ภาพเก่าเล่าตำนาน : ไฟไหม้ครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ไฟไหม้ครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์

“โจรปล้น 10 ครั้ง ไม่เสียหายเท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” คำโบราณไทยกล่าวเปรียบเทียบ สอนลูกหลานที่ยังคงเป็นจริง…

3 มกราคม 2568 เกิดกองไฟขึ้นในป่า ถูกลมพายุแรงขนาด 160 กม./ชม. พัดกระหน่ำพัดพาลุกลามเข้าไปชุมชนในลอสแอนเจลิส เผาบ้านเรือนที่พักราว 12,000 หลัง ละลายหายไปในกองเพลิงทางตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ชาวเมืองต้องอพยพหนีตายนับแสนคน

ผ่านไปราว 1 สัปดาห์ เพลิงยังทำลายล้างสุดฤทธิ์

ADVERTISMENT

ไฟป่าครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา โดยพื้นที่อย่างน้อย 125.45 ตารางกิโลเมตร ถูกเผาทำลายไปแล้ว มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 24 ราย

ไฟป่าพาลิเซดส์ (Palisades fire) ซึ่งเป็นจุดแรกที่เกิดขึ้นรุนแรงที่สุด รวมถึงย่านแปซิฟิก พาลิเซดส์ (Pacific Palisades) ซึ่งเป็นย่านหรูและเป็นที่อยู่ของดาราคนดัง รวมถึงไฟป่าอีก 3 จุด

ADVERTISMENT

เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าคงเกิดมาจากใครบางคนไปตั้งเต็นท์แคมป์ปิ้ง นอนในป่า ก่อไฟหุงหาอาหาร

ในวรรณกรรมที่ตกทอดมาจากอินเดีย คนไทยที่มีโอกาสได้อ่านรามเกียรติ์ ปรากฏเรื่องราวตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับ “ไฟไหม้” ขนาดใหญ่ว่า…

“ทศกัณฐ์ไม่รู้วิธีการที่จะฆ่าหนุมาน… หนุมานจึงหลอกให้จุดไฟฆ่าตน ทศกัณฐ์จึงให้เอาเชื้อไฟมาพันรอบตัวของหนุมานแล้วจุดไฟด้วยหอกแก้วสุรกานต์ …หนุมานจึงกระโจนไปในปราสาท ใช้ไฟที่ลุกติดร่างกายอยู่ เที่ยวจุดไฟเผาไปทั่วกรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงรู้ว่าตนเสียรู้หนุมาน และไฟที่เกิดจากหอกไม่อาจดับได้ จึงต้องพาไพร่พลไปอยู่ที่ภูเขาสัตนา ส่วนหนุมานไม่สามารถดับไฟที่หางของตนได้ จึงไปพบฤๅษีนารทเพื่อให้ช่วยดับ ฤๅษีให้เอาหางมาอมใช้น้ำลายดับ จึงสามารถดับไฟได้…”

บนโลกใบนี้…ในอดีตน่าจะเคยมีไฟไหม้กินพื้นที่ขนาดมหึมาเยี่ยงนี้บ้าง ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูล (บางส่วน) จาก…earth.org/largest-wildfires-in-history/

ไฟป่า (บางแห่ง) ที่สร้างความพินาศในประวัติศาสตร์

พ.ศ.2546 ไฟไหม้ในป่าไซบีเรียไทกาของรัสเซียราว 55 ล้านเอเคอร์ ในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดช่วงหนึ่งในยุโรป สภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง “มนุษย์” มีส่วนทำให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ลุกลามไปทั่วไซบีเรียและรัสเซียตะวันออกไกล ลามไปทางตอนเหนือของจีน และทางตอนเหนือของมองโกเลีย กลุ่มควันลอยไปถึงเกียวโต ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์

พ.ศ.2547 ไฟไหม้ในรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ราว 6.6 ล้านเอเคอร์ คนทั่วโลกเชื่อกันว่าอะแลสกาคือดินแดนแห่งน้ำแข็ง หากแต่มีไฟป่า รัฐอะแลสกาถูกไฟไหม้พื้นที่กว่า 6.6 ล้านเอเคอร์

