ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
ทวาทศมาส (ทะ-วา-ทด-สะ-มาด) เป็นชื่อวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ราว 500 ปีมาแล้ว แต่งเมื่อเรือน พ.ศ.2000
ขรรค์ชัย บุนปาน ชวนผมไปซื้อ “ทวาทศมาส” หนังสืองานศพเล่มละ 1 บาท ที่แผงหนังสือสนามหลวง (หลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม) ตอนนั้นอายุ 16-17 นุ่งกางเกงขาสั้น สีกากี (น้ำตาล) เรียนชั้นมัธยม 7 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ (ตลาดพลู) เมื่อ 64 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2504
ทำเท่ไปซื้ออ่าน แต่อ่านไม่รู้เรื่องทั้ง 2 คน (สมัยนั้นเรียกซื้อหนังสือไว้หนุนหัวนอนแทนหมอน หวังให้ตัวหนังสือซึมซับเข้าหัว)
ทวาทศมาส “เล่มละบาท” นี่เอง ขรรค์ชัย บุนปาน พบคำ “หนุ่มเหน้า” (หมายถึงสาวรุ่น หรือหนุ่มรุ่น จากคำอธิบายของ อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พ.ศ. 2512) แล้วยกไปตั้งเป็นชื่อกลุ่มนักเขียน “หนุ่มเหน้าสาวสวย” (เคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มกิจกรรม “พระจันทร์เสี้ยว”)
สรุปแล้ว 8 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2504-2512 ขรรค์ชัย บุนปานกับผมสุมหัวอ่านทวาทศมาสรู้เรื่องแค่ 2 คำ (จากคำอธิบายของ อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์) คือ “หนุ่มเหน้า” นอกนั้นไม่ “กระดิกหู” หรือ “หูไม่กระดิก” ถึงกระนั้นไม่ละความพยายาม จึงยังอ่านแบบ “มะงุมมะงาหรา” เรื่อยมาแล้วเรื่อยไปอย่างโง่เง่าเต่าตุ่นซ้ำซาก บางคราวได้เขียนพาดพิงถึงทวาทศมาสเป็นบทปลีกย่อย แต่บางครั้งเขียนอธิบายบางประเด็นว่าความรักในวรรณกรรมสมัยอยุธยามีลักษณะอุดมคติที่เป็นขนบ “สั่งเสีย” ตกทอดสืบกันต่อๆ มาจากพิธีกรรมหลังความตาย (พิธีศพครั้งที่ 2) ต้องส่งขวัญ (ของคนตาย) คือผี ขึ้นฟ้าเพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้า ซึ่งต้องคร่ำครวญพรรณนาถึงสิ่งที่ผีต้องจากไป
ล่าสุดเขียนไว้ในหนังสืออำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2566 หน้า 254-262) จะคัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องทวาทศมาส ดังนี้
ทวาทศมาส, กำสรวลสมุทร, ยวนพ่าย เป็นวรรณกรรมร้อยกรองโคลงดั้น 3 เรื่องเพื่อผนึกปึกแผ่นทางการเมืองและวัฒนธรรมของรัฐอยุธยาตอนต้น เรือน พ.ศ. 2000
โคลงดั้น หมายถึง โคลงที่ส่งสัมผัสลัดเลาะด้นดั้นไปทั้งสัมผัสระหว่างวรรคและสัมผัสระหว่างบท (ด้วยลีลาทรนงองอาจดุจทศกัณฐ์ซึ่งเป็นตัวเอกของโขน) มีต้นตอจากกลอนลำสำหรับใช้ทั่วไปในงานมหรสพ เช่น หมอลำ (คู่กับหมอแคน) เป็นต้นทางโคลงต่างๆ ได้แก่ โคลงสอง, โคลงสาม, โคลงสี่, โคลงห้า และโคลงดั้น เหล่านี้มีพัฒนาการจากคำคล้องจองของตระกูลภาษาไท-ไต บริเวณโซเมียซึ่งเป็นหลักแหล่งของจ้วง-ผู้ไท (ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ที่รัฐล้านนามีโคลงสี่ แต่งเรื่องหริภุญชัย เรียกต่อมาว่านิราศหริภุญชัย)
การแต่งหนังสือสมัยโบราณโดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอักษรไทยเป็นงานเพื่อพิธีกรรมถวายกษัตริย์ ถ้าเป็นที่โปรดปรานก็ได้ความดีความชอบเป็นพิเศษ แล้วรับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งโอกาสอย่างนี้มีไม่มาก ดังนั้นไม่ใช่แต่งตามอำเภอใจสนองสำนึกปัจเจกเพื่ออ่านกันเองซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี เพราะคนส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก
