ดุลยภาพดุลยพินิจ : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หม่อนไหมนครชัยบุรินทร์

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หม่อนไหมนครชัยบุรินทร์

หม่อนไหมอยู่คู่กับวัฒนธรรมอีสานมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แม้ทุกวันนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ไหมก็ยังมีมูลค่าสูงอยู่ ส่วนหนึ่งใช้ในการค้าขายแต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้เชิงวัฒนธรรมในพิธีการต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช ข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชนพบว่ามูลค่าการจำหน่ายผ้าไหมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น 20 จังหวัด ใน พ.ศ.2566 มีมูลค่าสูงถึง 17,409 ล้านบาท ใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 43,000 ไร่ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ มูลค่าเส้นไหมที่ผลิตได้ในท้องถิ่นมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าเส้นไหม ดังนั้น จึงดูเหมือนคอขวดนั้นจะอยู่ที่การผลิตมากกว่า

ใน 20 จังหวัดของภาคอีสานทั้งหมด ภาคอีสานตอนล่างซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เรียกรวมกันว่านครชัยบุรินทร์ เป็นภาคที่มีการผลิตไหมมากที่สุด คือมีมูลค่าการผลิตรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลผลิตทั้งหมด โดยมีนครราชสีมาเป็นจังหวัดนำ ตามมาด้วยจังหวัดสุรินทร์ ปัญหาก็คือว่าการผลิตไหมของเราลงไม่ถึงรากแก้ว เพราะยังต้องซื้อไหมวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามคุณอาทร แสงโสมวงศ์ ผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดสุรินทร์ พบว่า วัตถุดิบจากต่างประเทศนั้นมิได้ถูกกว่าของไทย แต่การส่งเสริมของไทยนั้นยังไม่เต็มที่และไม่มีการบูรณาการ

ผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมมีความหลากหลายมาก นอกจากเส้นไหมและผ้าไหมแล้ว ใบหม่อนสามารถนำไปทำเป็นชาใบหม่อน การใช้ใบสดเป็นอาหารสัตว์และการทำอาหารเทียมให้กับสัตว์ ส่วนรังไหมนั้นนอกจากจะสาวออกมาเป็นเส้นไหมแล้วยังสามารถนำไปทำผ้าห่มใยไหม รวมทั้งปัจจุบันมีงานวิจัยซึ่งทำให้ตัวดักแด้พ่นใยไหมออกมาเป็นแผ่น ได้กระดาษไหม ซึ่งไปทำแผ่นมาสก์หน้าได้ ตัวดักแด้ก็สามารถนำไปเป็นอาหารโปรตีนสูง ใช้ทำเนื้อเทียม สกัดน้ำมันดักแด้นำไปเป็นอาหารเสริม นอกจากนี้เรายังมีโอกาสที่จะนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนงานส่งเสริมงานวิจัยของเรา เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติอาจจะสนับสนุนให้ต่อยอดเป็นเครื่องสำอาง แผ่นฟิล์มรักษาความสดของอาหาร การทำผิวหนังเทียม ข้อต่อเส้นเลือดเทียม คอนแท็กต์เลนส์ เป็นเส้นด้ายในการเย็บแผลผ่าตัดและใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในคนไข้เบาหวาน ควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งทำยาไวอากรา แม้โอกาสจะมีหลากหลายแต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะถูกนำไปใช้ได้อย่างจำกัดแค่การทำเส้นไหม ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและการเอาดักแด้ไปเป็นอาหารเท่านั้น นับเป็นการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรขั้นต้น โดยยังมีการผสมผสานและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการวิจัยและเทคโนโลยีน้อยอยู่

