ภาพเก่าเล่าตำนาน เรื่อง ห่าลง ตายเยอะ เผาไม่ไหว ยกให้แร้งวัดสระเกศ โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

อหิวาตกโรค ชาวสยามแต่โบราณเรียกว่า โรคห่า (ภาษาอังกฤษ: cholera) คือ โรคระบาดชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ลำไส้เล็ก ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงถ่ายเป็นของเหลวไม่หยุดและอาเจียนจนหมดเรี่ยวแรง ร่างกายเกิดการเสียน้ำเป็นจำนวนมาก หมดแรงซีดจนตาย

อหิวาต์เคยระบาด อาละวาดไปทั่วโลก 7 ครั้งใหญ่ๆ คร่าชีวิตพลโลกไปนับล้านคน ครั้งแรกเกิดในปี พ.ศ.2359-2369 มีข้อมูลระบุว่าโรคนี้อุบัติขึ้นจากแคว้นเบงกอลในอินเดีย แล้วแพร่กระจายออกไป มนุษย์สมัยนั้นยังไม่รู้จักที่มาที่ไปของโรคนี้

ความรู้ทางการแพทย์ในสมัยต่อมาจึงทำให้ทราบว่าอหิวาต์เป็นโรคที่มากับน้ำ อุจจาระของผู้ป่วยจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ มีแมลงวันเป็นพาหะ อหิวาต์เคยระบาดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวสยามตายไปเยอะ ในสมัยรัตนโกสินทร์ครั้งที่รุนแรงหนักที่สุดคือในปี พ.ศ.2363 ตรงกับสมัยในหลวง ร.2 ชาวบ้านเรียกว่า
ปีมะโรงห่าลง มีคนตายราวสามหมื่นคน

หมอสมิธ หรือมิสเตอร์ แซมมวล จอห์น สมิธ (Samuel John Smith) ชาวอังกฤษ ได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่องแพทย์ในราชสำนักกรุงสยามว่า “โรคนี้เริ่มเมื่อ พ.ศ.2362 แพร่กระจายมาจากเกาะปีนัง แพร่เข้ามาตามหัวเมืองชายทะเล ราษฎรพากันอพยพขึ้นมาพระนคร บ้างก็แยกย้ายไปตามหัวเมืองอื่นๆ”

Advertisement

เมื่อข่าวการตายแพร่สะพัด คนในพระนครก็หนีตายเก็บข้าวของเผ่นออกนอกเมือง ส่วนที่หนีไม่ไหว ล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง ไม่มีใครรู้ว่าทำไมคนขี้ไหลตาย เมื่อไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริง ก็คงต้องอ้าง
เจ้ากรรมนายเวร

ในช่วงแรกคนตายไม่มาก ญาตินำศพไปวัดเพื่อรอการเผา แต่เมื่อจำนวนศพมากขึ้นเผาไม่ทันเลยเอาศพไปกองรวมทับกันไว้

ศพที่วัดสระเกศดูเหมือนจะมีจำนวนมากที่สุด เพราะเป็นวัดที่อยู่นอกเมืองที่ใกล้กับกำแพงพระนคร มีช่องทางขนศพออกมาจากตัวเมือง ผ่านช่องทางที่เรียกกันว่า ประตูผี ปัจจุบันได้ชื่อใหม่รูปงามนามเพราะว่า สำราญราษฎร์

Advertisement

ไม่มีใครทราบว่าฝูงแร้งที่ชอบกินของเน่าของเสียบินมาจากไหน ศพชาวสยามที่เผาไม่ทันกองเกลื่อนลานวัดข้างภูเขาทองในกรุงเทพฯ จึงเป็นอาหารอันโอชะของฝูงแร้งแบบมืดฟ้ามัวดินที่เวียนกันลงมาจิกกินซากศพจนอิ่มแปล้ทั้งวันทั้งคืน ภาพเก่าที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านขณะนี้คือ ซากศพและฝูงแร้งที่รอกินศพที่วัดสระเกศ น่าสยดสยองยิ่งนัก

นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า แร้งวัดสระเกศ

ภาพเก่า

วัดอื่นๆ เช่น วัดสังเวชที่บางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และทุกวัดที่มีศพไปทิ้งกองพะเนิน ไม่ต้องรบกวนให้พระสวดเสียเวลา ศพมาถึงวัดจับเผาให้หมด ปัญหาใหม่ที่ตามมาคือ ฟืนที่จะใช้เผาศพมีไม่พอ ทางเลือกสุดท้าย คือโยนศพลงในแม่น้ำ

คำกล่าวที่ว่า “เอาไปโยนทิ้งน้ำ” เป็นประโยคที่เป็นอุปนิสัยของชาวสยามมาตั้งแต่อดีต อะไรที่ไม่อยากได้ ไม่อยากเห็น อยากกำจัดให้เอาไปโยนทิ้งแม่น้ำ ศพติดเชื้อทั้งหลายลอยเกลื่อนแม่น้ำลำคลอง ซากมนุษย์ไหลเวียนไปตามชุมชนต่างๆ ร่างที่เน่าเปื่อยกลายเป็นอาหารของอีกา ฝูงนก และปลาในแม่น้ำ ชาวสยามใช้น้ำในแม่น้ำอุปโภคบริโภค กินอาหารสุกๆ ดิบๆ

เลยพากันยกโขยงตายกันเป็นหมื่น

พระสงฆ์ก็เอาตัวไม่รอดต้องทิ้งวัดหนีตาย บางกอกเกือบจะเป็นเมืองร้าง ทุกชุมชนเงียบเหงาวังเวง ไม่มีใครช่วยใครได้

ชาวสยามตายไปราวสามหมื่นคน ในหลวง ร.2 รับสั่งให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคมจากวัดสำคัญๆ มาเจริญพระปริตร ทำน้ำมนต์และทรายเสก มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่ง 1 คืน แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่โปรยทรายเสกและประพรมน้ำมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ทางการสั่งให้ประชาชนรักษาศีลอยู่แต่ในบ้าน ผลปรากฏว่าการที่ประชาชนไม่ออกจากบ้าน การระบาดของเชื้อจึงลดลง

ต่อมาสมัยในหลวง ร.3 ได้เกิดห่าลงในพระนครอีกครั้ง ตามจดหมายเหตุฯ ได้กล่าวถึงโรคระบาดครั้งนี้ว่า

“เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2392 ปีระกา ไข้ป่วงที่เกิดขึ้นทางประเทศแถบทะเลทางเมืองฝ่ายตะวันตกได้ระบาดเข้ามาในสยาม พลเมืองเกิดเป็นไข้ป่วงกันทั้งแผ่นดิน” เลยเรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2392 หมอสมิธได้เล่าไว้ในหนังสือว่า

“ผู้คนล้มตายกันมากมาย (ในหลวง ร.4 ซึ่งตอนนั้นยังทรงผนวชอยู่) ได้แนะนำให้ลำเลียงศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) ปรากฏจำนวนคนที่นำเอาไปฝังและเผาที่วัดทั้งสามนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม รวม 29 วัน มีจำนวนถึง 5,457 ศพ และโดยเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายน วันเดียวมีคนตายมากที่สุดถึง 696 คน แต่ถึงกระนั้นก็ดูเหมือนจะยังตายน้อยกว่าสมัยในหลวง ร.2”ในสมัยในหลวง ร.4 มีห่าลงในพื้นที่จังหวัดตากแล้วแพร่ระบาดมาถึงพระนคร แต่ไม่รุนแรง

ต่อมาในสมัยในหลวง ร.5 มีห่าลงหนักอยู่ 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมพ.ศ.2415 นับว่ารุนแรงมาก และครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2424

ห่าลงในสมัยในหลวง ร.5 ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ในเวลานั้นมีแพทย์ชาวตะวันตก มีมิชชันนารี มีบุคลากรด้านสาธารณสุขจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในสยามจำนวนหนึ่ง โรคห่าจึงมีความรุนแรงที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ชาวสยามมีความรู้เรื่องการกินอาหาร เรื่องน้ำดื่มที่ต้องต้มให้สุก ถ่ายอุจจาระถูกสุขลักษณะ ชาวสยามรับทราบเรื่องสุขอนามัยเพื่อการป้องกันโรคห่าได้มากขึ้น

ห่าลงครั้งกระนั้น ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ และให้เร่งสร้างระบบประปาเพื่อให้มีน้ำสะอาดเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ

ประเทศไทยมีห่าลง (อหิวาตกโรค) แพร่ระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2501-2502 ครั้งนั้นเริ่มมีคนป่วยจากเขตราษฎร์บูรณะแล้วแพร่กระจายออกไปใน 38 จังหวัด มีคนตาย 2,372 คน อหิวาต์ยังไม่สาบสูญไปจากเมืองไทย ยังคงพบผู้ป่วยประปราย ทางราชการไทยยกเลิกการรายงานโรคอหิวาตกโรคในปี พ.ศ.2532 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง

ฝูงแร้งวัดสระเกศมีอาหารการกินอย่างอิ่มหนำสำราญทุกครั้งคราที่ห่าลงเป็นห้วงๆ ราว 60 ปีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แทบไม่มีคนรู้จักอหิวาตกโรคอีกแล้วปัจจุบันคงมีเพียงรูปปั้นฝูงแร้ง ซากศพเชิงสัญลักษณ์ในวัดสระเกศยืนยันตำนานที่สยดสยองให้ชาวสยามได้ชมตามภาพที่ผู้เขียนได้ไปบันทึกมาด้วยตัวเองครับ

เรียบเรียงโดย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพเก่า 13 แร้งวัดสระเกศ 1

ภาพเก่า 12 ห่าลงสยาม.4

AIS Logo-Online

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image