ผู้แต่งหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นนักบวชหรือนักปราชญ์ข้าราชการประจำราชสำนัก เช่น โหราธิบดี, มหาราชครู เป็นต้น แม้มีคำว่า “กวี” แต่ไม่เรียกผู้แต่งเหล่านี้ว่ากวีเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก (และไม่เคยมีอาชีพกวีแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก)
ทวาทศมาส แปลว่า 12 เดือน หมายถึงประเพณีพิธีกรรมของราชอาณาจักรตลอดปีมี 12 เดือนตามปฏิทินสุริยคติที่รับประเพณีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย โดยเริ่มต้นพิธีกรรมช่วงขึ้นศักราชใหม่คือ “มหาสงกรานต์” เมษายนหรือราศีเมษ (ตรงกับเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของพื้นเมืองอุษาคเนย์ นับเป็นต้นเรื่อง “สงกรานต์ปีใหม่ไทย” ในทุกวันนี้)
เท่ากับประเพณีพิธีกรรมของราชอาณาจักรถูกกำหนดเป็นแบบแผนอยู่ในทวาทศมาสที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จึงเป็นต้นแบบวรรณกรรมสมัยหลังๆ ได้แก่ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร, นิราศเดือน ของหมื่นพรหมสมพัตสร สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์, โคลงทวาทศมาส ของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมัย ร.5 กรุงรัตนโกสินทร์ ฯลฯ
หลังปีใหม่ 2568 อติภพ ภัทรเดชไพศาล “คีตกวี” (อยู่เชียงราย) แนะนำให้อ่าน หนังสือ “อุปาทวาทศมาส” (ดร. ตรงใจ หุตางกูร บรรณาธิการ) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะโคลงบทที่ 17 ในบาทที่ 3 ตรงข้อความ “ถนำทึก” กับ “นพนิต” จะคัดโคลงและถอดความดังนี้
วันกรกมลาศเกี้ยว กรรดึก
สองชิดชงฆโหเห ห่มน้ำ
วันเรียมร่วมถนำทึก นพนิต
สุขบันทมรสกล้ำ แกล่กาม
คิดถึงวันที่มือกอดเกี่ยวทรวงอกน้องแนบแน่น; สองเราเข่าชิดกันขยับขย่มจนเหงื่อท่วมตัว; คิดถึงวันพี่ร่วมดื่มยาน้ำที่เหมือนเนยข้น; มีความสุขที่ได้หลับนอนร่วมรสรักกัน.
[ตรงใจ แปลอีกนัยว่า “คิดถึงวันที่เนยข้น(ของพี่) ร่วมระคนกับยาน้ำ(ของน้อง)”. ให้ความหมายโดย วินัย.]
อ่านการถอดความบท 17 บทเดียวของนักวิชาการกลุ่มนี้แล้วอิ่มอกอิ่มใจ และ “โดนใจ” มากกว่าการถอดความของ อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ สำหรับผมแล้วเกือบจะพูดได้ว่าอ่านแค่นี้ก็ “เกินคุ้ม” ที่ซื้อมา และส่วนที่เหลือเป็นกำไร เพราะกวีผู้แต่งใช้ภาษาชั้นสูงในราชสำนักโบราณเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เป็น “กวีโวหาร” กลบเกลื่อนการร่วมเพศโจ๋งครึ่มได้นุ่มนวลแนบเนียนละเมียดละไมทะนุถนอมอย่างหฤหรรษ์ที่สุด
เสพสังวาสแบบกวีโวหารยังมีต่อไปในโคลงบท 18 จะคัดโคลงและถอดความ ดังนี้
แม้สรงสระเทพท้าว ไตรตรึงษ ก็ดี
ยังไป่ปูนย่ำยาม สระแก้ว
สระสวรรคอำมฤตยรึง รสเรข
สรงสระนงคนุชแผ้ว แผ่นไตร
แม้อาบน้ำในสระเทพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ดี; ยังไม่เท่าได้ย่ำยามในสระของน้องแก้ว; แม้สระสวรรค์ทำให้ตราตรึงด้วยรสอำมฤตอันดื่มด่ำ; แต่อาบสระน้องนุชแล้ว ใจพี่ผ่องใสไปทั้งสามโลก.
