน เส้นทางจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา มุ่งสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเส้นทางเสด็จทรงงานด้านการแพทย์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมระยะทางวิ่งประมาณ 750 กิโลเมตร

Advertisement

โดยยอดเงินที่คนเมืองสิงห์บุรีร่วมกันบริจาคให้กับ รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานที่ปรึกษาโครงการเป็นจำนวน 830,000 บาท เมื่อรวมกับยอดบริจาคนับแต่วันเริ่มต้นที่ผ่านมา ทำให้มียอดรวม (วันที่ 16 มีนาคม ณ จังหวัดสิงห์บุรี) จำนวน 50,848,627 บาท เพื่อจะได้นำไปร่วมกันสร้างอาคาร “นวมินทรบพิตร 84 พรรษา” อันเป็นอาคารหลังสุดท้ายของโรงพยาบาลศิริราชที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไป

ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าศิริราชรุ่น 77 และชาวเมืองสิงห์ทั้งมวลตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี และประชาชนสิงห์บุรี รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองสิงห์บุรี อันได้แก่ ดวงวิญญาณหลวงแพ หลวงพ่อจรัญ วีรชนชาวบ้านบางระจัน ขอส่งกำลังใจและอำนวยพรให้ทุกๆ ท่านวิ่งถึงจุดหมายตามปณิธานที่ตั้งไว้ และการสร้างอาคาร “นวมินทรบพิตร 84 พรรษา” จงบรรลุสำเร็จลุล่วงตามที่ตั้งเป้าหมายทุกประการ

ว่าด้วยเรื่องการสร้างอาคารอันเป็นมหากุศลเพื่อรองรับดูแล รักษาผู้เจ็บป่วยแล้ว ผู้เขียนขอถือโอกาสสื่อสารข่าวด้าน “ส่งเสริมสุขภาพ” ป้องกันไม่ให้ป่วยบ้าง น่าจะมีประโยชน์ได้ยิ่งขึ้นและเป็นผลดีต่อประชาชนที่ยังไม่ป่วยจะได้แข็งแรง โดยท่านอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร กระทรวงสาธารณสุข ของเราเป็นหัวเรือใหญ่ ให้ความสำคัญในการ “ส่งเสริมสุขภาพ” กล่าวคือ รณรงค์ให้มีการดูแลสุขภาพแบบ “สร้าง นำ ซ่อม” โดยเน้นจะยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทยทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยทอง วัยสูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ

จึงได้จัดงานประชุมที่ยิ่งใหญ่ชื่อว่า Health Literacy Forum 2017 “Health Literacy : A Challenge for Contemporary Health Education in Thailand” ขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ระหว่างเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายปฏิบัติการในภูมิภาคให้มีการดำเนินงานพัฒนาและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งกำหนดการจัดงานใช้เวลา 2 วัน คือ วันที่ 22 และ 23 มีนาคม 2560 โดยมีวิทยากร คือ Professor Don Nutbeam จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดและ Model Health Literacy ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรพิเศษจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายจากกรมอนามัย กรมควบคุมโรค สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดข้อเสนอแนะ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมทั้งสถาบันการศึกษา จัด ณ โรงแรมเอเชีย พญาไท กรุงเทพมหานคร

อนึ่ง สืบเนื่องจากการประชุมส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2552 ณ ไนโรบี ประเทศเคนยา องค์การอนามัยโลกกับมวลประเทศสมาชิกกว่า 170 ประเทศ ได้ให้ความสำคัญและเชิญชวนให้ทุกประเทศหันมามุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ประกอบฐานรากของความรอบรู้ด้านสุขภาพของปัจเจกบุคคลและการปฏิบัติที่ส่งผลต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น คำว่า “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” หรือภาษาอังกฤษที่ว่า “Health Literacy” จึงเป็นแนวคิดในการพัฒนา “ความสามารถและทักษะ” ของประชาชนเพื่อการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ซึ่งตรงกับข้อเสนอของ WHO ที่กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถระดับบุคคลในการธำรงรักษาสุขภาพของตนเองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการโรคเรื้อรัง ที่เราเรียกว่า NCD : Noncommunicable diseases อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคจิต ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลกไม่เว้นประเทศไทย”

ดังนั้น เพื่อการพัฒนาด้านสุขภาพของประเทศไทยควรจะต้องเริ่มยกระดับพัฒนา ปรับปรุง อย่างเร่งด่วนให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการบูรณาการและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบันด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้เน้นให้ความสำคัญ เรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐ” รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ประเด็นสำคัญคือ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการมีงานทำอย่างมีความสุข ผ่อนคลายความตึงเครียด ความเหงา ว้าเหว่ เน้นการมีลูกกตัญญูเพื่อดูแลพ่อแม่ และผู้มีพระคุณ สร้างความผูกพันและความห่วงใยผู้สูงวัยหรือมีกิจกรรมที่เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นการสร้างสรรค์และไม่ก่อให้เป็นภาระต่อสังคมในอนาคต

รวมถึงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเน้นการดูแลตนเองด้วยการสร้างสุขภาพมากกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วจึงมารักษา ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระแก่ผู้อื่นและสังคม ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบบริการสุขภาพที่เข้มแข็ง มีคุณภาพมากยิ่งๆ ขึ้น และยั่งยืน ด้วยการแปลง Disease Oriented ให้เป็น Health Promotion สู่ Primary Health Care โดยประชาชน (อสม.) เพื่อประชาชนที่สื่อสารรู้เข้าใจด้วย และปฏิบัติได้ด้วยตัวของประชาชนเอง

สำหรับประเทศไทยเรานั้น หากกรมต่างๆ ทุกกรมหรือกระทรวงสาธารณสุข ร่วมใจกันจัดการบริการระบบสุขภาพเพื่อให้เท่าเทียมกันได้นั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไร Health Literacy จึงจะเกิดผลลัพธ์กับประชาชนอย่างถ้วนหน้าในด้าน… “ทักษะด้านการคิดด้วยปัญญา” และ “ทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”ในการรู้ เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิบัติทำให้เกิดการ “พัฒนา” ให้ดีขึ้นๆ ด้วยเกิดการจูงใจตนเองมีแรงบันดาลใจของตนเอง อยากรู้อยากทำและมีการตัดสินใจด้วยตนเองในการที่จะเลือกวิถีชีวิตในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้อง และสบายใจอย่างมีความสุขที่ได้ทำ

เป็นเสมือน “กุญแจแห่งความสำเร็จ”(Key Success) สู่ผลลัพธ์ของงาน “สุขศึกษา”(Health Education) หรือ “งานสร้างสุขภาพ” (Health Promotion) และหรือการ “สื่อสารสุขภาพ” (Health Communication) ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นกระบวนการทำให้เกิดการ “พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ” โดยตรง
ผู้เขียนเองเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงเห็นด้วยและยอมรับ หาก “กระทรวงสาธารณสุข” โดย “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมทั้งรัฐและเอกชน อาสาสมัคร ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ตระหนักและใส่ใจว่า “สุขภาพ” เป็น “ของเรา” เอง เราไม่ดูแลไม่ป้องกันไม่ส่งเสริมสุขภาพด้วยการ “สร้าง นำ ซ่อม” แล้วจะให้ใครทำแทนให้ตัวเรา อยากบอกว่า “สุขภาพดี เริ่มต้นที่ตัวเรา” และทำเดี๋ยวนี้ ด้วยการที่ทุกๆ คนต้องมี “Health Literacy” ที่ดี

และปฏิบัติอย่างถูกต้องเท่านั้น ปัญหาโรคเรื้อรัง NCD จะคลี่คลายได้นะครับ

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image