ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชาวอเมริกันยุคเริ่มแรก…ที่เข้ามาในสยาม

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชาวอเมริกันยุคเริ่มแรก…ที่เข้ามาในสยาม

ข้อมูลจากหนังสือ The Eagle and The Elephant ระบุว่า

พ.ศ.2364 เรือสินค้าอเมริกันลำแรกเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และทยอยกันเข้ามา เป็นเรื่องการค้าขาย เรื่องศาสนาผสมผสานกันมา ไม่มีเรื่องของการคุกคาม ข่มขู่

พ.ศ.2367 แผ่นดินรัชกาลที่ 3 นายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอเมริกันที่เป็นเจ้าของกิจการเรือ เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ได้ข่าวว่าใน “เมืองแม่กลอง” มีเด็กแฝดตัวติดกัน เป็นมนุษย์ประหลาด จึงไปพบแฝดอิน-จัน ซึ่งขณะนั้นอายุ 13 ปี กำลังแหวกว่ายอยู่กลางแม่น้ำในแม่กลอง เป็นภาพอัศจรรย์ที่ร่างของทั้ง 2 เคลื่อนไหวอย่างกลมเกลียวเหมือนเป็นคนเดียวกัน แต่มี 2 หัว 4 แขน และ 4 ขา จึงพยายามเข้าไปทำความรู้จักกับพ่อ-แม่

ADVERTISMENT

พ่อค้าคนนี้และหุ้นส่วน คือ กัปตันคอฟฟิน มองเห็นว่าเจ้าแฝดคู่นี้คือมนุษย์มหัศจรรย์ จะทำเงินมหาศาลถ้านำตัวเป็นๆ ไปแสดงในอเมริกาและในยุโรป

พ.ศ.2372 แฝดสยาม อิน-จัน เดินทางออกจากสยามประเทศ ใช้เวลาในเรือชื่อ Sachem ราว 4 เดือนเศษ ขึ้นบกที่บอสตัน สหรัฐ ด้วยค่าตัว 20 ชั่ง หรือ 1,600 บาท เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน

ADVERTISMENT

ชื่อของ Siamese Twins ไปปรากฏตัวต่อสาธารณชนนับครั้งไม่ถ้วนในอเมริกาและยุโรป พ่วงชื่อ Siam ไปด้วยแบบเนียนๆ แฝดสยามกลายเป็นคนอเมริกันเต็มตัว อายุยืนยาวถึง 63 ปี มีลูกหลานผ่านมา 7 ชั่วอายุคน รวมกันแล้วราว 1,500 คน

ถ้าจะว่าไปแล้ว…การค้า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงพลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูตมักจะตามมาทีหลัง

มิถุนายน 2374 เดวิด เอบีล (David Abeel) มิชชันนารีอเมริกันคนแรกมาถึงประเทศสยาม แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถชักชวนชาวไทยจำนวนมากให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ได้ แต่พวกเขาก็ได้นำความรู้ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการศึกษาสมัยใหม่มาสู่ราชอาณาจักร ดร.เดวิด อาบีล ถือเป็นผู้บุกเบิกด้านการแพทย์คนแรกๆ ในประเทศไทย

นพ.แดน บีช แบรดลีย์ แพทยศาสตรบัณฑิตจากนิวยอร์ก เป็นที่รู้จักจากการแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษและเปิดโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย

ช่วง พ.ศ.2375 ประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ๊กสัน (Andrew Jackson) ได้ส่ง นายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ (Edmund Roberts) เรียกตามสำเนียงไทยว่า
เอมินราบัด นักการทูตชาวอเมริกัน เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทางตะวันออก เพื่อจัดทำข้อตกลงทางการค้า เพื่อเจรจาสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) โดยเรือรบ อเมริกันพีค็อก ในรัชสมัยของในหลวง ร.3

(ระหว่างต้นปี พ.ศ.2375 ถึงเดือนพฤษภาคม 2377 โรเบิร์ตส์ได้เดินทางรอบโลก ในระหว่างการเดินทาง เขาได้เจรจาสนธิสัญญากับสุลต่านแห่ง มัสกัต (โอมาน) และกษัตริย์แห่งสยาม หลังจากกลับมายังสหรัฐอเมริกาและวุฒิสภาให้สัตยาบันสนธิสัญญาแล้ว ปี 2378 โรเบิร์ตส์ก็ถูกส่งกลับไปยังมัสกัตและสยามเพื่อแลกเปลี่ยนการให้สัตยาบัน)

18 มีนาคม 2375 ทูตโรเบิร์ตส์ได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.3