“สระเทพ” เป็นสระน้ำบนสวรรคชั้นไตรตรึงษ์ซึ่งเกิดจากจินตนาการของกวี แต่ “สระของน้องแก้ว” หรือ “สระน้องนุช” และการอาบน้ำในสระน้องแก้วน้องนุชเป็นกวีโวหาร สัญลักษณ์ของการสอดใส่อวัยวะเพศด้วยการเรียกช่องคลอดของหญิงคนรักอย่างบรรเจิดบรรจงว่าสระแก้วสระนงนุช
ทวาทศมาสเป็นต้นแบบวรรณกรรรมสมัยหลังๆ ที่เกี่ยวข้องประเพณี 12 เดือน พูดอีกอย่างหนึ่งว่าทวาทศมาสเป็นต้นแบบข้อมูลประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวงที่ส่งต่ออิทธิพลซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืนสมัยรัฐอโยธยาสืบเนื่องอยุธยาราชอาณาจักรสยาม ที่ใช้ภาษาไทย และที่สำคัญคือเรียกตนเองว่าไทยเป็นแห่งแรก จึงเหมาะอย่างยิ่งที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจะเป็น “เจ้าภาพ” ศึกษาวิจัยอย่างละเอียด ถี่ถ้วนด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยา แล้วแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณะสม่ำเสมอ เพราะในทวาทศมาสตอนที่พรรณนา “พิธีกรรมเดือน 3” เกี่ยวข้องความเชื่อทางศาสนาไทย “ผี-พราหมณ์-พุทธ” เรื่องกำเนิดและสู่ขวัญแม่โพสพ และปัจจุบันยังมีพิธีสืบเนื่องทั่วประเทศที่บางแห่งเรียกวันกำฟ้า
สู่ขวัญแม่โพสพมีทุกปีในเดือน 3 (จันทรคติ) เพื่อขอขมาด้วยสำนึกในพระคุณที่บันดาลข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตมนุษย์
ปีนี้พิธีสู่ขวัญข้าว “แม่โพสพ” อาหารโลก มีวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568 (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จันทรคติ) ในท้องถิ่นเรียก “วันกำฟ้า” สู่ขวัญข้าว หรือสู่ขวัญแม่โพสพ, ทำขวัญวัวควาย, รวมทั้งทำขวัญเครื่องมือทำนา เช่น ไถ, เกวียน เป็นต้น
แม่โพสพเป็นเทวีข้าว หมายถึงเทวดาเพศหญิงผู้ให้กำเนิดข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยและของคนจำนวนมากในโลก ด้วยเหตุนี้คนในไทยสมัยก่อนถูกกล่อมเกลาให้นึกถึงพระคุณของแม่โพสพด้วยการยกมือไหว้ทั้งก่อนกินข้าวและหลังกินข้าว ดังนั้น แม่โพสพเป็นที่รับรู้อยู่ในความทรงจำมายาวนานมากของคนหลายกลุ่มทั้งชาวนาและ “ไม่ชาวนา” ที่กินข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน
แม่โพสพไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อ โดยเริ่มจากความเชื่อทางศาสนาผี อีกนานต่อมาชนชั้นนำรัฐจารีตทำความเชื่อทางศาสนาผีให้ผสมกลมกลืนกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และท้ายที่สุดผลักเข้าศาสนาพุทธ
พิธีสู่ขวัญสถาปนาแม่โพสพเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐที่โอ่อ่าสนุกสนานอลังการ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในทวาทศมาส (โคลงดั้น) สมัยอยุธยาตอนต้น
ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญหลักฐานวิชาการแล้วสร้างสรรค์ใหม่ให้เป็น “แม่โพสพเฟสติวัล” จะส่งผลดีหลายอย่าง ทั้งทางการศึกษา “นอกระบบ” ตามอัธยาศัย และทางการตลาดข้าวปลาอาหารไทย-อาหารโลก ฯลฯ