ADVERTISMENT

ปัญหาของระบบวิจัยของเราก็คือว่าเรามีงานวิจัยกระจัดกระจายอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย เฉพาะในเรื่องหม่อนไหมมีงานวิจัยทั้งในท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยใน กทม. เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในภาคเหนือ แต่เมื่องานวิจัยเสร็จลงได้แต่ตัวสินค้าขั้นต้น (prototype) แต่ยังไม่พัฒนาถึงขั้นการทำผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ (commercial product) หมายความว่ายังไม่มีการพัฒนาระบบผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันได้ในตลาด ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับวัตถุดิบใหม่ หรือการปรับวิธีการแปรรูป หรือยังไม่สามารถผลิตได้จนสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ในสถานการณ์ที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น มีการศึกษาวิจัยที่ทำให้ได้กระเบื้องแบบใช้พลังงานในการผลิตต่ำได้ แต่ก็ไม่ได้มีการทดสอบว่าสามารถที่จะทนลมฟ้าอากาศได้นานแค่ไหน ทนฝนได้กี่ฤดูกาล สินค้าที่เราผลิตได้จึงมักจะไม่พร้อมที่จะผลิตเพื่อขาย รัฐจึงควรสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์โดยไม่ควรจบแค่สร้างองค์ความรู้เท่านั้น ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสศึกษาประเมินต้นทุนผลการวิจัยพบว่าการวิจัยแต่ละชิ้นกว่าจะใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอยู่อีกหลายปี

ในทำนองเดียวกันการพัฒนาประเทศของเราแยกตามกระทรวง ทบวง กรม เศรษฐกิจฐานรากของเรามีการดูแลจากหลายกระทรวง แยกกันเป็นส่วนๆ เป็นข้อๆ ไม่เชื่อมต่อกัน ดังนั้น ผลผลิตจึงกลายเป็นเบี้ยหัวแตกหัวแหลกที่ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นปึกแผ่นได้ อีกทั้งงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมักอยู่ในกรมพัฒนาชุมชนซึ่งไม่มีความรู้ด้านการผลิตทางเกษตรและด้านการตลาด

ADVERTISMENT

ในปัจจุบันเรามีวิสาหกิจชุมชนถึงเกือบ 90,000 แห่งทั่วประเทศ วิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ผลิตสินค้าที่สามารถใช้ซื้อขายได้ในวงแคบในท้องถิ่น ขายกันในตลาดนัด ตลาดถนนคนเดินในท้องถิ่น แต่ขึ้นห้างไม่ได้ ขายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นกิจจะลักษณะก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ยังไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น น้ำพริกปรุงสำเร็จรูปซื้อมาไม่กี่อาทิตย์ก็น้ำมันเยิ้มแล้ว เพราะไม่มีเทคโนโลยีสลัดน้ำมันออกจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตที่ชาวบ้านใช้เป็นเทคโนโลยีที่ยังใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในระดับครัวเรือนมาผลิต จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานมาศึกษาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และเครื่องทุ่นแรงที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงทุนเพื่อวิสาหกิจชุมชนในชนบทมากขึ้น มีการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์สำเร็จรูป มีพาราโบลาโดมซึ่งแจกจ่ายให้ไปทั่วประเทศหลายแห่ง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ยังถูกทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์อยู่ ถ้าท่านผู้อ่านไปดูก็จะเห็นสุสานเครื่องมือเครื่องจักรเหล่านี้อยู่ ชุมชนไม่สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้เพราะขนาดและลักษณะไม่ตรงกับวัตถุดิบ ความต้องการ และสภาพการผลิต สิ่งสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับหน่วยงานที่เล็กกว่า SME ก็คือต้องปรับให้เหมาะสมกับความต้องการและขนาดการผลิตในพื้นที่ และต้องคำนึงถึงการซ่อมแซมเครื่องจักรเมื่อเกิดขัดข้องภายหลังการใช้งาน ไม่ใช่แจกเสร็จแล้วก็จบ เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่มีใครแก้ไขได้ อีกทั้งชุมชนก็ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรเหล่านั้น

ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์วิสาหกิจชุมชนซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ตั้งโรงสีขนาดเล็กซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นเงิน 4 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าสีข้าวไม่ได้มาตรฐานตามที่ต้องการ และวิสาหกิจชุมชนต้องระดมทุนของตัวเองอีกจำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้โรงสีนั้นสามารถปฏิบัติงานได้ อีกกรณีหนึ่งที่ได้พบก็คือการสนับสนุนให้สร้างโรงคั่วกาแฟ ซึ่งปรากฏว่าเครื่องจักรที่ได้นั้นไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้จึงถูกทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ไปช่วยเหลือ ซึ่งโครงการประเภทหลังที่เน้นการพัฒนานี้แหล่งทุนควรจัดเป็นแผนงานที่ให้ทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และต้องเป็นทุนที่รอได้ (patient capital)

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมีการประเมินผลการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image