พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : สรุปประเด็นเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ในระดับจังหวัด (เท่าที่สรุปได้)

เนื่องจากคอลัมน์ของผมในสัปดาห์ที่แล้วจำต้องปิดลงก่อนผลการเลือกตั้ง อบจ.จะออก ก็เลยไม่ได้มีโอกาสให้ความเห็นจากบทสรุปของการเลือกตั้ง อบจ. ในวันนี้จึงขอโอกาสนำเสนอความคิดเห็นถึงผลของการเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้อีกครั้ง

1.ผมอยากจะมองในภาพรวมว่านี่คือการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัด และในครั้งต่อไป การรณรงค์ในเรื่องนี้ควรจะเน้นไปที่เรื่องของท้องถิ่นในระดับจังหวัดมากกว่าคำว่า อบจ. เพราะคำว่า อบจ. เป็นคำที่คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ ทั้งคนในพื้นที่ และคนกรุงเทพฯที่อยากรู้อยากเห็นเรื่องนี้ แต่ไม่มีความรู้มากกว่าคนในพื้นที่เองเสียอีก

ไม่งั้นก็ต้องมาตอบว่า อบจ.คืออะไร และ อบจ.ทำหน้าที่อะไร

การเมืองการปกครองท้องถิ่นของบ้านเราบางทีสนใจเรื่ององค์กรเดียวไม่ได้ มันต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วค่อยเข้าใจอีกทีว่าองค์กรที่เราเลือกเข้าไปนั้นทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง และอะไรคือนวัตกรรมที่ อบจ.แต่ละที่ได้พยายามทำ

ADVERTISMENT

รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง อบจ.กับหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในระดับพื้นที่ย่อย เช่น เทศบาล และ อบต.

การเข้าใจเรื่องแบบนี้น่าจะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่ลุ่มลึกขึ้น และทำให้เข้าใจได้ว่าข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจคืออะไร การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสิ่งที่จำเป็นไหม

ADVERTISMENT

หรือว่าเลือกพรรคการเมืองเดียวในทุกตำแหน่งไปเลยดีกว่า

2.การเลือกตั้ง อบจ.ในรอบนี้ ถ้าพิจารณาจากมุมมองของคนกรุงเทพฯและสื่อกรุงเทพฯ ผมคิดว่าไม่ได้เรื่องอะไรต่อไปในระยะยาวมากนัก เป็นการบำบัดความกระหายและจินตนาการในเรื่องว่าคุณทักษิณจะยังมีมนต์ขลังอยู่ไหม พรรคการเมืองระดับชาติจะยึดเก้าอี้ในพื้นที่ในนามของการ “ปักธง” ได้มากแค่ไหน

หรือไม่ก็มองประเด็นว่า บ้านใหญ่แพ้หรือชนะ เท่ากับบ้านใหญ่เสื่อมมนต์ขลังหรือไม่

สำหรับผม เลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัดสุดท้ายมันควรจะไปไกลกว่าคำตอบเรื่องผลการเลือกตั้ง อาทิ ตัวเลือกที่มีเป็นตัวเลือกที่เพียงพอให้กับประชาชนไหม ฯลฯ

สำหรับผมการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบนี้ไม่สามารถกำหนดได้หรอกครับว่าผลการเลือกตั้งระดับชาติในรอบหน้านั้นจะสะท้อนตรงไปตรงมาได้แค่ไหน เพราะการเลือกตั้งระดับชาติมันเป็นเรื่องที่สื่อส่วนกลางกำหนดประเด็นได้อย่างชัดเจน ทุกสื่อพูดเรื่องเดียวกัน

ในแง่นี้พรรคประชาชนน่าจะได้เปรียบกว่า เพราะคุมสื่อคุมประเด็นอย่างชัดเจนกว่าในแง่ของสื่อในระดับชาติ ที่พวกเขามีเครือข่ายประเด็นที่ชัดเจน และไม่ค่อยตายไมค์ ขณะที่บางพรรคยิ่งออกสื่อคะแนนยิ่งตก แต่ปราศรัยและใช้เครือข่ายในพื้นที่คะแนนอาจจะตีตื้น หรือคะแนนนำก็อาจเป็นได้

สำหรับผมสิ่งที่ควรพิจารณาจากพรรคประชาชนในรอบนี้คือความสามารถในการคุมประเด็น และกระจายประเด็นในพื้นที่ที่มากกว่าป้ายหาเสียงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในอดีตสิ่งนี้คือความโดดเด่นของพรรคอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากประเด็นหลักที่ใช้หาเสียง

