สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเหล็ก วัดพุทไธศวรรย์ (1) ทอดน่องท่องเที่ยว แลนด์มาร์กริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศใต้

วัดพุทไธศวรรย์ นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา (จากหนังสือ วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)

วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา มีขึ้นเมื่อหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เชื่อตามตำนานว่าเคยเป็นตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง ตั้งแต่ยุคก่อนมีกรุงศรีอยุธยา (ก่อนเท่าไร? นานแค่ไหน? ไม่รู้) แสดงว่ามีชุมชนเก่าแก่มากอยู่ตรงนี้

วรศักดิ์ ประยูรศุข (บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน) ต้องการสนองคุณเป็นพิเศษต่อผู้อ่านหนังสือเครือมติชน จึงขอให้คุณขรรค์ชัย บุนปาน กับผมไปทอดน่องท่องเที่ยวสถานที่สำคัญ แล้วเล่าเรื่องความเป็นมาของสถานที่นั้น เพื่อถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ (ถ้าเขียนผิดก็ขอประทานโทษด้วย)

คุณขรรค์ชัย เลือกไปทอดน่องท่องเที่ยววัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา เพราะเคยมีประสบการณ์ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนที่ชวนผมกับนักศึกษาจำนวนหนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2512 (48 ปีมาแล้ว)

ครั้งแรกไปขุดค้นวัดเจ้าปราบ ในเกาะเมืองด้านทิศใต้ ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ นอกเกาะเมือง และครั้งหลังเดินสำรวจทั้งในเกาะ และนอกเกาะเมืองอยุธยา รวมบริเวณวัดพุทไธศวรรย์ กับเมืองปทาคูจามที่อยู่ใกล้กัน

Advertisement

นอกจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับนิยายเรื่องขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม

ทั้งหมดทำไปแล้ว เฟซบุ๊ก ไลฟ์ เมื่อวันเสาร์ 18 มีนาคม 2560 ผมเขียนทบทวนตามหลังเล่าความเป็นมาย่อๆ เพื่อบอกเนื้อหาแท้ๆ ซึ่งมีมากกว่าที่พูดบอกเล่าวันเสาร์ที่ผ่านไป

ไม้ เมืองเดิม

ราว พ.ศ. 2505 นักเรียนวัยรุ่นยาจกยากจน 3 คน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ สอบตกชั้นมัธยม 7 แผนกวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ คลองบางกอกใหญ่ (มักเรียกคลาดเคลื่อนเป็นคลองบางหลวง จนกลายเป็นถูกต้องไปแล้ว)

Advertisement

ยุคนั้นศูนย์การค้าใหญ่สุด ทันสมัยสุดๆ อยู่ที่วังบูรพา (ยังไม่มีย่านสยาม) แต่ 3 คน ไม่มีทุนเที่ยววังบูรพา เลยชวนกันเช่าหนังสือนิยายไปแบ่งกันอ่าน ที่กุฏิพระในวัดเทพธิดาราม (ประตูผี) ซึ่งผมคนเดียวเป็นเด็กวัดนั้น จึงต้องรับเป็นเจ้าภาพ

นิยายที่เช่าไปอ่านคือ ขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นหนังสือปกแข็งรุ่นเก่า ตั้งแต่ต้นจนจบมีมากกว่า 5 เล่ม พระเอกชื่อ เสมา เป็นลูกชายคนตีเหล็ก อยู่บ้านสำพะนี เรียนวิชาต่อสู้กับพระครู แห่งสำนักพุทไธศวรรย์ ที่วัดพุทไธศวรรย์

อ่านอร่อยจนจบทุกเล่ม นับแต่นั้นผมก็หัดเขียนเลียนแบบ ไม้ เมืองเดิม สำนวนมึงวาพาโวย หรือ กูๆ มึงๆ บ้านนอกๆ เพราะเข้ากันได้ดีมากๆ กับโคตรเหง้าเหล่ากอ และสันดานส่วนตัวของผมตราบจนทุกวันนี้

แลนด์มาร์ก กรุงศรีอยุธยา

วัดพุทไธศวรรย์ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแลนด์มาร์ก กรุงศรีอยุธยา นอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้ รับแนวเดียวกับวังหลวง เป็นแลนด์มาร์ก ด้านทิศเหนือ ในเกาะเมือง

ฝั่งเกาะเมืองตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ มีประตูไชยบนกำแพงพระนคร ด้านทิศใต้

มีถนนมหารัถยา (ถนนหน้าวัง) กว้าง 12 เมตร ปูด้วยศิลาแลงผ่ากลางพระนคร ตั้งแต่ประตูไชยตรงเข้าสู่วังหลวง ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือ (ผ่านหลังวัดพระราม กับหน้าวัดมงคลบพิตร)

เวียงเหล็ก (วัดพุทไธศวรรย์) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (อยุธยา) อยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ ทำแนวเดียวกับวังโบราณในเกาะเมืองด้านทิศเหนือ ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดอยู่แนวเดียวกัน? ต้องการคำอธิบายอีกมาก (ภาพจากหนังสือ วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)
เวียงเหล็ก (วัดพุทไธศวรรย์) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (อยุธยา) อยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ ทำแนวเดียวกับวังโบราณในเกาะเมืองด้านทิศเหนือ ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดอยู่แนวเดียวกัน? ต้องการคำอธิบายอีกมาก (ภาพจากหนังสือ วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)

ขบวนเรือรับราชการทูตจากฝรั่งเศส ขึ้นมาจากบางกะจะ หน้าวัดพนัญเชิง จอดหน้าวัดพุทไธศวรรย์ ขึ้นฝั่งเกาะเมืองเข้าประตูไชย แล้วมีขบวนแห่รับเลียบถนนมหารัถยาเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นในวังหลวง