20 มีนาคม 2375 สหรัฐ-ไทย สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนบรรณาการระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากเรือที่นำบรรณาการจากประธานาธิบดีสหรัฐมาไม่ทันกำหนด โรเบิร์ตส์จึงได้ถวายสินค้าจากเมืองจีนไปก่อน ส่วนของที่โรเบิร์ตส์ได้รับพระราชทานแทนประธานาธิบดีสหรัฐนั้น โรเบิร์ตส์ได้บันทึกว่า…

“เมื่อวาน และวันนี้ได้รับสิ่งของพระราชทาน ผ่านเจ้าพระยาคลัง ดังนี้ งาช้าง น้ำตาล น้ำตาลปึก พริกไทย กระวาน รงทอง ไม้กฤษณา ไม้ฝาง และคราม”

เนื้อหาของหนังสือสัญญาไมตรีและข้อตกลงด้านการค้าส่วนใหญ่เหมือนกับสนธิสัญญาเบอร์นีที่อังกฤษได้ทำไว้ก่อนหน้า แต่สหรัฐได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าอังกฤษ

สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ฉบับนี้ ถือว่าได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ถือเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกของสหรัฐอเมริกากับประเทศในเอเชีย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นมิตรเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคอย่างแท้จริง

การเตรียมการต้อนรับทูตต่างประเทศ มีบันทึกของสยามว่า เป็นหน้าที่ของกรมท่า กรมพระตำรวจ กรมพระคลังวิเศษ กรมพระคลังในซ้าย กรมรักษาพระองค์ กรมกลาโหม กรมพระนครบาล กรมนา กรมพระคลัง กรมมหาดไทย และกรมวัง

ถือว่า…เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่งดงาม ไทย-สหรัฐ

ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาในสยามบ้างแล้ว พ่อค้า นักสอนศาสนา ซึ่งชาวอเมริกันเหล่านั้น คือ แหล่งข้อมูลที่สำคัญ ที่ป้อนข่าวสารให้กับวอชิงตัน

จอห์น เทย์เลอร์ โจนส์ (John Taylor Jones) เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันและเป็นหนึ่งในมิชชันนารีโปรเตสแตนต์คนแรกๆ ในสยาม เดินทางมาถึงสยาม ร่วมกับ เอลิซา กรูว์ โจนส์ ภรรยาบาทหลวงโจนส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้แนะนำแผนที่โลกสมัยใหม่มาให้กับสยาม แปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาสยาม (ไทย) จากภาษากรีก

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะนำมาบอกเล่าช่วงนี้ ปรากฏในช่วงปลายรัชสมัยในหลวง ร.3 ต่อรัชสมัยในหลวง ร.4 ครับ

นายโจนส์เกิดที่เมืองนิวอิปสวิช รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2345 สำเร็จการศึกษาจาก Amherst College และศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา

14 กรกฎาคม 2373 แต่งงานกับ Eliza Grew Jones สมัครเป็นมิชชันนารีในบอสตัน สมัครใจอุทิศตนในฐานะมิชชันนารีไปทำงานในพม่า ภายใต้องค์กร American Baptist Missionary Union (ABMU) เขาและภรรยาอุทิศตนให้กับพระคริสต์

ลงเรือเดินทางไปยังประเทศพม่า ไปทำงานด้านศาสนาในเมืองมะละแหม่ง (Maulmein) ที่มีคณะสอนศาสนาทำงานอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาย้ายไปย่างกุ้ง

ปี พ.ศ.2375 บาทหลวงโจนส์และภรรยาได้รับการแจ้งเตือนว่าจะต้องย้ายมาทำงานในสยาม

เมษายน 2376 คณะบาทหลวงโปรเตสแตนต์เดินทางด้วยเรือใบชื่อ Reliance ซึ่งเป็นของนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) มาถึงบางกอก ภารกิจคือการเผยแผ่ศาสนา พร้อมกับเข้ามาสอนหนังสือ

นายฮันเตอร์ที่ชาวสยามออกเสียงเรียกไม่สะดวกปาก เลยเรียกว่านายหันแตร เป็นพ่อค้าผู้กว้างขวางในบางกอก เป็นผู้ประสานงาน เป็นชาวต่างชาติที่มาเปิดห้างสรรพสินค้า มีโรงแรมที่พัก เปิดบาร์ดื่มสังสรรค์ และยังมีเพื่อนเป็นชนชั้นสูงที่บันทึกเป็นภาษาอังกฤษว่า พระคลัง (Praklang)