ไม่ว่าจะเรื่องของการเชื่อมโยงกับผลที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ การกระจายตัวของข้อความอย่างมียุทธศาสตร์ไปยังกลุ่มต่างๆ และการข้ามกำแพงการรับรู้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งผ่านรูปแบบการสื่อสารออนไลน์ที่แตกต่างกัน

แต่สำหรับในภาพรวมนั้น เราสามารถถอดรหัสการวิเคราะห์การเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัดในรอบนี้ออกมาเป็นสองระดับ

หนึ่ง คือเรื่องของบ้านใหญ่

สอง คือเรื่องที่ไม่ใช่บ้านใหญ่

ในส่วนแรก เราอาจจะอธิบายได้ว่าในรอบนี้บ้านใหญ่ยังชนะ ถ้ามองกว้างๆ ว่าบ้านใหญ่คือเครือข่ายการเมืองเดิมในพื้นที่ที่วางอยู่ในเรื่องของระบบอุปถัมภ์

ดังนั้น ภาพจริงไม่ใช่พรรคการเมืองฝ่ายไหนครองเก้าอี้มากที่สุด เพราะบ้านใหญ่คือผู้เล่น และบางครั้งอธิบายไม่ได้ว่าตกลงบ้านใหญ่เขาชนะอยู่แล้ว แล้วพรรคส่วนกลางไปขอพึ่งเขา หรือบ้านใหญ่ชนะเพราะไปพึ่งพรรคการเมืองส่วนกลางกันแน่

ส่วนหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อพรรคส่วนกลางส่งคนของตัวเองที่ไม่ได้มีฐานในพื้นที่ลงต่างหาก เรื่องนั้นน่าจะชัดเจนกว่า

และหลายที่บ้านใหญ่ก็แข่งกันเองระหว่างบ้านใหญ่หลายหลัง

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าบ้านใหญ่นั้นไม่เปลี่ยนแปลง บ้านใหญ่อาจจะเปลี่ยนไปอยู่กับพรรคอื่นในรอบหน้าก็ได้ หรือบ้านใหญ่อาจจะแตกออกไปอยู่หลายพรรคหลายกลุ่มก็ได้ บ้านใหญ่ก็มีพลวัตในตัวเอง

จึงมาสู่เรื่องต่อมาก็คือเรื่องที่ไม่ใช่บ้านใหญ่ ในความหมายที่ว่า ผลการเลือกตั้งไม่ได้กำหนดอนาคตของบ้านใหญ่อย่างตรงไปตรงมา

ในความหมายที่ว่า ผลการเลือกตั้งก็คือผลการเลือกตั้ง มันวัดได้แต่ช่วงเวลาของความนิยม แต่ไปวัดเรื่องอำนาจทั้งหมดในระดับโครงสร้างที่เขามีไม่ได้

หลายครั้งเราก็เห็นว่าการเลือกตั้งซ่อมหลังจากครั้งแรกที่ชนะนั้นบ้านใหญ่ก็กลับมาได้ หรือการเลือกตั้งครั้งต่อไปพวกเขาก็อาจจะกลับมาได้

ไม่ได้พังทลาย หรือเสื่อมมนต์ขลังอะไรไปขนาดนั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาแค่ไม่ชนะ (การเลือกตั้ง)

ส่วนการเสื่อมอำนาจของเขาคงมีหลายปัจจัยมากกว่าเรื่องของการแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายทางการเมือง และการยึดกุมกลไกทางเศรษฐกิจและธุรกิจในพื้นที่

แน่นอนว่าบ้านใหญ่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเกี่ยวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าบ้านใหญ่แพ้เลือกตั้งแล้วจะหายไป การศึกษาว่าพวกเขาไม่หายไปเป็นเรื่องที่สำคัญ หรือเขาอาจจะหลบอยู่ใต้เรดาร์ หรือเลือกใช้วิธีการอื่นๆ ในการรักษาอำนาจและขยายอำนาจเอาไว้ หรือสิ่งที่เรียกว่าหลบเลี่ยงการเป็นเป้าสนใจ (Under the Radar)

การเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งจึงเป็นเพียงหนึ่งในการแสดงออกซึ่งการแสดงอำนาจ การใช้และการรักษาอำนาจของบ้านใหญ่ และการต่อรองกับประชาชน แต่ไม่ใช่ทุกด้าน

ที่สำคัญ บ้านใหญ่ไม่ได้เท่ากับเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลในแง่ลบเสมอไป ในต่างประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็มีตระกูลการเมืองเช่นกัน ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะแขวนป้ายตระกูลใดเพียงแค่นับนามสกุลและสายเลือด