แม่ข้าวใน “นาตาแฮก” เป็นพิธีกรรมก่อนลงมือทำนาจริงของชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรกมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เป็นรากเหง้าการทำนาปลูกข้าวเป็นอาหารโลกทุกวันนี้ ที่รัฐบาลไทยต้องมีคณะทำงานลุ่มลึกศึกษาประวัติความเป็นมาอย่างมีหลักฐาน (ซึ่งมีมาก)
[ลายเส้นของกรมศิลปากร โดย พเยาว์ เข็มนาค คัดลอกจากภาพเขียนที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี]
สู่ขวัญข้าว
ขนข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางหรือเล้าข้าว เชิญ “แม่ขวัญข้าว” ขึ้นยุ้งฉาง ทำพิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
[ก่อนสู่ขวัญข้าวเซ่นผีแถน ชาวนาไม่กินข้าวใหม่ที่เพิ่งได้มา แต่ต้องรอหลังทำขวัญข้าวจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกินได้]
ข้าวที่ต้องสู่ขวัญรวมอยู่ในที่เก็บรักษา เช่น ยุ้ง, เล้า หรืออาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่จัดไว้โดยเฉพาะก็ได้ ข้าวเหล่านั้นมี 3 ส่วน จัดที่ทางไว้ไม่ปนกัน ได้แก่ แม่ข้าว, พันธุ์ข้าวปลูก, ข้าวกิน ดังนี้
(1.) แม่ข้าว คือ รวงข้าวตกที่เก็บรักษาไว้เซ่นวักตั้งแต่วันเกี่ยวข้าว แล้วถูกเชิญเป็นประธานในลานนวดข้าว
(2.) พันธุ์ข้าวปลูก หมายถึง เมล็ดข้าวเปลือกที่คัดส่วนดีที่สุดไว้จำนวนตามต้องการจากข้าวชุดแรกที่ลานนวดข้าว สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกในปีต่อไป
(3.) ข้าวกิน คือ ข้าวเปลือกทั้งหมดได้จากนวดข้าวเก็บไว้กินตลอดปี
ข้าวเปลือกชุดแรก ใส่ครกตำเอาเปลือกออกเป็นข้าวสารเหนียว หุงในกระบอกเรียก “ข้าวหลาม”
เซ่นผีฟ้าด้วยข้าวหลาม เรียก “ข้าวขวัญ” หรือ “บายสี” [บาย แปลว่า ข้าวสุก (เป็นภาษาเขมร) สี มาจาก สรฺี (เสร๎ย) ภาษาเขมรแปลว่า สตรี หมายถึงข้าวของแม่ข้าว ต่อมาเรียกบายศรี]
เมื่อเสร็จจากสู่ขวัญข้าว ต้องแบ่งข้าวชุดแรกที่ผ่านพิธีทำขวัญไปตำซ้อมเป็นข้าวกล้องแล้วหุงด้วยวิธีดั้งเดิมเริ่มแรกเพื่อเซ่นผีฟ้าผีแถน คือหุงในกระบอกไผ่เผาไฟให้สุก (ปัจจุบันเรียกข้าวหลาม) บางทีเอาข้าวหลามไป “จี่” เผาไฟไหม้เกรียม มีกลิ่นหอมเรียกข้าวจี่
[หลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย พิธีทำขวัญวันกำฟ้าแล้วเผาข้าวหลามทำข้าวจี่ ก็ถูกปรับเปลี่ยนเข้ากับประเพณีทำบุญของชาวพุทธ]
สู่ขวัญ (พร้อมสู่ขวัญควาย และสู่ขวัญเกวียน) วันกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
[ภาพหมอขวัญกำลังสู่ขวัญข้าวที่วัดใหม่ดงกระทงยาม ต. ดงกระทงยาม อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี (มีนาคม 2566)]
(ซ้าย) ข้าวหลามเซ่นผีฟ้า (ขวา) กรอกข้าวเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ก่อนนำไปเผาไฟเป็นข้าวหลาม
บุญข้าวหลาม เดือน 3 ยุคก่อนๆ หนาวมาก ต้องอาศัยผิงไฟแก้หนาวจากกองไฟเผาข้าวหลามตอนกลางคืนและตอนเช้า ดังเห็นเด็กๆ ในภาพนี้ที่ จ. กาฬสินธุ์ เมื่อ 7 มกราคม 2555 (จาก ห้องสมุดภาพมติชน)
“แม่โพสพ” ชื่อใหม่ของแม่ข้าวในลัทธิเทวราช
คำว่า “แม่โพสพ” พบเก่าสุดก่อนสมัยอยุธยา ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ พ.ศ. 1884
