ลลิตา หาญวงษ์ : นโยบายพม่าภายใต้ทรัมป์ 2.0

นโยบายพม่าภายใต้ทรัมป์ 2.0 – ภายใน 1 สัปดาห์กว่าๆ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 อย่างเป็นทางการ คนทั่วโลกก็สัมผัสถึงลมเปลี่ยนทิศ ทั้งการลงนามในคำสั่งพิเศษยอมรับแค่ 2 เพศ ยกเลิกสัญลักษณ์ X ในเอกสารราชการ การตอบโต้รัฐบาลโคลอมเบียอย่างเผ็ดร้อน โทษฐานปฏิเสธไม่ยอมให้เที่ยวบินผู้อพยพสองเที่ยวที่กองทัพสหรัฐส่งกลับไปโคลอมเบีย และยังมีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางบังคับใช้กฎหมายไปแล้วอีกหลายสิบรายการ

การขึ้นมาของทรัมป์ยังส่งแรงสะเทือนหลายริกเตอร์ไปยังประเทศที่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ เอ็นจีโอทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ จำนวนมากได้รับเงินสนับสนุนเพื่อสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมประชาธิปไตย และอื่นๆ ที่เป็นจุดเน้นของอัตลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐ ทรัมป์ที่มีจุดยืนเรื่อง America First หรืออเมริกาต้องมาก่อน มาตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกระหว่างปี 2017-2021 เมื่อกลับมาอีกครั้ง เขาจึงยังเน้นนโยบายประชานิยม เอาใจชาวอเมริกันสายอนุรักษนิยมแบบไม่พัก รวมทั้งการระงับความช่วยเหลือที่มอบให้ประเทศทั่วโลก เว้นแต่เพียงอิสราเอลกับอียิปต์ เท่ากับว่าโครงการ องค์กร และรัฐบาลที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ อาจได้รับเงินน้อยลงหรือไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเอ็นจีโอหนึ่งที่ ผู้เขียนรู้จักพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานภายใต้รัฐบาลสหรัฐมากถึงร้อยละ 60 ของเงินบริจาคทั้งหมด หรือ IRC (International Rescue Committee) ที่กำลังเป็นข่าว ได้เงินสนับสนุนเกือบทั้งหมดจากรัฐบาลสหรัฐ การกลับมาของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองและภาคประชาสังคมทั่วโลกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี วาระที่ 2 ของทรัมป์อาจมีนัยสำคัญต่อพม่ามากกว่าที่หลายคนคิด ในบทวิเคราะห์ของฮันเตอร์ มาร์สตัน (Hunter Marston) เขามองว่านโยบายในยุคประธานาธิบดีไบเดนไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จะเรียกว่าไม่ให้ความสำคัญกับพม่าเลยก็คงไม่ผิด แม้จะมีกฎหมายสำคัญอย่าง Burma Act ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสมาแล้ว แต่ไบเดนก็ไม่ได้จริงจังกับการจัดการปัญหาภายในพม่า ภายใต้รัฐบาลใหม่ ทรัมป์คงกลับมาทบทวน Burma Act และจะเป็นโอกาสของทรัมป์ที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าสหรัฐอเมริกายังมี “พื้นที่” และมีอิทธิพลอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการส่งเสริมและผลักดันให้พม่ากลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง

พม่าเป็นโจทย์ที่ยากและมีความสลับซับซ้อนอย่างมากสำหรับฝ่ายนโยบายในวอชิงตัน ดี.ซี. ในด้านหนึ่ง หากสหรัฐต้องการกลับมาแข่งขันกับจีนอย่างจริงจังในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พม่าจะเป็นพื้นที่การแข่งขัน (contested area) ที่สำคัญมากระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่สำหรับรัฐบาลยุคไบเดนแล้ว พวกเขาระมัดระวังกับนโยบายใดๆ ที่มีต่อพม่า โดยหวาดระแวงอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก หากสหรัฐเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในพม่า เท่ากับสหรัฐเผชิญหน้ากับจีนโดยตรง อย่างที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้พม่าเป็นพื้นที่หลังบ้านของจีน จีนเข้าไปแทรกแซงทั้งการเมืองภายในของกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนจีน-พม่า และในยุคหลังเข้าไปมีบทบาทนำในการเมืองระดับชาติของพม่าด้วย หากสหรัฐทะเล่อทะล่าเข้าไปในพม่า จีนก็จะยิ่งรุกเข้าไปพม่าหนักขึ้น พม่าไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญตามแผนการเส้นทางสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 หรือ BRI ของจีนเท่านั้น แต่ความไร้เสถียรภาพในพม่ายังสร้างปัญหามากมายให้กับจีน จนไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีก และต้องลงมากำหนดทิศทางการเมืองในพม่าแบบเต็มตัว

