ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
---|
หากเราคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 นี้ จะมีการเลือกตั้งขึ้นในพม่า สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือสถานการณ์จะคลี่คลาย (หรือไม่คลี่คลาย) ไปแบบใด จากการประมวลข้อมูลและการพูดคุยกับผู้คนจากฝ่ายต่อต้านจำนวนหนึ่งมาตลอดปี 2024 ผู้เขียนขอเขียนถึงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สันติภาพในพม่า ทั้งเงื่อนไขที่อาจเกิดขึ้นได้และอุปสรรคที่อาจจะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นไม่ได้เลย มีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
1.การเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2025 นี้มีปัญหาทั้งในเชิงหลักการและเชิงหลักปฏิบัติมากมาย ด้วย SAC กับกองทัพพม่า ไม่ได้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ และสูญเสียพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเฉพาะในเขตที่ SAC ยังคงควบคุมได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีมากนัก มีเพียงเขตอิรวดี เขตย่างกุ้ง และเขตพะโคกับเขตตะนาวศรีบางส่วน กับรัฐฉานตอนใต้ ที่ SAC/กองทัพพม่าพอจะ “เอาอยู่” นอกเหนือจากนี้ พื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้กองกำลังฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีพื้นที่ไม่มากที่จะได้เลือกตั้ง SAC จะใช้ข้ออ้างนี้เพื่ออ้างความชอบธรรมว่าตนได้สร้างความปรองดองแล้ว และการเลือกตั้งก็คือทางลงอย่าง “ชอบธรรม” ของ SAC คำถามที่หลายคนสงสัยคือ หากการเลือกตั้งมีขึ้นในบางพื้นที่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ พม่าจะกลายเป็น 1 ประเทศ ที่มี 2 ระบบ หรืออาจจะเป็น 3 หรือ 5 ระบบก็ได้ ระบบหนึ่งคือรัฐบาลชุดใหม่ที่ทหารยังจะมีบทบาทนำอยู่ ระบบต่อมาคือระบบของฝ่ายต่อต้าน ที่ก็จะพยายามสถาปนาการปกครองของตนเองขึ้นและมีรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อบริหารจัดการเรื่องที่จำเป็น ได้แก่ การจัดเก็บภาษี การศึกษา และสาธารณสุข คู่ไปกับปีกกองทัพของแต่ละกลุ่ม ที่จะยังมีอยู่ต่อไป ระบบที่น่าสนใจที่ต้องพูดถึง คือ กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มมีแนวคิดว่าด้วย “รัฐ” แตกต่างจากกลุ่มอื่น เช่น AA หรือกองทัพอาระกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่าเขาต้องการสถาปนาสหภาพสหพันธ์ (Federal Union) ที่มีพรรคการเมืองเดียวควบคุม ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังคงมีเป้าหมายจะมีรัฐสภาและแบ่งกระทรวงทบวงกรมเป็น 7-9 กระทรวง เพื่อให้บริหารงานได้คล่องขึ้น (ต่างจากรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่ปัจจุบันมีถึง 17 กระทรวง) อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังมองว่าเหตุการณ์หลังการเลือกตั้งยังจะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะในความคิดของฝ่ายต่อต้าน การรบ การยึดฐาน (ทหาร) และการยึดพื้นที่ ดูจะมีความสำคัญมากกว่าการวางแผนและวางโครงสร้างการบริหารภาครัฐ โดยเชื่อว่าหากไม่สามารถกำจัดรัฐบาลทหารพม่าออกไปอย่างถาวร ก็คงยากที่จะสถาปนารัฐบาลท้องถิ่น (Local Government) ที่สมบูรณ์
2.กองทัพอาระกัน หรือ AA เป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจที่สุดในขณะนี้ พวกเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในช่วงเดียวกัน เหตุผลหลัก 2 ประการ คือ AA เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสามพี่น้อง ที่จีนให้การสนับสนุน แม้ในเวลานี้ AA อาจจะไม่มีความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นที่สุดกับจีน เพราะจีนเริ่มหันมาสนับสนุน SAC เพื่อมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ AA ก็ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านอาวุธ ยุทธวิธี และอื่นๆ จากจีน