ชื่อดั้งเดิมของแม่โพสพ คือ แม่ข้าว เป็นชื่อเฮี้ยนในศาสนาผี หมายถึง ผีขวัญบรรพชนต้นโคตรของข้าว ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียแม่ข้าวถูกเรียกว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับเจ้าแม่ข้าวได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าวและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เพราะข้าวในสมัยดั้งเดิมเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากดินและน้ำ
“แม่โพสพ” เป็นคำกลายจาก “พระไพศพ” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่าไพศฺรพณะ (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำภาษาบาลีว่าเวสฺสวณฺ แต่ในไทยเรียก 2 ชื่อ คือ ท้าวเวสสุวรรณ กับ ท้าวกุเวร
“พระไพศพ” ต่อมาถูกเรียกว่า “แม่โพสพ”
แม่โพสพ คือแม่ข้าวที่ได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าว มีความหมายโดยรวมว่าหญิงเป็นใหญ่มีอำนาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง ต่อมาถูกเรียกแม่ศรีตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แล้วอยู่ในความเชื่อและความทรงจำสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ส่วนแม่ข้าวถูกลืมจนไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว
[แม่โพสพ ตามจินตนาการของสังคมไทยเมื่อ 76 ปีที่แล้ว ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ในยุคนี้และเปลี่ยนได้อีกยุคต่อไป ลายเส้นจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของ เสฐียรโกเศศ ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]
แม่โพสพมีความเป็นมาอย่างสรุปย่อๆ ดังนี้
1.แม่ข้าวเป็นความเชื่อทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติที่ให้กำเนิดข้าว และเป็นผีสิงในข้าวที่มนุษย์กินเป็นอาหารหลัก
[ข้อมูลเบื้องต้นพบในบทความเรื่อง แม่โพสพ ของ เสฐียรโกเศศ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่มที่ 1 (มิถุนายน พ.ศ. 2492) หน้า 76-84]
ดังนั้นเมื่อมนุษย์เก็บเกี่ยวได้ข้าวเปลือกไว้กิน จึงมีพิธี ดังนี้
สู่ขวัญข้าว เพื่อขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินเมื่อเกี่ยวข้าวทำให้ต้นข้าวถูกเคียวเกี่ยวขาด แล้วแม่ข้าวล้มตาย
เซ่นผีฟ้า ด้วยการหุงข้าวชุดแรกในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งยกย่องเป็น “ข้าวขวัญ” เพื่อเซ่นผีฟ้า (ปัจจุบันเรียก “ข้าวหลาม”) หลังจากนั้นมนุษย์จึงเอาข้าวชุดที่เก็บไว้ไปหุงกินได้ (ถ้ายังไม่ส่ง “ข้าวขวัญ” เซ่นผีฟ้าก็ยังเอาข้าวที่เก็บไว้ไปหุงกินไม่ได้)
[หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่เป็นเทคโนโลยีเก่าสุดของการหุงข้าว ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงเวลาหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนประวัติศาสตร์) และยังทำสืบเนื่องจนปัจจุบัน]
2.หลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย ชนชั้นนำของรัฐจารีตแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพิธีทำขวัญสถาปนาแม่ข้าว (ศาสนาผี) เป็นแม่โพสพ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
