ทำให้เต็มที่ : โดย ภารไดย ธีรธาดา

ประเทศไทย 4.0 กำลังเข้าสู่ความต้องการปริมาณของดาต้าในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนคลื่นความถี่ของการสื่อสารแบบดิจิทัล จะมีเพียงแค่โรดแมปคลื่นความถี่ที่ชัดเจนเท่านั้นที่สามารถเตรียมความพร้อมของประเทศเราต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

“แตะขอบฟ้า” เป็นฟาร์มมะเขือเทศเล็กๆ ขนาด 600 ตารางเมตรในจังหวัดสุพรรณบุรี ฟาร์มแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากดีแทค โดยดีแทคได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับแบบเซ็นเซอร์ 12 จุดบนผืนดิน

เซ็นเซอร์นี้สามารถตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นได้ในเวลานั้นแบบเรียลไทม์ เซ็นเซอร์เหล่านี้ช่วยให้ระบบการจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ทำให้การเพาะปลูกพืชในฤดูร้อนที่แห้งแล้งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยให้ผลผลิตที่มากเทียบเท่ากับในฤดูหนาว และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากการแชร์ข้อมูลบนระบบคลาวด์ เกษตรกรสามารถดึงข้อมูลเพื่อการติดตามแบบเชิงลึก เซ็นเซอร์ไร้สายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของประโยชน์ที่ IoT (Internet of Things) สามารถนำไปใช้ในประเทศทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม สำนักงาน และบ้าน

Advertisement

โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของเราได้แสดงอย่างชัดเจนในการตอกย้ำของระบบการประมวลผลแบบคลาวด์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะมีต่อคลื่นความถี่ในการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของประเทศไทย โดยในขณะนี้จำนวนสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในราชอาณาจักรมีถึง 7 ล้านคนแล้ว ฟาร์มของพวกเขาเหล่านี้ได้นำอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์มาประยุกต์ใช้ แต่ยังมีอีก 6 ล้านฟาร์มที่ยังไม่ได้นำดิจิทัลมาใช้งาน นั่นหมายถึงจำนวนอุปกรณ์สมาร์ทกว่าสิบล้านเครื่องจะต้องถูกเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านทางคลื่นความถี่ของการสื่อสารโทรคมนาคม

นี่เป็นตัวเลขก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการของธุรกิจและผู้บริโภคประเภทอื่นๆ จากผลสำรวจทั่วโลกซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงาน Business Insider’s intelligence พบว่าจำนวนอุปกรณ์ไอโอทีทั่วโลกจะมีถึง 22.5 พันล้านเครื่องในปี พ.ศ.2564 เพิ่มขึ้นจาก 6.6 ล้านเครื่องในปี พ.ศ.2559

โดยในอัตรานี้ ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สภาวะวิกฤตของการแออัดของข้อมูล

ประเทศไทยเป็น e-commerce ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน การทำธุรกรรมธนาคารผ่านมือถือโตขึ้นร้อยละ 62 ในปีที่ผ่านมา และเรายินดีกับภาพสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่ง ซึ่งเราสนับสนุนผ่านโครงการดีแทค แอคเซลเลอเรท โดยการมองอย่างเร็วๆ ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล แต่จากปัญหาคอขวดของข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาจจะทำลายความหวังเหล่านี้ อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังจะก้าวกระโดดผ่านเราไปอันเป็นผลมาจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ มีโรดแมปที่ชัดเจนกว่าสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล หรือที่เรียกว่าคลื่นความถี่

แถบคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับการรับ-ส่งของข้อมูล คลื่นเหล่านี้เป็นสมบัติมีค่าของประเทศไทย และคนไทยควรได้รับผลประโยชน์ที่นำมาใช้งาน สำนักงาน กสทช.แจ้งว่ามีโรดแมปคลื่นความถี่ แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่ายังไม่ใช่โรดแมปในระดับที่ทั่วโลกจัดทำ โดยเป็นแคตตาล็อกของสินค้าคงเหลือมากกว่า โรดแมปกำหนดระยะเวลา (Timeline) สำหรับคลื่นที่ว่างอยู่ ความกว้างของคลื่นในหน่วย MHz และระยะเวลาของใบอนุญาต ถ้าไม่ระบุสิ่งเหล่านี้จะทำให้คลื่นความถี่สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยถูกนำมาใช้กระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยโดยหน่วยงานต่างๆ ของรัฐโดยปราศจากแผนแม่บทในระยะยาว ผลก็คือ บรรดาผู้ประกอบการต้องลงทุนซื้อคลื่นที่นำออกมาในขณะนั้น ซึ่งอาจเป็นคลื่นที่พวกเขาไม่ต้องการ

