เป็นเรื่องปกติที่เรามักจะเห็นการวิพากษ์การ “เสพติด” โทรศัพท์มือถือของคนอยู่เนืองๆ
การวิพากษ์ทำนองนี้อาจมาในลักษณะของข้อเขียนที่บอกว่าการติดมือถือทำให้เราลด “การเข้าสังคม” ลงอย่างไร หรือมาในรูปแบบการ์ตูนที่พยายามเสนอแง่มุมที่ (คนเขียนคิดว่า) แหลมคม ว่าคนยุคนี้ติดไลค์ ติดการยอมรับจากเพื่อนฝูง ในขณะที่ไม่ค่อยให้ความสัมพันธ์กับบุคคลตรงหน้า หรือกระทั่งมาในรูปแบบเซตภาพถ่าย อย่างเช่น ล่าสุด มีศิลปินคนหนึ่งบรรจงรีทัชภาพโทรศัพท์มือถือออกจากฉากประจำวันทั่วๆ ไป แล้วสื่อก็เอาไปบรรยายว่าดูสิว่าเมื่อเรานำโทรศัพท์มือถือ (หรืออุปกรณ์เชื่อมต่ออย่างแท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์) ออกไปจากฉากแล้ว ชีวิตเรา “ว่างเปล่า” เพราะเรา “จ้องพื้นที่เปล่าๆ” มากเพียงไร (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า hollow)
เมื่อเราพูดว่าเราเสพติดมือถือ การใช้คำว่า “addict” หรือเสพติด ก็อาจทำให้เราคิดว่าการเสพติดมือถือนั้นร้ายแรงหรือรุนแรงเหมือนกับการเสพติดยา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การเสพติดทั้งสองสิ่งจะส่งผลซึ่งกันและกันอย่างไรไหม
บทความจาก The New York Times ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการเสพยาในวัยรุ่นยุคใหม่ลดลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญมาเป็นทศวรรษแล้ว โดยที่นักวิจัยก็ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร ถ้าต้องให้เดา (อย่างมีหลักการ) ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เดาว่ามันคงไปสัมพัทธ์กับการสูบบุหรี่ที่ลดลง เพราะ “บุหรี่” เป็น “ยาเสพติดทางเข้า” (Gateway Drug) ที่จะนำไปสู่ยาเสพติดที่มีความรุนแรงขึ้นชนิดอื่นๆ ซึ่งการสูบบุหรี่ที่ลดลงก็อาจมาจากการต่อต้านบุหรี่ของคนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น, แคมเปญของรัฐ และความตื่นตัวเรื่องสุขภาพที่ถูกสื่อสารออกมาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น หรือการควบคุมยาเสพติดเชิงนโยบายที่ได้ผลมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่มีใครสามารถจะปักหมุดลงไปได้อย่างตรงเผงว่า แท้จริงแล้ว-ที่วัยรุ่นเสพยาเสพติดลดลงนั้น เป็นเพราะอะไร
จนกระทั่งตอนนี้ มีผู้ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างน่าสนใจว่า – “หรือการติดมือถือ จะมาทดแทนการติดยา”
อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีนะครับ โดยส่วนตัวผมก็ไม่คิดว่านี่เป็นปัจจัยปัจจัยเดียวเหมือนกัน เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าการติดมือถือนั้นทำให้คนติดยาลดลงแน่ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเทคโนโลยีการสื่อสารที่ครอบคลุมขึ้น เข้าถึงมากขึ้น จะทำให้คนบางกลุ่ม “เข้าถึง” ยาเสพติดได้ง่ายขึ้น
แต่นี่ก็ยังเป็นสมมุติฐานที่น่าฟัง-แน่นอนว่านักวิจัยก็ระมัดระวังที่จะไม่ด่วนสรุปว่า “ในช่วงเวลาที่โทรศัพท์มือถือแพร่หลายมากขึ้น การใช้ยาของวัยรุ่นลดลง นี่ต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันแน่ๆ” แต่พวกเขาก็ศึกษาลงลึกไปว่า การเสพสื่อหลากหลาย (มัลติมีเดีย) ผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั้น ให้ผลคล้ายกับการเสพยา นั่นคือ มันสามารถกระตุ้นเร้าจิตให้มีสภาพอารมณ์ต่างๆ นานาได้
“วัยรุ่นจะรู้สึกฮาย (high) เมื่อได้เล่นเกมบนมือถือ เหมือนกับเสพยาเลยนั่นแหละ” นักวิจัยบอก
ประธานสถาบันต่อต้านการเสพยาแห่งสหรัฐ บอกว่าในตอนนี้ กระทั่งการใช้ยาเสพติดที่หลายคนเชื่อว่า “เพื่อความบันเทิง” อย่างกัญชา ก็ลดลงจนต่ำสุดในรอบ 40 ปีแล้วในกลุ่มเด็กมัธยมปลาย รวมไปถึงการใช้ยาเสพติดที่ร้ายแรงกว่าเช่น โคเคน สารหลอนประสาท กระตุ้นประสาท และเฮโรอีนด้วย ในทุกกลุ่มเด็ก โดยไม่จำกัดที่สถานะ ที่อยู่ หรือฐานะ
อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนการเสพยานั้นก็มีข้อโต้แย้งอยู่ เช่น สถิติการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน
แล้ววันนี้ก็มีภาพ “คนยุคนี้ติดมือถือจนไม่ได้คุยกัน” กระเด้งกระดอนขึ้นมาบนโลกออนไลน์อีกครั้ง
ทุกครั้งที่มีภาพที่ “กระตุ้นเร้าความรู้สึก” แบบนี้ผุดขึ้นมา เราก็มักจะเห็นว่ามีคนแชร์คนไลค์กันอย่างล้นหลาม ซึ่งจะว่าไปมันก็ค่อนข้างย้อนแย้งในตัวเองเหมือนกันนะครับ, ที่เราจะเผยแพร่ภาพที่ “มีนัยยะต่อต้านหรือชวนให้คิดเรื่องการเชื่อมต่อ” ผ่านทางสื่อที่เชื่อมต่อที่สุดอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ก และใช้พลังของโซเชียลเน็ตเวิร์กในการแพร่กระจายสารออกไปด้วย
เมื่อเรามองย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้า เราก็จะเห็นว่ากระทั่งในยุคที่หนังสือพิมพ์เริ่มรุ่งเรือง (หรือกระทั่งหนังสือ) ก็มีการวิพากษ์ในลักษณะเดียวกันออกมาเช่นกัน ว่าหนังสือพิมพ์ และหนังสือทำให้คนไม่ “เชื่อมต่อกัน” คน “หลง” ไปในโลกส่วนตัว สังคมคงจะแย่แล้ว ฯลฯ
แต่เราก็ผ่านมันมาได้-และผมคิดว่าเราก็จะผ่าน (หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับ) โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เชื่อมต่อโดยจิกกัดหรือวิพากษ์มันแบบแกนๆ น้อยลงเช่นกัน แล้วสังคมก็จะค่อยๆ ปรับเข้าสู่สมดุลใหม่ ที่ไม่มองเทคโนโลยีในแง่ดีหรือร้ายเกินไป แต่มองมันในแง่จริง
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล