สุจิตต์ วงษ์เทศ : SEX เพื่อเจริญเผ่าพันธุ์และพืชพันธุ์ด้วยวรรณกรรม

คนทำท่าคล้ายร่วมเพศ (ซ้าย) ลายเส้นคัดลอก (ขวา) จากภาพสลักราว 2,000 ปีมาแล้ว บนผนังถ้ำผาลาย ภูผายนต์ ต. กกปลาซิว อ. เมืองฯ จ. สกลนคร [ภาพจากหนังสือ ศิลปะถ้ำในอีสาน กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 หน้า 49]

วรรณกรรมโบราณพรรณนาเรื่องเพศเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุมสมบูรณ์ในเผ่าพันธุ์และพืชพันธุ์

ทวาทศมาส แปลว่า 12 เดือน หมายถึงประเพณีพิธีกรรมของราชอาณาจักรตลอดปีมี 12 เดือนตามปฏิทินสุริยคติที่รับประเพณีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย เป็นวรรณกรรมร้อยกรองโคลงดั้น เพื่อผนึกปึกแผ่นทางการเมืองและวัฒนธรรมของรัฐอยุธยาตอนต้น เรือน พ.ศ. 2000

เท่ากับประเพณีพิธีกรรมของราชอาณาจักรถูกกำหนดเป็นแบบแผนอยู่ในทวาทศมาสที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นต้นแบบวรรณกรรรมสมัยหลังๆ ที่เกี่ยวข้องประเพณี 12 เดือน พูดอีกอย่างหนึ่งว่าทวาทศมาสเป็นต้นแบบข้อมูลประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวงที่ส่งต่ออิทธิพลซึ่งกันและกันอย่างกลมกลืนสมัยรัฐอโยธยาสืบเนื่องอยุธยาราชอาณาจักรสยาม ที่ใช้ภาษาไทย และที่สำคัญคือเรียกตนเองว่าไทยเป็นแห่งแรก

ทวาทศมาส เริ่มต้นพิธีกรรมช่วงขึ้นศักราชใหม่คือ “มหาสงกรานต์” เมษายนหรือราศีเมษ (ตรงกับเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของพื้นเมืองอุษาคเนย์ นับเป็นต้นเรื่อง “สงกรานต์ปีใหม่ไทย” ในทุกวันนี้)

ADVERTISMENT

กวีผู้แต่งทวาทศมาสรำพึงรำพันสั่งเสียหญิงคนรัก (ในจินตนาการ) ผ่านพิธีกรรมแต่ละเดือน ด้วยสำนวนโวหารโลดโผนโจ๋งครึ่ม แต่กลบเกลื่อนละเมียดละไมด้วยศัพท์ชั้นสูงภาษาบาลี-สันสกฤต เมื่อถอดความด้วยคำปัจจุบันมีหลายบทเป็นเรื่องร่วมเพศเหมือนเพลงฉ่อยหรือเพลงเทพทอง “คนองเฮ”

SEX—ร่วมเพศ “ทวาทศมาส” มีในหนังสือ “อุปาทวาทศมาสโคลงดั้น” วรรณกรรมเพชรน้ำเอกแห่งกรุงพระนครศรีอโยธยา พร้อมบทถอดความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (บรรณาธิการ: ดร. ตรงใจ หุตางกูร) คณะทำงานถอดความ: ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร, รศ. เสนอ บุญมา, ดร. ตรงใจ หุตางกูร, ผศ. ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์, ผศ. สยาม ภัทรานุประวัติ, นายพงศธร บัวคำปัน, นางสาววรรณวิวัฒน์ รัตนลัมภ์, นาวสาว นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ ผู้เขียนรับเชิญ: อ. ศศิธร ศิลป์วุฒยา, นายจักรี โพธิมณี [โครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากเอกสารโบราณและจารึก (พปอ.) กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)] พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะโคลงบทที่ 17 และบทที่ 18 จะคัดโคลงและถอดความ ดังนี้

วันกรกมลาศเกี้ยว                 กรรดึก
สองชิดชงฆโหเห                  ห่มน้ำ
วันเรียมร่วมถนำทึก               นพนิต
สุขบันทมรสกล้ำ                   แกล่กาม

คิดถึงวันที่มือกอดเกี่ยวทรวงอกน้องแนบแน่น; สองเราเข่าชิดกันขยับขย่มจนเหงื่อท่วมตัว; คิดถึงวันพี่ร่วมดื่มยาน้ำที่เหมือนเนยข้น; มีความสุขที่ได้หลับนอนร่วมรสรักกัน.

[ตรงใจ แปลอีกนัยว่า “คิดถึงวันที่เนยข้น(ของพี่) ร่วมระคนกับยาน้ำ(ของน้อง)”. ให้ความหมายโดย วินัย.]

แม้สรงสระเทพท้าว            ไตรตรึงษ ก็ดี
ยังไป่ปูนย่ำยาม                 สระแก้ว
สระสวรรคอำมฤตยรึง        รสเรข
สรงสระนงคนุชแผ้ว           แผ่นไตร

แม้อาบน้ำในสระเทพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ดี; ยังไม่เท่าได้ย่ำยามในสระของน้องแก้ว; แม้สระสวรรค์ทำให้ตราตรึงด้วยรสอำมฤตอันดื่มด่ำ; แต่อาบสระน้องนุชแล้ว ใจพี่ผ่องใสไปทั้งสามโลก.

“สระเทพ” เป็นสระน้ำบนสวรรคชั้นไตรตรึงษ์ซึ่งเกิดจากจินตนาการของกวี แต่ “สระของน้องแก้ว” หรือ “สระน้องนุช” และการอาบน้ำในสระน้องแก้วน้องนุชเป็นกวีโวหาร สัญลักษณ์ของการสอดใส่อวัยวะเพศด้วยการเรียกช่องคลอดของหญิงคนรักอย่างบรรเจิดบรรจงว่าสระแก้วสระนงนุช

อ่านการถอดความของนักวิชาการกลุ่มนี้แล้วอิ่มอกอิ่มใจ และ “โดนใจ” มากกว่าการถอดความของ อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์

สำหรับผมแล้วเกือบจะพูดได้ว่าอ่านแค่นี้ก็ “เกินคุ้ม” ที่ซื้อมา และส่วนที่เหลือเป็นกำไร เพราะกวีผู้แต่งใช้ภาษาชั้นสูงในราชสำนักโบราณเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เป็น “กวีโวหาร” กลบเกลื่อนการร่วมเพศโจ๋งครึ่มได้นุ่มนวลแนบเนียนละเมียดละไมทะนุถนอมอย่างหฤหรรษ์ที่สุด

ร่วมเพศโจ๋งครึ่มในทวาทศมาสที่ยกมานั้น กวีแต่งเป็นพิธีกรรมเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่บ้านเมืองและในแง่ข้าวปลาอาหาร

SEX—ร่วมเพศสมัยดั้งเดิม เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อเจริญเผ่าพันธุ์กับเจริญพืชพันธุ์

คนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีพิธีร่วมเพศขอความอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เช่น ขอฝน เป็นต้น มีหลักฐานโบราณคดีจำนวนไม่น้อยแสดงพิธีร่วมเพศ เช่น ภาพเขียนสีบนเพิงผา หรือผนังถ้ำ, รูปหล่อสำริดหญิงชายหันหน้าประกบกัน ใช้ประดับบนฝาปิดภาชนะสำริดใส่กระดูกคนตาย เป็นต้น

นอกจากนั้นยังทำรูปอวัยวะเพศทั้งของหญิงและชายในพิธีกรรมขอฝน เรียกปั้นเมฆ, เซิ้งบั้งไฟ, แห่นางแมว, ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้มีในหนังสือ เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์ของบรรพชนไทย (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560) จะคัดบางตอน ดังนี้

พิธีกรรมสมสู่ในเพลงชาวบ้าน

เพลงโต้ตอบ (เช่น เพลงฉ่อย, เพลงลำตัด ฯลฯ) มาจากพิธีกรรมสมสู่เสพสังวาสเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนดั้งเดิม (ไม่ส่วนตัว)