แม่ข้าว คือรวงข้าวที่ได้จากการเกี่ยวข้าวครั้งแรก (แล้วเก็บรวงข้าวพิเศษไว้เป็นตัวแทนของแม่ข้าว) ถูกเชิญออกแห่ไปทำพิธีเผาตามประเพณีฮินดูจากอินเดีย
เผาข้าว หมายถึงเผาแม่ข้าว (คือ เผารวงข้าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่ข้าว) เป็นพิธีส่งขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้า ไปรวมพลังกับเทวะ (ตามคติจากอินเดีย) บนฟ้า แล้วคอยปกป้องดูแลข้าวกล้าในนาให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้ผลดีเป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์
พิธีสถาปนาแม่โพสพ มีเผาข้าว หมายถึงจุดไฟเผาซังข้าวแห้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่ข้าว ในกฎมณเฑียรบาลเรียก “พิธีธานย์เทาะห์” (เป็นภาษามอญ แปลว่าเผาข้าว) น่าเชื่อว่ามีต้นแบบจากพิธี “โหลี” (เทศกาลสาดสีฉลองฤดูเริ่มการเพาะปลูก) ในอินเดีย
นาฏกรรมแห่งรัฐ
ธานย์เทาะห์ เผาข้าว เท่าที่พบร่องรอยจากเอกสารหลายเล่มสรุปพิธีกรรมได้ 3 ขั้นตอน คือ ทำขวัญข้าว, เผาข้าว, เสี่ยงทาย
(1.) ทำขวัญข้าว หมอขวัญ คือ “อาจารย์” (เอกสารทวาทศมาสไม่เรียก พราหมณ์ หรือ ทวิช) เริ่มพิธีทำขวัญข้าวด้วยการขับลำคำคล้องจองสู่ขวัญแม่ข้าวพร้อมประพรมน้ำหอมดอกไม้ เรียก “สุคนธมาลา” แก่ “พนมรวง” หรือ “พนมข้าว” (คือ พนมรวงข้าวหมายถึงรวงข้าวที่มัดรวมเป็นพุ่มหรือฟ่อน มีเมล็ดข้าวติดรวงเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแม่ข้าว) มีบอกในทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204) ว่า
“อาจารย์รังเริ่มตั้ง พนมรวง แม่ฮา
ถวายสุคนธมาลา เรียบร้อย”
(2.) เผาข้าว แห่พนมรวงข้าวไปลานเผาข้าว (หลังเสร็จทำขวัญข้าว) เพื่อทำพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งโพศพ” หมายถึง ส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการ เผาศพ
ตำราพระราชพิธีเก่าและตำราทวาทศพิธีจดไว้ว่าขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายพราหมณ์แห่พนมรวงข้าว (สมมุติเป็นฉัตร) มีประธาน 1 พนม และบริวาร 8 พนม เมื่อพร้อมแล้วให้ตระกูลพราหมณ์เป็นใหญ่จุดไฟเผาฉัตรรวงข้าวประธานขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเผาฉัตรรวงข้าวบริวารทั้ง 8
ทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204 และ 211) พรรณนาพิธีเผาข้าวว่าขบวนแห่พนมรวงข้าวมีหมู่ฟ้อนร่อนรำเต็มแถวทาง ครั้นเสร็จพิธีเผาข้าวก็เท่ากับส่งพระไพศพขึ้นฟ้า แต่ไฟเผายังคุกรุ่นส่งแสงร้อนรุ่มผลาญไม้ใบข้างเคียง ดังนี้
“รัถยาบ่าวสาวพวง พาลแพละ กันนา
ตามส่งไพศพคล้อย คลาศคลา”
“เสร็จส่งไพศพสิ้น สารสุด
เพลิงฉี่ใบบัวบง เหี่ยวแห้ง”
(3.) เสี่ยงทาย ตำราพระราชพิธีเก่ากับตำราทวาทศพิธีบอกว่าเมื่อคณะตระกูลพราหมณ์จุดไฟเผาพนมรวงข้าวแล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขุนนางจัดไว้ให้ซ่อนซุ่มอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ได้ขี่ควายกรูพร้อมกันออกไปแย่งชิงฉัตรรวงข้าว ชิงฉัตรรวงข้าวเป็นการละเล่นเสี่ยงทาย ถ้าเข้าชิงได้จากทิศใดจะมีคำทำนายฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? อย่างไร?