ฤดูร้อนของปี 2547 ปีนั้นในอะแลสกาอบอุ่นและชื้นมากเมื่อเทียบกับสภาพอากาศภายในของรัฐอะแลสกาในช่วงฤดูร้อนทั่วไป หากแต่ส่งผลให้มี “ฟ้าผ่า” มากเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิที่สูงขึ้น เดือนสิงหาคมที่แห้งแล้งผิดปกติก็ส่งผลให้เกิดไฟป่าซึ่งดำเนินต่อไปจนถึงเดือนกันยายน

พ.ศ.2557 ไฟไหม้ในเขตนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ ในประเทศแคนาดา ราว 8.5 ล้านเอเคอร์ โดยเชื่อกันว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ควันที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเตือนภัยคุณภาพอากาศทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลต้องสูญเสียเงินมหาศาลถึง 44.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหนึ่งในไฟไหม้ที่เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ

ปี พ.ศ.2563 เกิดไฟป่าในออสเตรเลียลุกลามไปราว 42 ล้านเอเคอร์ สร้างผลกระทบอันเลวร้ายต่อสัตว์ป่า ลุกลามไปทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่าพันหลัง และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบคน รวมถึงสัตว์กว่า 3,000 ล้านตัว รวมถึงโคอาลากว่า 61,000 ตัว ช่วงเวลานั้นออสเตรเลียเผชิญกับปีที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์

8 สิงหาคม 2566 ได้เกิดไฟป่าขึ้นในรัฐฮาวาย โดยเกาะเมาวี 1 ใน 8 เกาะของรัฐฮาวายได้รับผลกระทบเป็นหลัก ไฟป่าลุกลามจากลมพัดและนำไปสู่การอพยพของประชาชนในพื้นที่ราว 17,000 เอเคอร์
มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย การลุกลามของไฟป่าในครั้งนี้มีเหตุมาจากสภาพอากาศที่แห้ง ถือเป็นภัยพิบัติไฟป่าที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมากที่สุดนับแต่ฮาวายกลายเป็นมลรัฐของสหรัฐ

ลองมาย้อนประวัติศาสตร์ “ไฟไหม้ในเมือง” ครับ

พ.ศ.2414 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4) เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในนครชิคาโก ทำลายล้างย่านใจกลางเมืองชิคาโกเป็นเถ้าถ่าน

8 ตุลาคม 2414 ตอนเย็น เพลิงเกิดขึ้นจากโรงนาของแพทริกและแคทเธอรีน โอลีรี (สาเหตุที่แท้จริงของไฟไหม้ยังคงเป็นปริศนา)

จากโรงนาที่ 137 ถนนเดอโคเวน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ไฟไหม้ได้ลามไปทางทิศเหนือเข้าสู่ใจกลางย่านธุรกิจของชิคาโก

ไฟนรกเผาผลาญพื้นที่ยาว 4 ไมล์ และกว้าง 1 ไมล์ไฟไหม้อาคาร 17,500 หลัง และถนน 73 ไมล์ ผู้คนราว 90,000 คน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรชิคาโกต้องไร้ที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะมีการกู้คืนศพได้เพียง 120 ศพ แต่เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากไฟไหม้ 300 คน

โรงผลิตน้ำประปาถูกไฟไหม้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของแผนกดับเพลิงของเมือง ที่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

มหานครลอนดอนก็เคยเป็นทะเลเพลิง

พ.ศ.2209 (ตรงกับปีที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งที่ 2)เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน (Great Fire of London)

อาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2209 เกิดเพลิงไหม้ในร้านเบเกอรี่บนถนนพุดดิ้งเลน ของโทมัส ฟาร์ริเนอร์ แม้ว่าเขาจะอ้างว่าได้ดับไฟแล้ว แต่ 3 ชั่วโมงต่อมาในเวลาตี 1 บ้านของเขากลับกลายเป็นไฟลุกโชนลุกลามไปทั่วกรุงลอนดอน ทำลายบ้านเรือนไปกว่า 13,200 หลัง โบสถ์ประจำตำบล 87 แห่ง ศูนย์การค้า Royal Exchange กิลด์ฮอลล์ และอาสนวิหารเซนต์ปอล