เพลงโต้ตอบแก้กัน (นักวิชาการไทยให้เรียกยากๆเป็นบาลีสันสกฤตว่า เพลงปฏิพากย์) ของหญิงชายชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดา เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมดำรงเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์โดยการเสพสมัครสังวาส เพื่อขอความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนเป็นส่วนรวม (ไม่ใช่เพื่อความหฤหรรษ์ส่วนตัวของคู่หญิงชายนั้น)

ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว พิธีกรรมสมสู่สังวาสของหญิงชายมีหลักฐานอยู่บนภาพเขียนสี (พบทั่วไปทั้งในไทยและที่อื่นๆ) กับประติมากรรมสำริด (พบที่เวียดนาม) ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปหญิงชายทำท่าสมสู่ โดยนอนเหยียดยาวประกบกันบนล่าง ประดับบนฝาภาชนะใส่ศพหรือบรรจุกระดูกคนตาย

แม้ยืนยันไม่ได้ว่ามีการกระทำสมสู่จริงๆ แน่หรือ? แต่ยังไม่พบเหตุผลอื่นใดจะชี้ให้เห็นว่าไม่มีจริง

การสมสู่ร่วมเพศทำให้มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ซึ่งคนแต่ก่อนเชื่อว่าจะบันดาลให้ฝนตกในไม่ช้า เรียกกันสืบมาว่า “เทลงมา เทลงมา” ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้ตลอดปี

พิธีกรรมอย่างนี้ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน เรียก พิธีปั้นเมฆขอฝน โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน 2 คน สมมุติว่าหญิงชายทำท่าสมสู่กันกลางที่โล่งแจ้ง ให้คนทั้งชุมชนรู้เห็นพร้อมกันทั่วไป

แล้วร่วมกันร้องรำทำเพลงขอฝนด้วยถ้อยคำหยาบๆ เรียกกันว่า กลอนแดง หมายถึงคำคล้องจองโจ๋งครึ่มที่พาดพิงเรื่องเพศและการร่วมเพศ

หญิงมักว่าเพลงชนะชาย ในกลอนเพลงโต้ตอบ เพราะแม่เพลงจะต่อว่าด่าทอจนพ่อเพลงยอมจำนนแล้วหาทางเลี่ยงไป แสดงอำนาจของหญิงที่มีเหนือชาย

เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายชาวบ้านด้วยถ้อยคำโลดโผนสองง่ามสองแง่ แหย่ไปทางเรื่องสมสู่หยาบๆ อย่างยิ่งยวด ก็เป็นอีกแนวหนึ่งของพิธีกรรมขอความมั่งคั่งและมั่นคงให้ชุมชน

ศาสนาผีของผู้หญิง ไม่รังเกียจเซ็กซ์

เรื่องเพศ ไม่เป็นสิ่งน่ารังเกียจในศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาของผู้หญิง เพราะเรื่องเพศยุคดึกดำบรรพ์ เป็นพิธีกรรมดำรงเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์ข้าวปลาอาหาร

ฟ้ากับดินไม่สมสู่กัน ก็ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตคน, สัตว์, และพืช

สัตว์ พืช ถ้าไม่สมสู่กันเองก็ไม่มีชีวิตใหม่เกิด แล้วไม่มีข้าวปลาอาหารเลี้ยงคน

คนก็ต้องสมสู่เช่นเดียวกัน จึงจะมีคนเกิดใหม่

ผู้ให้กำเนิดคนใหม่คือหญิงกับชายต้องสมสู่กัน การตกไข่ และมีประจำเดือนของหญิงที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ย่อมสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกทางเพศ การร่วมเพศ และการกำเนิด

[สรุปจากข้อเขียนเรื่อง ศาสนาผู้หญิงศาสนาผู้ชาย ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2558 หน้า 88]

กำเนิดมนุษย์

ร่วมเพศ เป็นพิธีกรรมกำเนิดมนุษย์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์มีพรรณนาเป็นสัญลักษณ์เอาวัตถุแทงน้ำเต้าเป็นรูให้มนุษย์ (คลอด) ออกมา

น้ำเต้าคือมดลูกของแม่ วัตถุแทงน้ำเต้าคืออวัยวะเพศของพ่อ มีคำบอกเล่าสรุปย่อๆ ดังนี้

