ประเทศไทย4.0เอาจริงหรือ? : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เรื่องประเทศไทย 4.0 ที่กำลังเป็นเรื่องฮิตพูดกันอยู่ทุกวันในขณะนี้ว่าเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยปัจจุบันที่มีวิสัยทัศน์ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามานานนักหนาแล้ว แล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาสักที แม้แต่ประเทศเกาหลีใต้ที่ไทยเราส่งทหารไปช่วยรบในสงครามเกาหลี (พ.ศ.2493-2496) เพื่อไม่ให้ตกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์เมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งสภาพประเทศพังพินาศไปหมดภายหลังสงครามก็ยังสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงขมีขมันที่จะใช้นโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียสักที

อีทีนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างไร? ทำไมประเทศไทยถึงเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้สักที

ครับ! ประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่สามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการอย่างมีประสิทธิภาพในทุกสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตทางอุตสาหกรรม

แต่สำหรับประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงานราคาถูกในการผลิตทั้ง 3 ประการนี้ก็จะมีเศรษฐกิจที่มักจะผันผวนไปตามราคาสินค้าในตลาดโลก และเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ประเทศเหล่านี้นั่นแหละที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั่นเอง

Advertisement

ที่ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ และไต้หวัน ก็เพื่อที่จะชี้เปรียบเทียบว่าทั้ง 3 ประเทศนี้ได้ก้าวพ้นการเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว ทั้งๆ ที่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกับไทยอยู่เลย

ประเทศไทย 4.0 ตามที่บรรดาคนของรัฐบาลออกมาอธิบายก็คือ ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคแรกถูกเรียกว่า “ประเทศไทย 1.0” เน้นการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตและขาย พืชไร่ พืชสวน เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น ยุคสองถูกเรียกว่า “ประเทศไทย 2.0” เน้นอุตสาหกรรม แต่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตและขายรองเท้า เครื่องหนัง เครื่องดื่ม เครื่องประดับ เครื่องเขียน กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และทุกวันนี้จัดอยู่ในยุคที่สาม เรียกว่า “ประเทศไทย 3.0” เป็นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การผลิตและขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นน้ำมัน แยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่ไทยในยุค 1.0 2.0 และ 3.0 รายได้ประเทศยังอยู่ในระดับปานกลาง อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรีบพัฒนาเศรษฐกิจสร้างประเทศ จึงเป็นเหตุให้นำไปสู่ยุคที่สี่ที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ มีรายได้สูง โดยวางเป้าหมายให้เกิดภายใน 5-6 ปีนี้

ที่เรียกแบบนี้ก็ไปเอาตามแบบประเทศที่พัฒนาที่เขาตั้งชื่อโมเดลเศรษฐกิจเก๋ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาก็มี “A Nation of Makers” อังกฤษก็มี “Design of Innovation” อินเดียก็มี “Made in India” หรือประเทศเกาหลีใต้ที่วางโมเดลเศรษฐกิจในชื่อ “Creative Economy”

Advertisement

ว่าที่จริงแล้วเรื่องประเทศไทย 4.0 นี่ดูเหมือนจะดัดแปลงมาจากหนังสือเก่ามากของนายอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ นักคิดนักเขียนในแนวอนาคตศาสตร์แห่งศตวรรษที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง หนังสือเล่มนี้ชื่อ The Third Wave พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2523 แบบว่าเขียนมา 37 ปีแล้ว เนื้อหาของหนังสือพอสรุปได้โดยสังเขปว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ (ความจริงก็เหมือนหลักคำสอนของทางพระพุทธศาสนานั่นเอง) ซึ่งเมื่อโลกเจริญขึ้นการเปลี่ยนแปลงก็เกิดเร็วขึ้น โดยข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ยืนยันในเรื่องนี้คือ มนุษย์เรานั้นเมื่อหลายแสนปีมาแล้วมีวิธีหากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยการ “ออกเก็บของป่าและล่าสัตว์” จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการ “ปฏิวัติการเกษตร” คือแทนที่จะออกไปเก็บของป่าและล่าสัตว์มาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่ผ่านมา และเมื่อประมาณ 400 กว่าปีที่ผ่านมาก็เกิดการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ขึ้น คือการใช้วิทยาศาสตร์มาสร้างเครื่องจักรกลเพื่อทำงานแทนแรงงานของคนและสัตว์ได้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ครั้งนี้ทอฟฟ์เลอร์เรียกว่าคลื่นลูกใหญ่หรือ “สึนามิ” ที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิตวัฒนธรรมของมนุษยชาติ จะเห็นได้จากการปฏิวัติการเกษตรทำให้เกิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ เช่น อารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมกรีก ขึ้นมาทำลายลักษณะสังคมแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ไปโดยสิ้นเชิง

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีเศษมานี้ ที่ทวีปยุโรปซึ่งเป็นทวีปที่เล็กที่สุดแต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้บรรดาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต้องพ่ายแพ้แก่ประเทศเล็กๆ ในยุโรปอย่างราบคาบ และบรรดาประเทศเล็กๆ ในยุโรปได้เป็นเจ้านายเหนือผู้คนในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาทั้งเหนือและใต้ รวมทั้งทวีปออสเตรเลียด้วย

การปฏิวัติครั้งสำคัญทั้ง 2 ครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันนันทนาการ ซึ่งสังคมใดหรือมนุษย์คนใดไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ก็จะล่มสลายไปเหมือนสิ่งปลูกสร้างหรือพืชและสัตว์ที่ถูกสึนามิโถมเข้าไปทำลายโดยสิ้นเชิง

ทอฟฟ์เลอร์ได้เสนอว่า การปฏิวัติของโลกคือการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารครั้งที่ 3 ของสังคมมนุษย์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2493 คือ “การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร” หรืออย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันก็คือยุคคอมพิวเตอร์นั่นแหละ ซึ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดมีความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ดูง่ายๆ ก็เช่นกล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เครื่องพิมพ์ เครื่องโรเนียวก็หาไม่ได้แล้วเช่นกัน ส่วนทางด้านการเมืองก็เห็นได้ว่าระบอบการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายไป ประเทศอภิมหาอำนาจเช่นสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย เกิดเป็นประเทศใหม่ 15 ประเทศ

ครับ! ใครปรับตัวไม่ได้ ยืนหยัดขวางทางสึนามิก็มีแต่พังพินาศไปแน่นอนทีเดียว

คําพูดที่มีชื่อเสียงที่สุดของทอฟฟ์เลอร์ที่ว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.” แปลว่าในศตวรรษที่ 21 นี้คนที่ไม่รู้หนังสือจะไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้เสียแล้ว หากแต่เป็นบุคคลที่ไม่สามารถเรียนรู้อะไรเลย และไม่สามารถที่จะยอมรับรู้ว่าสิ่งที่เคยเรียนมานั้นว่าตกยุคสมัยคือผิด และไม่สามารถที่จะเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ได้นั่นเอง”

พูดง่ายๆ ก็คือ ในโลกสมัยศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของการปกครองแบบประชาธิปไตยอันเป็นผลของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารนั่นเอง การที่ไม่ยอมรับรู้ว่าการปกครองแบบเผด็จการนั้นมันใช้ไม่ได้แล้วในศตวรรษที่ 21 และยังคงไม่ยอมเรียนรู้คุณูปการของการปกครองแบบประชาธิปไตยคือผู้ที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษนี้นี่เอง

นั่นน่ะซีครับ “ประเทศไทย 4.0” จะเอาจริงหรือครับ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image