ยุคปลายอยุธยา บริเวณสองฝั่งแม่น้ำย่านวัดพุทไธศวรรย์ จึงเป็นตลาดน้ำของชาวบ้านชาวเมืองนานาชาติพันธุ์ แต่มีมากเป็นพวกชวา-มลายู มีบอกไว้ในคำให้การขุนหลวงประดู่ในทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ว่ามีตลาดอยู่บ้านเชิงฉะไกร, ปากคลองคูจาม, บ้านท่าราบ ฯลฯ

บ้านเชิงฉะไกร (บ้านตีนคลองท่อ หรือคลองฉะไกร) อยู่ริมแม่น้ำนอกกำแพง ฝั่งเกาะเมือง ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์

มีโรงร้านขายเสาไม้เต็ง, ไม้รัง (ไม้ทำรอดพรึง), ไม้ไผ่ป่า, ไม้รวก, ไม้ลาย (ในเอกสารจากหอหลวงบอกว่ามาแต่บ้านอัมพวา)

ปากคลองคูจาม ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ พวกแขกชวามลายู (จาม) บรรทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวามาทอดสมอขายของต่างๆ เช่น หมากเกาะ, หวายตะค้ากระแซงเตย ฯลฯ สรรพเครื่องสินค้าปากใต้ (หมายถึงเมืองรอบๆ อ่าวไทย เช่น เมืองแม่กลอง ฯลฯ)

ย่านสำพะนี กับคลองคูจาม (บริเวณที่ทำสกรีนไว้ในแผนที่) ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ นอกเกาะเมือง อยุธยา ด้านทิศใต้
ย่านสำพะนี กับคลองคูจาม (บริเวณที่ทำสกรีนไว้ในแผนที่) ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ นอกเกาะเมือง อยุธยา ด้านทิศใต้

บ้านท่าราบ ขายหม้อน้ำมีหู (คล้ายหม้อคะนน เรียก พะเนียง ไม่ได้ทำเอง รับมาจากที่อื่น) ชาวต่างชาติซื้อไปใส่คราม, ปูน เช่น จีน, แขก, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, วิลันดา (เนเธอร์แลนด์), โปรตุเกส

บ้านสำพะนี

ย่านสำพะนี มีชื่อในเอกสารคำให้การขุนหลวงประดู่ฯ ว่าเป็นย่านการผลิตและขายของต่างๆ มี 3 ตำบล

บ้านสกัดน้ำมัน อยู่หลังวัดพุทไธศวรรย์ สกัดขายน้ำมันพืช เช่น น้ำมันงา, น้ำมันลูกกระเบา, น้ำมันสำโรง, น้ำมันถั่ว ฯลฯ

บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่มีชื่อ) ทำฝาเรือน และเรือนหอไม้ไผ่แบบต่างๆ

บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่มีชื่อ) หล่อเหล็ก เป็นครก, สาก และตั้งเตาตีมีดพร้า ฯลฯ

ไม้ เมืองเดิม สร้างนิยายขุนศึก โดยค้นคว้าหลักฐานแล้วได้อ่านเอกสารนี้ จึงให้ไอ้เสมาเป็นคนตีเหล็กตีมีดตีดาบอยู่บ้านสำพะนี แต่เข้าใจคลาดเคลื่อนทางภูมิสถาน ให้บ้านสำพะนีอยู่ด้านทิศเหนือแถบทุ่งขวัญ (เอกสารระบุว่าอยู่หลังวัดพุทไธศวรรย์ เป็นด้านทิศใต้)

สำพะนี บางทีเรียก สำปันนี หรือ สำปะนี มี 2 ความหมาย ได้แก่ (1) เรือขุดชนิดหนึ่ง รูปเพรียว ด้านหัวและท้ายแบนเรี่ยน้ำ (2) ขนมทำจากแป้ง กวนเข้ากับกะทิและน้ำตาล

ผมพยายามสอบถามผู้รู้ชาวมุสลิม ว่าคำนี้มีความหมายอื่นอีกไหม? แต่ยังไม่ได้คำอธิบายมากกว่านี้

สำนักดาบพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ ตลอด 417 ปี ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีสำนักดาบ หรือเคยมีพระสงฆ์สอนวิชาอาวุธต่อสู้

นักประวัติศาสตร์โบราณคดี ในกรมศิลปากร ตลอดจนมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่เคยพบหลักฐานในตำนานนิทาน พงศาวดาร วรรณคดี ศิลาจารึก ฯลฯ นิทานแทรกพงศาวดาร เกี่ยวกับพระเจ้าเสือกับพันท้ายนรสิงห์ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับวัดพุทไธศวรรย์

“สำนักพุทไธศวรรย์” มีในนิยายเรื่อง ขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม จินตนาการขึ้นเอง เมื่อแรกแต่งราว พ.ศ. 2483 โดยให้ไอ้เสมา เรียนวิชาต่อสู้จากพระครูในสำนักนี้ ต่อมามีผู้เขียนบทเป็นละครโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ราว พ.ศ. 2499-2500

“สำนักดาบ” ชื่อ “พุทไธศวรรย์” เริ่มก่อตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2500 โดยเอกชนผู้หนึ่งขออนุญาตจดทะเบียนชื่อ “โรงเรียนสำนักดาบพุทไธศวรรย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา” อยู่สี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี (กึ่งทางระหว่างวงเวียนเล็ก-วงเวียนใหญ่) ปัจจุบันย้ายไปอยู่เขตหนองแขม กรุงเทพฯ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ มีผู้ส่งให้อ่าน)

[พรุ่งนี้อ่าน พระเจ้าอู่ทอง เป็นชาวสยาม]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image