ควายแถนตัวหนึ่งล้มตายลงที่นาน้อยอ้อยหนู

น้ำเต้าปุงงอกออกจากรูจมูกควายมี 3 ลูก (หน่วย) ขนาดไล่เลี่ยกัน (ปุง เป็นคำลาว หมายถึงภาชนะใส่ของคล้ายกระบุง)

มีคนเกิดเป็นตัวเป็นตนแน่นอยู่ในน้ำเต้า แล้วพากันส่งเสียงกึกก้องร้องแรกแหกกะเฌอดังออกนอกน้ำเต้า

ปูลางเชิงเอาเหล็กแหลมเผาไฟจนเหล็กร้อนแดง แล้วซี่ (แทง) ลูกน้ำเต้าเป็นรู บรรดาคนก็เบียดเสียดกันออกทางรูซี่

ขุนคานจึงเอาสิ่วไปคว้านรูซี่ให้กว้างขึ้น คนก็ทะลักออกมาอีก กว่าจะออกหมดใช้เวลา 3 วัน 3 คืน

มีข้อความตอนหนึ่งในพงศาวดารล้านช้าง จะคัดมาดังนี้

“คนทั้งหลายฝูงเกิดในผลหมากน้ำเต้าฝูงนั้น ก็ร้องก้องนี่นั่นมากนักในหมากน้ำนั้นแล

ยามนั้นปูลางเชิงจึงเผาเหล็กซีแดงซีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูทีนั้นก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน

ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เป็นฮูแควนใหญ่แควนกว้าง คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ 3 วัน 3 คืนจึงหมดหั้นแล”

สมพาสนางนาค

ตำนานเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา เชื่อว่าทุกคืนนางนาคแปลงร่างเป็นสาว เพื่อร่วมเพศกับพระราชาบนปราสาท ถ้าคืนใดพระราชาไม่ร่วมเพศสมพาสกับนางนาคก็จะถึงกาลวิบัติ และบ้านเมืองจะล่มจม ดังนี้

“ส่วนที่เกี่ยวกับปราสาททองคำ ภายในพระราชวังนั้น พระเจ้าแผ่นดินเข้าที่พระบรรทมในยามราตรีบนยอดปราสาท

พวกชาวพื้นเมืองพากันกล่าวว่่าในปราสาทนั้น มีผีภูตงูเก้าศีรษะซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ทั่วทั้งประเทศ ภูตตนนี้เป็นร่างของสัตรีและจะปรากฏกายทุกคืน พระเจ้าแผ่นดินจะเข้าที่พระบรรทมและทรงร่วมสมพาสด้วยก่อน แม้แต่บรรดามเหสีทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่กล้าเข้าไปในปราสาทนี้ พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกจากปราสาทนั้นเมื่อเพลายามที่ 2 แล้วจึงจะเข้าที่พระบรรทมร่วมกับพระมเหสีและพระสนมได้

ถ้าหากราตรีใดภูตตนนี้ไม่ปรากฏกาย ก็หมายความว่าเวลาสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนพระองค์นั้นใกล้เข้ามาแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของชาวป่าเถื่อนมิได้เสด็จไปเพียงราตรีเดียว ก็จะต้องทรงได้รับภัยอันตราย

[บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ ของ โจวต้ากวาน แปลเป็นไทยโดย เฉลิม ยงบุญเกิด สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง 2543 หน้า 12-13]

แม่อยัวเมือง

กฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา ระบุพระราชพิธีเบาะพกที่พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปบรรทมกับแม่อยัวเมือง (ในกฎมณเฑียรบาลเรียกแม่หยัวพระพี่) ในพระตำหนักศักดิ์สิทธิ์

หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงร่วมเพศสมพาสกับนางนาค ซึ่งเป็นแบบแผนดั้งเดิมที่สืบจากกัมพูชา

เบาะพก เป็นคำเขมร หมายถึง มีบางอย่าง (เช่น อวัยวะเพศชาย) ทิ่มๆ ตำๆ บริเวณใต้ชายพก (ของหญิง)

แม่อยัวเมือง เป็นคำดั้งเดิม (บางทีเขียนว่าแม่หยัวเมือง) กร่อนจาก “แม่อยู่หัวของเมือง” หมายถึง หญิงเป็นใหญ่สุด (ในพิธีกรรม) ของเมือง หรือราชอาณาจักร ในที่นี้คือ ผีบรรพชนที่เป็นแม่หญิง