ADVERTISMENT

อย่างที่สอง สหรัฐพยายามใช้กลไกอื่นๆ เพื่อ “รุก” เข้าไปในพม่า เช่น ผ่านอาเซียน และใช้นโยบายด้านการทูตอื่นๆ หรือการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) บางส่วน แต่ไม่ต้องการเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในพม่า ความหวาดระแวงที่กล่าวมา ทำให้ในช่วง 4 ปีของประธานาธิบดีไบเดน สหรัฐไม่มีนโยบายพม่าที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้สหรัฐพยายามจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่จีนก็ยังคงมองว่าสหรัฐแทรกแซงการเมืองในพม่า ผ่านการสนับสนุนรัฐบาล NUG กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EROs) การสนับสนุนสำนักข่าวและภาคประชาสังคมที่ต่อต้านรัฐบาล SAC อยู่ดี (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง)

อย่างไรก็ดี ปักกิ่งเองก็ประเมินสหรัฐสูงจนเกินไป และมีมาตรการตอบโต้สหรัฐทุกครั้ง เมื่อสหรัฐเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับพม่า ก่อน Burma Act จะผ่านสภาคองเกรสในปี 2022 ปักกิ่งตอบโต้โดยการแต่งตั้งทูตพิเศษสำหรับกิจการเอเชียคนใหม่ เป็นนายเติ้ง สีจุน (Deng Xijun) และเดินทางไปพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เนปยีดอทันที และยังนัดผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนให้ไปพบที่ยูนนาน เพื่อเป้าหมายการเจรจาหยุดยิง เป้าหมายของจีนตลอดหลายปีมานี้ คือการเจรจาเพื่อให้กองกำลังที่ตนควบคุมพอได้หยุดยิงกับกองทัพพม่าให้ได้ ไม่ใช่เพราะจีนต้องการให้พม่ากลับมาสงบสุข แต่เพราะความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนส่วนที่อยู่ติดกับจีน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบรอบๆ ท่อส่งก๊าซและน้ำมัน จากชายฝั่งรัฐอาระกัน ผ่านพม่าตอนบน ไปจนจรดชายแดนจีนที่รัฐฉานตอนเหนือ ในมุมคิดของจีน ปักกิ่งต้องการปกป้องเพียงผลประโยชน์ของตนในพม่า และแสดงบทบาทว่าตนควบคุมเกมทั้งหมดไว้ได้ เรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริงในพม่าก็คงไม่ผิด

ADVERTISMENT

ในทางกลับกัน นโยบายของสหรัฐในพม่าสวนทางกับท่าทีแข็งกร้าวของจีนในพม่า รัฐบาลไบเดนคงมองว่าพม่าอยู่ไกลเกินไป และไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในประเทศอื่นใด เพราะแค่สงครามในยูเครนก็สร้างความปวดหัวให้วอชิงตันมากเกินพอแล้ว ผู้เขียนมองว่านโยบายพม่าในยุคไบเดนคือข้อผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะการที่สหรัฐไม่เข้ามาแทรกแซง หรือแสดงบทบาทที่คัดง้างกับจีนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทำให้ในเวลานี้ จีนถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐ ไม่ใช่เฉพาะในพม่า แต่เป็นภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม

ต่อคำถามที่ว่า เมื่อทรัมป์ขึ้นมาแล้ว นโยบายที่กระทบกับพม่าจะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่อย่างไร ผู้เขียนมองว่าเราต้องมองนโยบายของทรัมป์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือนโยบายทาง “กายภาพ” หรือตัวเงินที่สหรัฐสนับสนุนด้านการพัฒนา สิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลก ผ่านองค์กรอย่าง USAID และอื่นๆ จะถูกลดทอนลงอย่างแน่นอน นี่เป็นนโยบายที่ทรัมป์ใช้หาเสียง เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม America First และทรัมป์ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าเขามุ่งมั่นจะกำจัด USAID จริงๆ ส่วนที่สอง คือนโยบายเชิงทฤษฎี ทรัมป์เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีน และต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในโลก บุคคลที่ทรัมป์เลือกมาทำงานด้านความมั่นคงหลายคน เช่น ไมค์ วอลซ์ (Mike Waltz) และเจคอบ เฮลเบิร์ก (Jacob Helberg) ล้วนเป็นนักการเมืองและที่ปรึกษาสายต่อต้านจีน มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) ที่ทรัมป์เลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก็มีชื่อเสียงเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาก่อน ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นสหรัฐเข้าไปมีบทบาทในพม่ามากขึ้น และการกดดัน SAC มากขึ้นก็เป็นได้

มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่าหากทรัมป์เลือกการพูดคุยกับจีน และการเจรจากับสี จิ้นผิง ลงตัว เขาก็อาจจะไม่เข้าไปยุ่งกับพื้นที่อิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าทรัมป์จะเลือกเดินเกมในพม่าแบบใด ผู้เขียนยังมองว่าช้าเกินไปแล้วสำหรับสหรัฐ อิทธิพลของจีนในพม่ามีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ หากจะสนับสนุนให้พม่าเป็นประชาธิปไตย และให้ประเทศนี้กลับมายืนบนขาของตนเองได้อีกครั้ง ก็คงไม่พ้นบทบาทของเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับพม่าที่สุดและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพม่ามากที่สุดอย่างไทย และประชาคมอาเซียน ที่ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง และปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ วันนี้ยังไม่สาย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image