[กิจกรรมนี้มีร่องรอยพบในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)]
เรื่องทิศทางเข้าชิงฉัตรแล้วมีคำทำนายเป็นกิจกรรมเสี่ยงทายที่พัฒนาจากความเชื่อวันกำฟ้าของชาวนาดั้งเดิมคอยฟังทิศทางเสียงฟ้าร้องแล้วมีคำทำนาย
การละเล่นเป็นมหรสพ พบร่องรอยสมัยหลังอยู่ในหนังสือนางนพมาศว่า “การมหรสพก็เล่นระเบงระบำ—นางกะอั้วผัวแทงควาย หกคะเมน ไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนเสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ”
[กัมพูชามีเล่นหุ่น, โขน, มวยปล้ำ, รำกระบี่กระบอง, ดาบดั้ง เป็นต้น (พงศาวดารละแวก)]
พิธีธานย์เทาะห์ หรือเผาข้าว ไม่มีบันทึกลำดับขั้นตอนกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนปลาย ส่วนเท่าที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์และอ่านไม่ง่าย เข้าใจลำบาก บางทีจะเข้าใจคลาดเคลื่อนด้วยซ้ำ แต่ได้พยายามเทียบเคียงเอกสารเกี่ยวข้องหลายเล่ม รวมกับการคาดคะเนตามหลักฐานและร่องรอยเท่าที่ค้นได้ แล้วลำดับไว้โดยสรุปเท่านั้น
ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่ถือเป็นยุติ และแก้ไขได้เมื่อพบหลักฐานเพิ่มหรือประสบการณ์เปลี่ยนไปทำให้แนวคิดไม่เหมือนเดิม
แม่โพสพ ขวัญของแม่ข้าวขึ้นฟ้ารวมพลังกับพระไพศพ (ซึ่งเป็นอีกนามหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ ที่เป็นเทวดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ผู้บันดาลความมั่งมีศรีสุขและอุดมสมบูรณ์ จากนั้นถูกเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “แม่โพสพ” คือเทวีข้าว หรือเทพีแห่งข้าว
เริ่มแรก น่าจะมีในรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อแรกรับศาสนาจากอินเดีย เมื่อเรือน พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) จากนั้นมีสืบเนื่องถึงรัฐอโยธยา (เมืองเก่า) และรัฐอยุธยา(เมืองใหม่) ซึ่งพบหลักฐานเป็นเอกสารหลายชุด
กำหนดการ พิธีสู่ขวัญแม่โพสพมีทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้ข้าวเปลือกครั้งแรก (ของฤดูการผลิต) ตรงกับเดือน 3 ทางจันทรคติ (ราวมกราคม-กุมภาพันธ์)
ปัจจุบันเหลือตกค้างในท้องถิ่นที่ประชาชนร่วมกันกำหนด วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า ต้องมี “พิธีสู่ขวัญข้าว” (ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568)
ข้าวขวัญเซ่นผีฟ้า ปัจจุบันหมายถึงข้าวหลาม ถูกเลื่อนไปเผาข้าวหลามให้ตรงวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เรียกบุญข้าวหลาม ซึ่งเท่ากับทำความเชื่อผีให้เป็นพุทธ
อย่าผลีผลามโลภมาก
รัฐบาลต้องระมัดระวังการผลักดันกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจอย่างผลีผลามสุ่มเสี่ยง หรืออย่างปิดหูปิดตาเพราะโลภโดยไม่ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาอย่างลึกซึ้งเข้มข้น หรือศึกษาค้นคว้าอย่างผิวเผิน “ผักชีโรยหน้า” หรือ “ลิงหลอกเจ้า” แล้วด่วนผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์จากวัฒนธรรม
ทั้งนี้เพราะจะส่งผลเสียมหาศาลต่อการศึกษาทั้งระบบ ทำให้วิธีคิดไม่เป็นสากลจนถึงล้าหลัง ขณะเดียวกันก็อาจเป็น “ตราบาป” ให้รัฐบาลเป็นนิรันดร ดังหลักฐานตัวอย่างถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ภูเขาอัลไต เป็นตราบาปของรัฐบาลสมัยนั้นตราบจนทุกวันนี้และต่อไปไม่รู้จบ