เทียน สัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย

เทียน เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย ใช้ในพิธีแต่งงานยุคอยุธยา หรือก่อนนั้น

[ในนิทานกัมพูชา มีบอกว่าประเพณีแต่งงานต้องมีเทียนทองเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย]

มีคำร้องในบทมโหรีกรุงเก่า (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวมพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2460) ดังนี้

เจ้าเอยเทียนทอง      ปิดเข้าที่หน้าแท่นทอง
ทำขวัญเจ้าทั้งสอง       ให้เจ้าอยู่ดีกินดี
ให้อยู่จนเฒ่าชรา         ให้เจ้าเป็นมหาเศรษฐี
อายุยืนได้ร้อยปี          เลี้ยงพระบิดามารดา

ประเพณีแต่งงานยุคกรุงเก่าหรือก่อนหน้านั้น ต้องมีพิธีทำขวัญบ่าวสาว เหมือนกันหมดทุกบ้านเมืองในสุวรรณภูมิ

เทียน มีลักษณะยาวเป็นแท่ง ใช้จุดไฟมีแสงสว่างตรงไส้เทียนในพิธีกรรมทางศาสนา

พระราชพิธีขอฝน มีปั้นเมฆ

ปั้นเมฆ หมายถึง พิธีขอฝนโดยทำรูปจำลองหญิงชายเปลือยแสดงอวัยวะเพศ หรือสมสู่ร่วมเพศกัน แล้วจัดวางกลางแจ้งในที่สาธารณะให้คนเห็นทั่วไป แล้วเรียกรูปจำลองนั้นว่ารูปปั้นเมฆ

[รูปจำลองทำได้หลายอย่าง เช่น หล่อโลหะ, แกะสลักไม้, ปั้นดินเหนียวแล้วทาปูนขาวหรือไม่ทาก็ได้]

ขอฝนโดยปั้นเมฆสัญลักษณ์สมสู่กัน น่าจะมีในราชสำนักยุคอยุธยา แต่ไม่พบหลักฐานตรงๆ ครั้นล่วงถึงยุครัตนโกสินทร์ มีร่องรอยปั้นเมฆในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน พระราชนิพนธ์ ร.5 ทรงเล่าว่าปั้นเมฆในพระราชพิธีพรุณศาสตร์ (เดือน 9) เป็นพิธีพราหมณ์ “อยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย” แต่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะคัดมา (โดยจัดย่อหน้าใหม่) ดังนี้

“การตบแต่งโรงพระราชพิธีและเทวรูป ก็คล้ายกันกับพิธีอื่นๆ คือปลูกโรงพิธี——-”

“ขุดสระกว้าง 3 ศอก ยาว 3 ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลาเหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต

ตรงหน้าสระออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว

การที่จะปั้นนั้นต้องตั้งกำนลปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย 3303 เบี้ย ข้าวสารสี่สัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น”

ครกกับสาก

หนุ่มร้องเกี้ยวสาว ในพิธีขอฝนหน้าแล้งช่วงเดือน 5 ต่อเดือน 6 มีบทหนึ่งว่า

เดือนห้า                  ต่อเดือนหก
ให้น้องเตรียมครก        พี่จะยกสากมา

แปลความได้ว่าหน้าแล้งช่วงเดือนห้าต่อเดือนหก น้องหญิงเตรียมครกไว้ พี่ชายจะยกสากไปตำใส่ครกของน้องหญิง

หมายความว่าฝ่ายชายจะไปแต่งงานกับฝ่ายหญิง หรือมีนัยยะว่าฝ่ายชายจะไปมีเซ็กซ์กับฝ่ายหญิง

กิริยาสากในครกยกขึ้นยกลง ทิ่มๆ ตำๆ กระแทกกระทั้น เสมือนอาการของอวัยวะเพศชายสอดใส่อวัยวะเพศหญิง แล้วชักเข้าชักออก

ครก หมายถึงอวัยวะเพศหญิง

สาก คือ สากตำข้าวหรือสากกะเบือ หมายถึงอวัยวะเพศชาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image