ภาพเก่า..เล่าตำนาน : อนุสาวรีย์นี้…ท่านได้แต่ใดมา? : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

รูปหล่อโลหะสำริดขนาดมหึมา ยืนโดดเด่นบนเกาะเล็กๆ ในอ่าวนิวยอร์ก ล้อมรอบด้วยน้ำทะเลสีฟ้า ถูกนำไปเป็นสัญลักษณ์ในหลายโอกาส ใครๆ ก็อยากไปสัมผัส คนอเมริกันไม่ได้สร้างขึ้นเอง งานศิลปะที่สง่างาม ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าทางจิตใจชิ้นนี้ เป็นของขวัญที่ประชาชนฝรั่งเศสพร้อมใจกันออกแบบ สร้าง และมอบให้ชาวอเมริกันเป็นของขวัญครับ

ในภาษาอังกฤษเรียกอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า Statue of Liberty เดิมเรียกกันว่า Liberty Enlightening the World ตั้งอยู่ ณ ตอนใต้ของเกาะลิเบอร์ตี้ (Liberty) อ่าวนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งประชาชนชาวฝรั่งเศสมอบให้แก่ชาวอเมริกัน ในโอกาสที่อเมริกาเฉลิมฉลองวันชาติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2419

21 เมษายน พ.ศ.2408 ที่เมืองกลาติญี่ โมแซล (Glatigny, Moselle) ประเทศฝรั่งเศส คณะกรรมการฟรังโก-อเมริกัน จัดการประชุมและมีมติจะออกแบบจัดสร้างอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพให้แก่ชาวอเมริกันที่สร้างชาติมาครบ 100 ปี โดยมีนายเอดดูวาด เดอ ลาบูลาเย เป็นประธาน คณะทำงานออกเดินทางไปยังสหรัฐเพื่อศึกษาความต้องการและความเป็นไปได้ ข้อตกลงในขั้นต้นคือ ฝ่ายอเมริกันเจ้าของบ้านจะรับผิดชอบส่วนที่เป็นฐานของอนุสาวรีย์ ฝรั่งเศสจะรับผิดชอบเรื่องรูปหล่อซึ่งจะจัดทำในฝรั่งเศส

เงินทุนจะขอรับบริจาคจากเอกชนประมาณ 250,000 เหรียญสหรัฐ

Advertisement

สถาปนิกหนุ่มฝรั่งเศสไฟแรงชื่อ เฟรเดอริก ออกุสต์ บาร์ทอลดี (Frederick Auguste Bartholdi) รับอาสาที่จะออกแบบของขวัญชิ้นนี้ให้ยิ่งใหญ่อลังการ เป็นหนึ่งเดียวในโลกและต้องสื่อความหมายถึงเสรีภาพ อิสรภาพ

บาร์ทอลดี เริ่มงานของสถาปนิกในปารีส โดยใช้มารดาของเขาเป็นนางแบบ เริ่มด้วยทำรูปจำลองด้วยปูนปลาสเตอร์สูง 9 ฟุต 1 รูป และสูง 36 ฟุต อีก 1 รูป ในที่สุดก็สามารถกำหนดสัดส่วนของเทพีแห่งเสรีภาพได้ ตัวอนุสาวรีย์ก่อสร้างขึ้นด้วยโลหะผสมทองแดงกับเหล็กเพื่อความแข็งแกร่ง ในการนี้ต้องตีแผ่นทองแดงมากกว่า 300 แผ่น น้ำหนักรวม 90 ตัน

Advertisement

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอเมริกันก็เริ่มงานสร้างฐานอนุสาวรีย์ไปพร้อมกัน โดยได้เลือกสถานที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์นี้ที่เกาะเบดโล ซึ่งชื่อเกาะนี้ตั้งตามชื่อของเจ้าของดั้งเดิมคือ ไอแซค เบดโล (Isaac Bedloe) โดยเริ่มงานสร้างรากฐานเมื่อ พ.ศ.2424 เมื่องานก่อสร้างเริ่มขึ้น โครงการต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง เพราะขาดเงินสนับสนุน แต่ต่อมา นายโจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer) บรรณาธิการผู้มีชื่อเสียงของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิลด์ ได้รณรงค์หาทุนให้โดยขอรับบริจาคจากมหาชนใน พ.ศ.2428 ทำให้งานก่อสร้างรากฐานสำเร็จลุล่วงในปลายปีนั้น