ในเวลานั้นลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป อาคารต่างๆ สร้างด้วยไม้ ซึ่งปกคลุมด้วยสารไวไฟที่เรียกว่าพิทช์ มุงหลังคาด้วยฟาง และเรียงซ้อนกันแน่นโดยไม่สนใจการวางแผนใดๆ ประชากรราว 350,000 คน อาศัยอยู่ในลอนดอน

ลักษณะบ้านเรือนในลอนดอนเรียงรายอยู่บนถนน ชิดติดกัน ในเมืองก็พลุกพล่านไปด้วยผู้คน สัตว์ต่างๆ ยังไม่มีรถยนต์ นอกจากบ้านเรือนแล้วเมืองนี้ยังเต็มไปด้วยโรงเก็บของและสนามหญ้าที่เต็มไปด้วยหญ้าแห้งและฟางที่ติดไฟได้

ในตอนแรกแทบไม่มีใครกังวล เพราะไฟไหม้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากในสมัยนั้น ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วจากลมแรงจากทิศตะวันออก ลุกลามไปถึงแม่น้ำเทมส์ ลุกลามไปยังโกดังที่มีผลิตภัณฑ์ติดไฟได้ รวมถึงน้ำมันและไขมันสัตว์

ทหารเรือที่ลอยเรือในแม่น้ำเห็นนครลอนดอนตกอยู่ในกองไฟบรรลัยกัลป์ ตกลงกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงว่า ทหารเรือจะใช้ดินปืนระเบิดทำลายบ้านเรือนที่อยู่ในเส้นทางของไฟ เพื่อหยุดไม่ให้ไฟลามจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่ง

ทหารเรือดำเนินการระเบิดทำลายอาคารเพื่อตัดตอน สามารถควบคุมเพลิงได้เกือบหมดภายในวันพุธที่ 5 กันยายน 2209

แม้กระทั่งกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ก็ยังทรงออกมาช่วยดับไฟด้วย …นับเป็นหายนะอย่างแท้จริงของลอนดอน

ลอนดอนได้รับการบูรณะใหม่เกือบทั้งหมด สร้างอาคารชั่วคราวที่ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ รวมถึงฤดูหนาวที่รุนแรงหลังเหตุไฟไหม้ทำให้ชาวลอนดอนเสียชีวิตจำนวนมาก

ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการเงินมหาศาล อาสนวิหารเซนต์ปอลซึ่งสร้างขึ้นในยุคกลางถูกทำลายจนหมดสิ้น หากแต่ไม่นานนักธุรกิจมองเห็นโอกาส “การประกันภัย”หน่วยดับเพลิงชุดแรกจึงถูกจัดตั้งขึ้น

เซอร์คริสโตเฟอร์ เรน วางแผนสร้างเมืองใหม่ และใช้เวลากว่า 30 ปีในการสร้างลอนดอนใหม่

แถมท้ายครับ…สุดสยองในปี พ.ศ.2536 ในประเทศไทย

ราว 16.00 น.ของวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2536 อาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นของบริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เกิดไฟที่ลุกไหม้จากชั้นล่างอาคาร 1 คนงานเกือบทั้งหมดติดอยู่ในอาคารที่มีลูกกรง หนีออกมาไม่ได้

มีผู้เสียชีวิตแบบย่างสด 188 คน แบ่งเป็น คนงานชาย 14 ราย ที่เหลือ 174 ราย คือความตายของแรงงานหญิง ในจำนวนทั้งหมดมีเด็ก 5 คนที่ยังเรียนอยู่เพียงชั้นมัธยม ซึ่งเข้าไปทำงานพาร์ตไทม์ ต้องกลายเป็นศพ ส่วนอีก 10 คน เปลวเพลิงทำลายซากร่างกระทั่งไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ขณะที่ 469 คน คือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

นี่คืออุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมของไทย ประเด็นสำคัญก็คือโรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 นับเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image