บ้านใหญ่อาจไม่ใช่ตระกูลการเมือง แต่อาจเป็นเครือข่ายอำนาจก็ได้

เราจะวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่องของจักรกลการเลือกตั้งและการทุจริต ไม่ใช่เรื่องของการบอกว่าคนในตระกูลนี้ได้รับชัยชนะเท่ากับบ้านใหญ่ และเท่ากับเครือข่ายอุปถัมภ์ เพราะบางส่วนมันเป็นเรื่องของความเป็นผู้นำ และการเตรียมตัวเข้าสู่อำนาจอย่างเป็นระบบของตระกูลการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับอคติของเรา

หรือเรื่องของอำนาจท้องถิ่นที่แข็งแรงกว่ากลไกอำนาจรัฐส่วนกลางเสมอไป

ความท้าทายก็คือกรอบที่มองว่าอำนาจท้องถิ่นกับส่วนกลางนั้นแยกจากกันอาจจะใช้ไม่ได้ในทุกที่ในสังคมไทยวันนี้ ต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อนไปแล้วก็ได้

คำถามที่ลองคิดเล่นๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำความเข้าใจข้อจำกัดของรัฐบาลท้องถิ่นภายใต้กรอบการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วลองมองว่าบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง หรือเครือข่ายการเมืองมีส่วนในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจอะไร และในอีกด้านหนึ่งมีราคาอะไรที่ท้องถิ่นและประชาชนต้องจ่ายบ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่พวกเขาร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น แทนที่จะมองความสัมพันธ์ทุกอย่างเป็นขั้วข้างและแยกออกจากกัน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าคิดต่อก็คือ ทางเลือกอื่นๆ ที่ควรทำในเรื่องของการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัดนอกเหนือจากเรื่องการเลือกนายก อบจ. หรือแม้กระทั่งการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็คือ การรณรงค์ให้เกิดประชามติในระดับจังหวัดในบางเรื่อง ออกมาเป็นประเด็น โดยให้มีผู้รับรองในระดับจังหวัด เช่น จำนวนห้าพันคน (คิดจากการแปรผันกับจำนวนยอดของผู้ที่มาลงคะแนน)

เช่น จังหวัดของเรา/ท่าน ควรจะต้องมีนโยบายรถโดยสารประจำทาง ท่านเห็นด้วยหรือไม่

จังหวัดของเรา/ท่าน ควรมีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

จังหวัดของเรา/ท่าน ควรให้ความสำคัญกับสัดส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรมไม่เกินร้อยละสามสิบ

เรื่องเหล่านี้ควรเป็นเรื่องของประชาธิปไตยทางตรง “คู่ขนาน” ไปกับการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ. เพื่อกำหนดประเด็นให้ต้องมีการขับเคลื่อนเหล่านี้ และต่อรองกับรัฐบาลส่วนกลางว่ารัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถอนุมัติโครงการที่มีผลกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างในบางจังหวัดที่ท้องถิ่นเขาเข้มแข็งได้

และจะทำให้การหาเสียง อบจ.มีเนื้อหนังและกระดูกมากขึ้น และทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่สามารถเคลื่อนไหวบางประเด็น แล้วจะช่วยรณรงค์ให้ประชาชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับจังหวัดมากขึ้น

ทั้งนี้ อำนาจในการพิจารณาว่าเรื่องใดจะกลายเป็นเรื่องที่นำมาทำประชามติในระดับจังหวัดได้นั้นให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายที่ควรจะจัดทำขึ้น

ขณะที่ในส่วนของการเลือกตั้งนอกเขตนี่ผมคิดว่าต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะปัญหาของประเทศไทยคือไม่มีการคิดและบังคับใช้นโยบายประชากรอย่างเอาจริงเอาจัง ปล่อยให้เกิดการปะปนกันระหว่างเสรีภาพในการเคลื่อนที่เคลื่อนย้าย เดินทาง กับการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

การที่ประชากรที่หนึ่งไปทำตัวเป็นประชากรแฝงทั้งแบบกลางวัน หรือกลางคืน (คือไปอยู่ที่อื่นแต่ไม่ย้ายทะเบียน) ทำให้ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้อย่างสมเหตุสมผล และเรื่องนี้เป็นฐานสำคัญในการคำนวณเงินอุดหนุน และการจัดสรรโครงการต่างๆ ลงในพื้นที่

การสร้างแรงจูงใจในการย้ายถิ่นให้ตรงกับการตั้งถิ่นฐานจริงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการเลือกผู้แทนระดับชาติ โดยเฉพาะในระดับของบัญชีรายชื่อ ดังนั้น การพิจารณาเรื่องนี้ต้องรอบคอบ มันเกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากนี้เราคงต้องลองหามุมในการเข้าใจการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเทศบาลและ อบต.ต่อไปครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image