ความตั้งใจดีทั้งหลายสะดุดหยุดลงหลายครั้งทั้งฝั่งอเมริกาและฝรั่งเศส เพราะต้องทำงานข้ามโลกร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ส่วนฐานขนาดมหึมาของอนุสาวรีย์เจ้าของบ้านคืออเมริกาจะต้องรับผิดชอบ ส่วนตัวอนุสาวรีย์จะสร้างในฝรั่งเศส ส่วนที่ยากที่สุดคือการระดมเงิน และงบประมาณบานปลาย

ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็จะต้องทำให้สำเร็จ นายกุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffle) วิศวกรผู้ออกแบบหอไอเฟลที่ปารีสเข้ามาช่วยทำงานชิ้นนี้ด้วย โดยบาร์ทอลดี ออกแบบหน้าตา รูปทรงภายนอกของตัวเทพี ส่วนวิศวกรไอเฟล รับผิดชอบด้านโครงสร้างภายใน

ในระหว่างการทำงานหล่อแบบในปารีส ฝรั่งเศสขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในการหล่อรูปปั้นที่ต้องใช้คนงานราว 300 คน ปูนปลาสเตอร์ที่เป็นเบ้าหล่อแตกนับครั้งไม่ถ้วน

มีเสียงซุบซิบนินทาว่างานนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า สถาปนิกเลยต้องใช้จิตวิทยา นำชิ้นส่วนที่หล่อเสร็จคือ มือที่ถือคบเพลิง ไปตั้งวางในสวนกรุงปารีสและเผยแพร่ภาพทางหนังสือพิมพ์ให้ชาวอเมริกันเห็นเพื่อความอุ่นใจ

เริ่มงานในปี พ.ศ.2419 สำเร็จลุล่วงในปี พ.ศ.2427 หลังงานรูปหล่อเทพีสันติภาพประกอบแล้วเสร็จยังถูกนำไปตั้งแสดงในสวนกลางกรุงปารีสอีก 1 ปี ก่อนที่จะถอดประกอบแล้วนำใส่เรือไปนิวยอร์กในปี 2428

สถาปนิกฝีมือขั้นเทพของฝรั่งเศสใช้หลักปรัชญาและรูปแบบการแต่งกายของเทพเจ้า (ผู้หญิง) ของโรมัน เป็นแนวคิดในการออกแบบ ร่างกายของเทพีเสรีภาพห่มด้วยเสื้อคลุมจรดปลายเท้า มือขวาชูคบเพลิง มือซ้ายถือแผ่นจารึกคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ และมีอักษรสลักว่า “JULY IV MDCCLXXVI” หรือวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ข้อเท้าข้างหนึ่งของเทพีมีโซ่เหล็กที่ขาดออก มีความหมายว่าหลุดพ้นจากการเป็นทาส มีอิสรภาพ เสรีภาพ

เทพีสันติภาพถูกออกแบบให้สวมมงกุฎ 7 แฉก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทวีปทั้งเจ็ด เทพีมีรูปร่างสง่างามภายในตัวอนุสาวรีย์มีบันไดวนรวมทั้งสิ้น 167 ขั้น เกิดขึ้นตามแนวคิดของเอดูอาร์ด เดอ ลาบูลาเย นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสระหว่างการปฏิวัติอเมริกัน

ส่วนฐานของอนุสาวรีย์สร้างโดยสหรัฐอเมริกา จารึกโคลงซอนเนต์ (Sonnet) ของกวีชาวอเมริกัน เอมมา ลาซารัส (Emma Lazarus) ซึ่งมีเนื้อหาต้อนรับผู้อพยพที่เข้าอยู่มาในอเมริกา ซึ่งย้อนหลังไปราว 200 ปี คนจากทั่วโลกโดยเฉพาะชาวยุโรปที่ต้องการเสรีภาพ อิสรภาพแห่กันลงเรือมุ่งหน้าสู่แผ่นดินที่เรียกกันว่า “โลกใหม่” (New World) เพื่อไปตั้งรกราก จับจองพื้นที่ทำมาหากินในดินแดนที่กว้างใหญ่สุดขอบฟ้า สร้างชาติ สู้รบ แล้วรวมดินแดนขึ้นมาใหม่เรียกว่า สหรัฐอเมริกา

ปีแล้วปีเล่า เรือเดินสมุทรนำผู้อพยพนับแสน นับล้าน สูงต่ำดำเตี้ย พูดกันคนละภาษา ร้อยพ่อ