บาทหลวงโจนส์ที่แสนจะกระตือรือร้น ยังไม่เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวสยาม กระตือรือร้นมาก รีบทำหน้าที่ โดยมีแผ่นพับเรื่องกิจการศาสนาตระเวนไปแจกจ่ายไปตามบ้าน ใช้การโยนแผ่นพับเข้าไปในกระท่อมหลายหลัง และบ้านลอยน้ำ เรือ และเรือสำเภา หลังจากนั้นการสื่อสารที่ไม่รู้เรื่อง อาจจะมีการปฏิบัติที่แข็งกระด้าง เลยทำให้ชาวสยามขุ่นเคือง

เจ้าหน้าที่ของสยามเห็นว่าผิดปกติ จึงออกคำสั่งขับไล่บาทหลวงโจนส์ให้ออกไปจากบางกอกและต้องเผาแผ่นพับของเขา

นายหันแตร ชาวอเมริกันผู้กว้างขวาง ต้องรับบทหนัก พยายามเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชสำนักผู้ใหญ่ที่ชื่อ พระคลัง เข้าใจ และแปลแผ่นพับเหล่านั้นให้ผู้ใหญ่ในราชสำนักรับทราบ

ผู้ใหญ่ในราชสำนักไม่พบสิ่งที่น่าคัดค้านในแผ่นพับเหล่านั้น บาทหลวงโจนส์จึงรอดพ้นจากข้อกล่าวหา พระคุณเจ้า ได้รับการต้อนรับ ให้เข้าพักในบริเวณที่พักของนักการทูตเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์

ฮันเตอร์แนะนำพระคุณเจ้าให้รู้จักกับพระคลัง ซึ่งต้อนรับเขาด้วยความเมตตาอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะพวกเขาเป็นพลเมืองอเมริกัน

ทูตโรเบิร์ตส์ได้รับแจ้งว่า การเจรจาสนธิสัญญาของอเมริกากำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พระคุณเจ้าโจนส์แจ้งให้โรเบิร์ตส์ทราบว่าพันตรีเบอร์นีย์ ซึ่งเคยเจรจาสนธิสัญญาเบอร์นีย์ เมื่อ 6 ปีก่อน บอกกับพระคุณเจ้าโจนส์ว่าชาวอเมริกันได้รับความสำคัญมากกว่าชาวต่างชาติอื่นๆ อย่างแน่นอน

พระคุณเจ้าโจนส์และครอบครัวได้ย้ายไปยังที่พักแห่งใหม่ซึ่งจัดเตรียมไว้โดยกงสุลโปรตุเกสที่พูดภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสยาม ใกล้กับชุมชนของชาวพม่า บ้านหลังนี้เคยเป็นของนายอาบีล มิชชันนารีชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง

กันยายน พ.ศ.2376 บาทหลวงโจนส์ได้จัดทำคำสอนเรื่องภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นภาษาสยามเสร็จ นอกจากนี้เขายังแปลเอกสารภาษาพม่าขนาดเล็กซึ่งมีเนื้อหาสรุปหลักคำสอนของคริสเตียนเป็นภาษาสยามอีกด้วย

28 มีนาคม 2381 นาง Eliza Jones ภรรยาของบาทหลวงเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคที่กรุงเทพฯ บาทหลวงโจนส์แต่งงานใหม่ ทำงานรับใช้เป็นมิชชันนารีในกรุงเทพฯเป็นเวลา 42 ปี

13 กันยายน พ.ศ.2394 พระคุณเจ้าโจนส์อายุ 49 ปี เสียชีวิต ร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์กรุงเทพฯ

ช่วงเวลานั้น…ในอเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง (American Civil War) ประวัติศาสตร์ท่อนนี้ ไม่เล่า ไม่ได้ครับ

14 กุมภาพันธ์ 2404 ในหลวง ร.4 ทรงมีพระราช หัตถเลขาถึง ปธน.เจมส์ บุคะนัน โดยจะพระราชทาน “ช้าง” ให้เป็นของขวัญ ซึ่งทรงได้รับคำตอบจาก ปธน.อับราฮัม ลินคอล์น ในเวลา 1 ปีต่อมา

เมษายน 2422 อดีตประธานาธิบดี ยูลิซิส เอส แกรนท์ เยือนสยาม

ในยุค 1900 ชาวไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับอเมริกาและแนวคิดเรื่อง “ความฝันแบบอเมริกัน” มากขึ้น ซึ่งทำให้คนไทยย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น แพทย์ชาวไทยหลายพันคนที่เดินทางมาอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เพื่อรับการฝึกอบรมในอเมริกา

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวไทยในการศึกษาต่อต่างประเทศ ไปท่องเที่ยวและประกอบอาชีพ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image