เกมของอิสรภาพ : โดย กล้า สมุทวณิช

ไม่ว่าอย่างไร เรื่องของคุณยู่ยี่อดีตนางแบบดังในยุค 90 ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

จะเป็นฝ่ายที่เชื่อในความบริสุทธิ์ของเธอก็ดี หรือยอมรับในคำพิพากษาของศาลก็ตาม แต่ผลลัพธ์คือ โทษจำคุกสุทธิ 15 ปี กับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในทางคดีที่อาจกล่าวได้ว่า หากคดีความของเธอเป็นเกมกระดานแล้วละก็ เต๋าแห่งชะตาก็ทอดผลักเธอลงไปในช่อง “โชคร้าย” “โชคร้ายเข้าไปอีก” และ “โชคร้ายจริงๆ” ไม่รู้กี่ทอดต่อกี่ทอด

(หากสนใจ ท่านอาจจะอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ “ความโชคร้ายในทางคดี” และชีวิตในเรือนจำของ
เธอได้ จากรายงานของทีมข่าวกระบวนยุติธรรม เว็บไซต์ประชาไท หัวข้อข่าว “ชำแหละคดี ‘ยู่ยี่’ : พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ที่มาช้า-เสียงเพื่อนร่วมห้องขัง “พี่ยี่นั่งเหม่อทุกวัน” ได้ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บแล็ตสแกน QR Code ท้ายคอลัมน์นี้)

นอกจากนี้ ยังมีข้อวิเคราะห์มาจากคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ว่าเรื่องนี้เป็นการ “เดินหมาก” ผิดในทางคดีทำให้ต้องรับโทษยาวนาน เพราะหากคุณยู่ยี่ยอมรับสารภาพตั้งแต่ในศาลชั้นต้นโดยไม่สู้คดี โทษ 20 ปี ก็อาจจะลดเหลือเพียง 10 ปี จากนั้นจะมีสิทธิได้รับอภัยโทษครั้งละ 1 ใน 5 เท่ากับโทษจาก 10 ปี จะเหลือ 5 ปี เมื่อถูกขังมาแล้ว 3 ปี เท่ากับว่าถูกจำคุกเกิน 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ เข้าเงื่อนไขขอ “พักโทษ” ได้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น ถึงวันนี้คุณยู่ยี่ก็น่าจะได้รับอิสรภาพแล้ว

Advertisement

คุณชูวิทย์สรุปเรื่องนี้ด้วยภาษิตภาษาคุกว่า “สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน”

คําแนะนำนี้อาจจะ “ถูกต้อง” หากพิจารณากันที่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนยุติธรรมอย่างที่คุณ “ใบตองแห้ง” ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในที่สุดระบบการต่อรองลดโทษแบบนี้เท่ากับผู้กระทำผิดจริงๆ และคิดว่าตนไม่รอดแน่ก็รีบรับสารภาพ จะได้พ้นคุกเร็วๆ แต่คนที่เชื่อว่าตัวเองไม่ผิด พยายามต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง หากแพ้คดี จะยิ่งโดนโทษหนัก ติดคุกนานกว่า รวมถึงคนที่ไม่ผิด แต่มองว่าสู้คดียาก โดยเฉพาะคนยากจนจะเลือกหนทางรับสารภาพเสียดีกว่า ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดทางเลือก ที่บีบบังคับสำหรับผู้ที่บริสุทธิ์หรือเชื่อว่าบริสุทธิ์ให้ต้องรับสารภาพและรับโทษโดยไม่จำเป็นนั้น มาจากความสามารถในการต่อสู้คดี โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง คือการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดี หรือที่เราเรียกกันว่า “การประกันตัว” ออกมาสู้คดีหรือไม่

Advertisement

สมมุติมีความผิดอาญาในเรื่องหนึ่ง มีโทษจำคุกอย่างสูง 10 ปี แต่หากให้การรับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งอาจเข้าเงื่อนไขรอการลงโทษได้ ส่วนกระบวนการตั้งแต่วันจับกุมจนถึงคดีถึงที่สุด จะใช้เวลาเฉลี่ยทั้งสิ้น 5 ปี

ถ้านำเอากรณีสมมุติดังกล่าวมาแจกแจงลงในตาราง จะสรุปทางเลือกของจำเลยได้ ดังนี้ (ดูตารางประกอบ)

tablep16-21-360

จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า กรณีที่ดีที่สุดหรือการ “ชนะเกม” คือการต่อสู้คดีแล้วศาลยกฟ้อง แต่มีเงื่อนไขว่าระหว่างต่อสู้คดีต้องได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวมาตลอด ส่วนกรณีที่ถ้าศาลพิพากษาลงโทษ ไม่ว่าจะทางไหนก็จะถือว่าเป็นเรื่อง “แพ้ติดนาน” ต้องถูกจำคุก 10 ปี กระนั้นในกรณีที่ได้ประกันตัวก็อาจจะได้เป็นอิสระอยู่ประมาณ 5 ปีระหว่างต่อสู้คดี ส่วนกรณีไม่ได้ประกันตัวก็จะต้องติดยาวตั้งแต่เริ่มดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำพิพากษาลงโทษมาแล้วก็นำวันคุมขังระหว่างนั้นมาหักออกจากโทษที่ได้รับได้

ส่วนกรณีที่จัดว่าเลวร้าย คือระหว่างต่อสู้คดีไม่ได้รับการประกันตัวมาตลอด แต่ปรากฏเมื่อคดีถึงที่สุดศาลยกฟ้อง ก็เท่ากับจะ “ติดคุกฟรี” ระหว่างพิจารณาคดีไป 5 ปีเลยทีเดียว กรณีนี้ก็คือการ “สู้ติดแน่” ตามภาษิตคุณชูวิทย์ จริงอยู่ว่าอาจจะได้ค่าทดแทนหากศาลยกฟ้อง โดยพิพากษาว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่จะได้เงินมาเท่าไรก็ไม่อาจทดแทนอิสรภาพและชีวิตที่สูญเสียไปได้

ดังนั้นหากมองเป้าหมายรวบยอดเป็นอิสรภาพที่อาจจะได้รับกลับมาหรือต้องเสียไป ในกรณีที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาแล้วมีทีท่าว่าจะไม่ได้รับการประกันตัวนั้น การเลือกรับสารภาพเป็นการ “เดินหมาก” ทางคดีที่เหมือนจะฉลาดที่สุด เพราะเท่ากับว่ามีแต่ “ติดน้อย” คือได้รับโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 5 ปี ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่หากศาลปรานีอาจจะพิจารณารอการลงโทษไม่ติดคุกเลยก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขล่อใจเพิ่มเติมเรื่องการลดวันต้องโทษในเรือนจำมาร่วมเป็นปัจจัยของอิสรภาพในกรณีที่คดี “จบเร็ว” ด้วย โดยการ “รับสารภาพ” เพื่อให้ได้รับโทษน้อยที่สุด และคดีเสร็จเด็ดขาดเร็วเท่าไร ก็อาจจะส่งผลให้การอยู่ในเรือนจำนั้นสั้นลงไปกว่า 5 ปีก็ได้ ในขณะที่หากสู้คดีแล้ว กว่าจะเข้าสู่กระบวนการลดโทษได้ก็ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งถ้าคิดตามกรณีสมมุติก็ประมาณ 5 ปี

อีกทั้งการสู้คดีทั้งที่ตัวถูกกักขังอยู่ในเรือนจำก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการสู้คดี หรือหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วย เรียกว่าถ้าเลือกทางสู้ แต่ไม่ได้ปล่อยชั่วคราว ก็เท่ากับการเล่นเกมยากขึ้น โดยให้แต้มต่อไว้แก่ฝ่ายโจทก์กันดีๆ นี่เอง

แต่สำหรับผู้ที่บริสุทธิ์ หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่าตัวเองบริสุทธิ์เล่า การรับสารภาพที่แม้จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่ออิสรภาพนั้น อีกทางหนึ่งก็เท่ากับว่าเขาไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมเลยว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้น ที่แท้แล้วเป็นความผิดหรือไม่ การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวก็เหมือนการบีบให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเล่นเกมอิสรภาพที่มีแต่ผลออกมาได้เพียงว่าจะถูกขังยาว ถูกขังสั้นลงมา หรือได้ปล่อยตัวไปโดยมีชนักปักหลังว่าเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง

การปล่อยชั่วคราวจึงควรจะเป็นสิทธิสำคัญสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ที่ในทางรัฐธรรมนูญแล้วจะถือว่า บุคคลจะต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิด โดยระหว่างนั้นจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้วมิได้

แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า บุคคลผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญานั้นมีความเป็นไปได้สองทาง คือเป็นผู้บริสุทธิ์จริง หรือผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา เมื่อหลักการและข้อเท็จจริงนี้มารวมกันเข้า ในทางกฎหมายจึงถือหลักว่า ในระหว่างการดำเนินคดีอาจจะกักขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ได้เท่าที่จำเป็น โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก เว้นแต่มีเหตุไม่ควรปล่อย เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรืออาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี หากไม่มีเหตุเช่นนั้น ศาลก็ชอบที่จะให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้เมื่อมีหลักประกันเป็นทรัพย์สินหรือบุคคลที่เชื่อถือได้

ปัญหามันอยู่ที่ “หลักประกัน” นี่เองที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากหลักประกันที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวคือ “ทรัพย์สิน” ยิ่งคดีที่มีโทษสูงเท่าไร หลักทรัพย์ที่จะมาประกันตัวก็ย่อมสูงตามเท่านั้น ทำให้คนที่ไม่มีฐานะเงินทอง หรือไม่รู้จักใครที่มีตำแหน่งพอจะมาประกันตัวให้ได้ (ซึ่งถ้าคดีโทษสูงก็ใช้บุคคลผู้มีตำแหน่งมาประกันตัวให้ไม่ได้อีก) ก็มักจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เกิดเป็นวาทกรรมว่าด้วย “คุกมีไว้ขังคนจน” ที่เจอคุกกันตั้งแต่ยังไม่รู้ผิดรู้ถูก ขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนคดีถึงที่สุดก็มี

จึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในหลายรูปแบบ เช่นการยอมรับให้มีระบบ “กรมธรรม์ประกันอิสรภาพ” ที่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถซื้อประกันจากบริษัทประกันภัย เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวในคดีอาญาได้ โดยไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่นัก หรือกรณีที่ขาดไร้ไม่มีเงินเลย กระทรวงยุติธรรมนั้นก็มีกองทุนเพื่อความยุติธรรมช่วยในการประกันตัวของคนยากจนในกรณีที่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา มาตรการทั้งสองประการนี้ก็แสดงให้เห็นความพยายามของกระบวนการยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ว่านั้น

ความก้าวหน้าล่าสุดคือ การยอมรับเทคโนโลยีระบบติดตามตัวด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือกำไลข้อเท้า EM (Electronic Monitoring) เพื่อตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ไม่ให้หลบหนี หรือไปก่อภัยอันตรายความเสียหายกับพยานหลักฐาน ซึ่งได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปเมื่อปี 2558 นี่เอง และเริ่มมีการใช้ระบบนี้ในศาลยุติธรรมที่เป็นศาลนำร่องไปแล้ว 5 ศาล กับคดีที่อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ถ้าต่อไปการทดลองแล้วระบบนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงน้อย ศาลอาจจะสามารถสั่งปล่อยชั่วคราวโดยไม่เรียกหลักประกันก็ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมในด้านฐานะของบุคคลลงไปได้บ้าง

จึงถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคมโดยรวม และหวังว่าความ “ก้าวหน้า” เช่นนี้น่าจะเอาไปปรับใช้กับ “ทุกคดี” กับผู้ต้องหาหรือจำเลย “ทุกคน” เท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นไปเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ไม่ได้กระทำความผิด ด้วยสิทธิในการต่อสู้คดีที่เป็นธรรมโดยทั่วหน้า

เพื่อไม่ให้การถูกฟ้องศาลในคดีอาญาสำหรับคนบางคนบางกลุ่ม หรือบางฐานความผิด มีสภาพเป็นเกมบังคับเลือก ที่วางเดิมพันด้วยอิสรภาพเหมือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image