ค่าใช้จ่ายของการกักตุนนี้จะถูกผลักต่อให้ผู้บริโภค ซึ่งพวกเขาจะต้องจ่ายแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นในตลาดที่ยุติธรรมและโปร่งใส อีกทั้งพวกเขายังได้รับการเชื่อมต่อสัญญาณคุณภาพต่ำอีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ การที่ไม่มีโรดแมปที่ชัดเจนมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการลงทุนอย่างมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลดังที่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการ เราต้องใช้เงิน 2-4 ล้านบาทเพื่อสร้างสถานีฐานส่งสัญญาณหนึ่งแห่ง และเราต้องการสถานีฐานเป็นหมื่นๆ แห่งทั่วประเทศ ความต้องการใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเท่าไร การขยายและปรับปรุงโครงข่ายให้แข็งแกร่งก็ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ถ้าผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุน ช่องว่างระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและปริมาณข้อมูลจะกว้างขึ้นและกว้างขึ้น

นี่อาจดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาไม่ได้นิ่งเฉย การที่เมียนมามีโรดแมปคลื่นความถี่ที่ชัดเจนถึงปี พ.ศ.2563 ทำให้เมียนมากำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จะสามารถรองรับจำนวนข้อมูลอันมหาศาลที่จำเป็นสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ขณะที่ประเทศเมียนมาถูกจัดอยู่อันดับที่ 133 ในหมวดการแข่งขัน และความพร้อมด้านดิจิทัล (จากรายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกประจำปี พ.ศ.2559 ของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum’s Global Informaiton Technology Report 2016)

พวกเขาไต่ขึ้นมาหกอันดับเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการเปรียบเทียบข้อมูลจะเห็นได้ว่าประเทศไทยจะมีแถบคลื่นความถี่ประมาณ 600 MHz สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมในปี พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นจาก 300 MHz ในปัจจุบัน ขณะที่ประเทศในกลุ่มอียูจะมีคลื่นประมาณ 1,500-1,950 MHz โดยคลื่นจำนวน 600 MHz ของประเทศไทยนั้นจะเท่ากับจำนวนที่เมียนมาจัดสรร

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 62 จากทั่วโลกสำหรับความพร้อมด้านดิจิทัล ซึ่งห่างไกลมากจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 และมาเลเซียที่อยู่อันดับที่ 31 ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 71 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 73 และลาวอยู่อันดับที่ 79 นั้นมีอันดับไม่ได้ห่างจากเรามากนัก การจัดอันดับแยกตามหัวข้อต่างๆ ของประเทศไทยก็บ่งบอกไปในทิศทางเดียวกันคือ ไทยอยู่อันดับที่ 48 ในเรื่องธุรกิจและนวัตกรรม อันดับที่ 51 ในการใช้งานธุรกิจ อันดับที่ 57 ในผลกระทบต่อสังคม อันดับที่ 64 ในเรื่องความสามารถในการเป็นเจ้าของและการใช้งานส่วนบุคคล อันดับที่ 67 ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อันดับที่ 69 ในเรื่องการใช้งานของรัฐบาล อันดับที่ 73 ในเรื่องทักษะ อันดับที่ 74 ในเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

และอันดับที่ 80 ในเรื่องสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการกำกับดูแล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เคยกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ไว้ว่า “กสทช.สัญญาที่จะจัดหาคลื่นความถี่ให้เพียงพอและมากที่สุดเพื่อรองรับการเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0” เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากดีแทคในความพยายามนี้ เพราะเราเชื่อเช่นกันว่า โรดแมปคลื่นความถี่ดิจิทัลที่ชัดเจนคือกุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพด้านดิจิทัลที่น่าเกรงขามของประเทศไทย

สำหรับเรา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสร้างความมั่นใจต่อคนไทยทุกคนให้สามารถแข่งขันได้ในโลกดิจิทัล

ภารไดย ธีรธาดา
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image