หวาดหวั่น หวั่นไหว จัดฉาก กรณี ‘คลังแสง’ เกิดขึ้น ได้อย่างไร

ทั้งๆ ที่รัฐบาลคุม “สื่อ” ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ “คสช.” ล้วนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อ

เหตุใดต้องหวั่นไหวไปกับข้อกล่าวหาในเรื่อง “จัดฉาก”

แถลงอันมาจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงอันมาจาก พ.อ.วินธัย สุวารี สะท้อนออกให้สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม

รูปธรรมแห่งความหวั่นไหว

Advertisement

“การดำเนินการครั้งนี้มีสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์และเจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพการปฏิบัติในขณะเข้าดำเนินการไว้อย่างละเอียดเพื่อเป็นเครื่องยืนยันป้องกันการที่ผู้ไม่หวังดีอาจจะนำไปสร้างเป็นประเด็นทำลายความน่าเชื่อถือ”

เป็นเสียงจาก “คสช.”

“ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการจัดฉากใส่ร้ายเนื่องจากอาวุธมีลักษณะค่อนข้างใหม่และเจ้าของบ้านไม่ได้อาศัยอยู่นานแล้ว”

Advertisement

เป็นเสียงจาก “ทำเนียบรัฐบาล”

ถามว่าการตั้งข้อสังเกตว่า “จัดฉาก” เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

หากสำรวจผ่านการนำเสนอข่าวผ่านสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะภาคของรัฐ ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ยิ่งเมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แถลงพร้อม พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา

ยิ่งฉายชัดการเชื่อมโยงระหว่างการสะสม “อาวุธสงคราม” เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการรุนแรงอย่างน้อยก็ 2 กรณี

1 กรณี “ลอบสังหาร”

เมื่อเป็นการลอบสังหารเป้าหมายย่อมเป็นบุคคลสำคัญ นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

1 การฉวยโอกาสในลักษณะของ “มือที่ 3”

เมื่อเป็นการฉวยโอกาสและแสดงบทบาทในสถานะแห่ง “มือที่ 3” ย่อมจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากสถานการณ์อันเกี่ยวกับ “วัดพระธรรมกาย”

เพราะว่าฐานทางการเมืองของ “โกตี๋” คือ “ปทุมธานี”

สังคมย่อมถอนหายใจด้วยความโล่งอก เพราะการจับกุม “อาวุธสงคราม” เท่ากับเป็นการทำหมันสถานการณ์อันอาจจะเป็นความเลวร้าย

แล้วทำไมต้อง “หวั่นไหว” ในเรื่อง “จัดฉาก”

ความหวั่นไหวจากทีมงาน “โฆษก” ไม่ว่าจะจากทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะจาก คสช. คือ เงาสะท้อนแห่งความหวาดระแวงอันดำรงอยู่ภายในสังคมไทย

ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

และต่อเนื่องมายังก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งสืบเนื่องมายังสถานการณ์วัดพระธรรมกาย สถานการณ์การใช้ “อภินิหาร” ในการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปด้วยเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท

ความหวาดระแวงนั้นเองคือมูลเชื้อก่อให้เกิด “ความสงสัย”

แม้กระทั่งรัฐบาลและ คสช.ซึ่งมีฐานการข่าวอันแน่นหนาจากฝ่าย “ความมั่นคง” เมื่อลงมือปฏิบัติการกลับต้องลังเล ไม่แน่ใจ กระทั่งเกรงไปว่า สังคมจะมองว่าเป็น “การจัดฉาก”

ยิ่งเมื่อจุดเริ่มแห่งความหวาดระแวงมาจากฝ่าย “ปฏิบัติการ” ขณะที่เสียงของสังคมอันสะท้อนผ่านสื่อกระแสหลักไม่ปรากฏร่องรอย

จึงน่าสงสัยในความระแวงและความหวั่นไหวว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ความรู้สึกของ คสช. ความรู้สึกของรัฐบาล อาจมาจากฐาน “การข่าว” และการเคลื่อนไหวของบางส่วนที่ดำรงอยู่

อาจเป็นความรอบคอบ อาจเป็นความรัดกุม

แต่ความรอบคอบและความรัดกุมเช่นนี้อาจเป็น “เครื่องบั่นทอน” ในระยะยาวได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image