เพียงพอให้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในพม่าในขณะนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ AA ได้เปรียบกองกำลังอื่นๆ ในพม่า เพราะมีทางออกสู่ทะเล มีทางเลือกนำเข้าอาวุธและกระสุนจากหลายที่ AA เป็นเหตุผลหนึ่งที่กองทัพพม่ามองว่าต้องมีเรือดำน้ำ ปัจจุบันพม่ามีเรือดำน้ำถึง 3 ลำ และยังมีเรือคอร์เวตต่อต้านเรือดำน้ำอีก 2 ลำ เพื่อปกป้องความมั่นคงทางทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ทั้งที่เป็นความมั่นคงภายในประเทศ อย่างในกรณีของ AA กับภัยคุกคามภายนอกประเทศ อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินจากอดีตทหารในกองกำลังฝ่ายต่อต้านคนหนึ่ง คือ พื้นที่รัฐอาระกันอยู่ติดประเทศอินเดีย ที่ไม่มีนโยบายเปิดรับทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงานจากพม่า ทำให้เมื่อ AA เพลี่ยงพล้ำ กองกำลังฝั่ง AA ไม่สามารถหนีเข้าไปในอินเดีย หรือประกอบกิจการใดในอินเดียได้ ต่างจากกรณีของกองกำลังที่อยู่ติดชายแดนไทย ที่แม้จะพ่ายแพ้กองทัพพม่ามาหลายครั้งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เคยแพ้เด็ดขาด เพราะหลบหนีเข้ามาในฝั่งไทยได้ เมื่อได้ยินข้อถกเถียงนี้ครั้งแรก ผู้เขียนถึงกับหัวเราะ เพราะคิดว่าเป็นข้อสรุปที่เถรตรงเกินไปหน่อย แต่เมื่อนำกลับมาคิดสักระยะ ผู้เขียนก็เริ่มเห็นว่าอดีตนายทหารคนนั้นมีเหตุผลน่าสนใจเลยทีเดียว
3.เขตบะโก (Bago Region) จะเป็นพื้นที่ต่อสู้หลักระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน PDF หลังรัฐประหาร ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว หนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทย-พม่า ทำให้กำลังพลของ PDF ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นชายแดนไทย-พม่า หรือไทย-อินเดีย ข้อตกลงระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับ PDF ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ คือ หลัง PDF ฝึกฝนไประยะ ก็จะเริ่มเคลื่อนพลกลับเข้าไปในเขตเมือง ในเขตพม่าแท้ ทั้งในพม่าตอนล่างและพม่าตอนบน พื้นที่ใกล้ชายแดนที่ PDF ยังไม่สามารถยึดได้มากนัก คือเขตบะโก ที่ติดมักก่วยทางเหนือ และเขตของกองพลน้อยที่ 2 และ 3 ของกะเหรี่ยง KNU ทางตะวันออก เราจะได้เห็นการต่อสู้ในเขตบะโกมากขึ้น ในมุมของ PDF หากยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตบะโกได้ เท่ากับว่ากองกำลังของพวกเขาจะขนาบเมืองหลวงเนปยีดอทางภาคใต้ไว้ได้ นอกจากนี้ บะโกยังอยู่ติดกับเขตย่างกุ้ง พื้นที่ตรงนี้จึงมีความสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารของ PDF ที่ต้องการจะยึดเมืองขนาดเล็กและกลางๆ ให้ได้มากที่สุด
ข้อสรุปในปี 2025 นี้ แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่รัฐบาลใหม่จะไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำได้ การสู้รบยังจะมีอย่างต่อเนื่อง หนทางเดียวที่จะลดระดับความรุนแรงได้คือการเจรจา อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับผู้นำฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่ม พวกเขาไม่พร้อมจะเจรจากับ SAC หรือกองทัพพม่า เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายหลังยอมรับข้อเสนอของพวกเขาแบบไม่มีเงื่อนไข หนึ่งในข้อเสนอนั้นคือทหารในกองทัพพม่าทั้งในระดับสูงและระดับปฏิบัติการที่มีส่วนร่วมกับประหัตประหารประชาชนจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถูกลงโทษผ่านระบบยุติธรรมที่เหมาะสม เมื่อเพดานที่ฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มสูงเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าโอกาสที่สงครามครั้งนี้จะลงเอยด้วยการเจรจา และแปรเปลี่ยนไปเป็นข้อตกลงหยุดยิง ยังเป็นอนาคตที่ไกลโพ้นอยู่ แต่ไม่แน่ว่าหากมีอุบัติเหตุทางการเมืองสักอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบปุบปับเลยก็เป็นได้!