พันแม่ ที่ตัดสินใจจะมาสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกา ต่างใฝ่ฝันรอคอยที่จะเห็นเทพีสันติภาพแห่งนี้ด้วยตาตนเองในขณะที่เรือแล่นในอ่าว เพราะนั่นคือ การมาถึงอเมริกาตามที่ใฝ่ฝัน เทพีสันติภาพยังสื่อความหมายถึงการต้อนรับผู้แสวงหาเสรีภาพสู่อเมริกา
แฝดสยามอิน-จัน ที่นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พาตัวไปจากสมุทรสงคราม ก็ไปขึ้นเรือที่เมืองบอสตันเมื่อ พ.ศ.2391 และต่อมาแฝดสยามคู่นี้ได้เดินทางจากนิวยอร์กข้ามหาสมุทรแอตแลนติกไปแสดงตัวในยุโรปหลายครั้ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

ความใหญ่โตของตัวอนุสาวรีย์ทำให้ต้องแยกส่วนเป็นชิ้นๆ ลงเรือแล้วมาประกอบขึ้นใหม่ที่อเมริกา มีชิ้นส่วนรวมทั้งหมด 350 ชิ้น และนำมาประกอบขึ้นใหม่โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน แต่ส่วนฐานพบว่ามีการสร้างเสร็จในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2429

ส่วนของอนุสรณ์รูปเทพีได้เดินทางมาถึงนครนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2428 โดยจัดเป็นชิ้นๆ บรรจุในหีบใหญ่ถึง 214 หีบ เมื่อมาถึงแล้วจึงนำชิ้นส่วนมาต่อกันและติดตั้งเป็นรูปร่างที่บนป้อมของเกาะลิเบอร์ตี้ รูปหล่อสำริดนี้หนัก 254 ตัน

ตั้งแต่เวลาเย็นจนถึงกลางคืน ไฟจากคบเพลิงของเทพีเสรีภาพนี้จะเปล่งแสงสว่างผู้ที่ไปเยือนเพียงยืนอยู่ที่ฐานของอนุสรณ์สถานก็จะรู้สึกได้ถึงความใหญ่โตมโหฬารของอนุสาวรีย์แห่งนี้ เทพีแห่งเสรีภาพนี้สูง 93.3 เมตร (306 ฟุต 8 นิ้ว) นับจากส่วนล่างถึงยอดคบไฟ เฉพาะตัวเทพีสูง 46.4 เมตร

ตามปกติแล้ว ทางการจะเปิดให้ประชาชนสามารถขึ้นไปชมวิวบนส่วนหัวมงกุฎของเทพีได้ แต่หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ.2544 ทางการได้สั่งปิดอนุสาวรีย์ดังกล่าวชั่วคราว

ล่าสุด ต่อมาจึงเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปที่เกาะลิเบอร์ตี้ เพื่อชมความสวยงามของอนุสาวรีย์จากด้านล่างได้ แต่ตัวอนุสาวรีย์ยังคงปิดอยู่ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่ส่วนฐานของอนุสาวรีย์ ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย

28 ตุลาคม พ.ศ.2429 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.5) อากาศแจ่มใส ท้องทะเลเป็นสีฟ้าสด ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ได้ประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแห่งเสรีภาพ นายบาร์ทอลดี และ เฟอดินัน เดอ เลสเซน ซึ่งเป็นผู้สืบทอดงานจากนาย

ลาบูลาเย มาร่วมงานด้วย และในพิธีเปิดครั้งนั้นได้มีเหตุการณ์ขลุกขลักเกิดขึ้นเล็กน้อย คือ ขณะที่วุฒิสมาชิกกำลังอ่านคำปราศรัย เจ้าหน้าที่ในพิธีให้สัญญาณเปิดผ้าคลุมร่างเทพีสันติภาพออกก่อนกำหนด มีการยิงสลุตด้วยปืนใหญ่ ชาวเรือในอ่าวต่างตะโกนกู่ก้อง และฝูงชนที่มาชุมนุมร่วมพิธีเปิดต่างโห่ร้องแสดงความยินดีกันลั่นอ่าวนิวยอร์ก ขณะที่ผ้าคลุมเทพีเปิดออกเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าวุฒิสมาชิกยังคงอ่านคำปราศรัยไม่จบและยังคงอ่านต่อไป เลยกลายเป็นเรื่องตลกเฮฮาตามประสาคนอเมริกัน

อนุสาวรีย์แห่งนี้คือความภาคภูมิใจของคนอเมริกันในเรื่องเสรีภาพ เป็นอนุสาวรีย์ที่คนรู้จักมากที่สุดในโลก ในปี พ.ศ.2537 อนุสาวรีย์เทพีสันติภาพแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อนุสาวรีย์เทพีแห่งสันติภาพในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวไปเยือนประมาณปีละ 4 ล้านคน สร้างความคึกคัก สร้างรายได้ให้กับหน่วยงานและภาคเอกชนในนิวยอร์กมหาศาลแบบไม่รู้จบ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
————————————–
ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Statue_of_Liberty

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image