ดุลยภาพ ดุลยพินิจ เศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าด้วยภาษีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

ลักษณะเด่นของภาษีทรัพย์สินที่รัฐบาลตั้งใจจะเก็บ คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2561 นั้นกำหนดอัตราเพดานภาษีสูงสุด (ไม่ใช่เก็บจริง) ไว้ดังนี้ คือ เกษตรกรรม 0.2% ที่อยู่อาศัย 0.5% อื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม 2% และที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า 5% แต่เก็บจริงๆ จะต่ำกว่านี้ ในบทความนี้ผู้เขียนต้องการจะย้ำต่อจากความที่แล้ว ว่าการยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัย ถ้าไม่เกิน 50 ล้านบาท เมื่อเทียบกับโครงสร้างภาษีที่เก็บกับที่ดินว่างเปล่า ขัดกับหลักความสามารถในการชำระภาษี หลักความเป็นธรรม หลักผลประโยชน์ และหลักประสิทธิภาพ ผู้เขียนมีความเห็นว่า อัตราภาษีที่เก็บกับที่ดินว่างเปล่า กับอัตราที่เก็บกับที่อยู่อาศัยไม่มีความจำเป็น และไม่ควรจะต่างกันมากขนาดนี้ การยกเว้นที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีอันจะกินโดยไม่จำเป็น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นสูญเสียรายได้ไปโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ลงโทษผู้ที่ออมลงทุนในที่ดินเปล่าอย่างไม่สมจริง และไม่สมเหตุผล และไม่น่าจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการพัฒนาที่ดินขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ มากมายนอกจากประเด็นเรื่องภาษี

ความคิดที่ว่าที่ดินที่ธรรมชาติให้มามีจำกัดควรใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ และไม่ควรปล่อยให้อยู่ในมือคนจำนวนน้อย หรือถือไว้เพื่อเก็งกำไร มีเหตุผล และมีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่ที่นิยมกันมากเห็นจะมาจากความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมือง และสังคมของ Henry George ชาวอเมริกัน ประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ความคิดของเขาแม้จะไม่ผิดแต่ก็สุดโต่ง และไม่ถูกเสียทีเดียว เขาเชื่อว่าปัญหาความยากจน และปัญหาของคนจนจะดีขึ้นมากถ้ารัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากที่ดินให้เต็มที่ เพราะที่ดินเคลื่อนย้ายไม่ได้ เจ้าของที่ดินจึงหนีหรือเลี่ยงภาษีไม่ได้ เหมือนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ความเชื่อของ Henry George นั้นสุดโต่งมากถึงขนาดที่เขาและคนที่เชื่อเขาคิดว่ารัฐบาลไม่ต้องไปเก็บภาษีชนิดอื่นเลยก็ได้ เก็บภาษีจากค่าเช่าที่ดินให้หนักๆ รัฐบาลจะมีรายได้มากพอ ซึ่งในบริบทสมัยใหม่เป็นเรื่องเหลวไหล Henry George ลืมไปว่าอเมริกาเจริญมาได้วันนี้ ไม่ได้เป็นเพราะว่าอเมริกามีที่ดินมากมาย และไม่ได้มาจากภาษีที่ดิน แต่มาจากการที่อเมริกาสามารถสร้างสถาบัน ที่สามารถหล่อหลอม สร้างทุน สร้างแรงงานที่เป็นทุนมนุษย์ที่มีทักษะสูง สร้างความรู้ และเทคโนโลยี ที่เพิ่ม productivity ของประเทศ

จริงๆ แล้วมูลค่าของที่ดินขึ้นอยู่กับอะไรมากมาย ตั้งแต่ที่ตั้งการพัฒนาหรือความเจริญต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดการใช้ และมีผลต่อมูลค่าที่ดิน เอาเข้าจริงที่ดินก็เหมือนสินทรัพย์ประเภททุนต่างๆ มนุษย์รวมทั้งรัฐ ล้วนมีบทบาททำให้ที่ดินมีมูลค่ามากหรือน้อย ที่ดินจะว่างเปล่า มีศักยภาพที่จะนำมาใช้มากแค่ไหน หรือมีสิ่งปลูกสร้างใช้ทำประโยชน์ ล้วนได้อานิสงส์จากความหนาแน่นของประชากร จากการพัฒนาของชุมชนหรือของประเทศ ล้วนสมควรเสียภาษีให้แก่รัฐ เหมือนเป็นภาษีที่เก็บเพราะมีการพัฒนาเกิดขึ้น (Development Tax) ที่ผู้เขียนได้ให้เหตุผลเมื่อพูดถึงภาษีที่เก็บกับสิ่งปลูกสร้าง แม้มีไว้เพื่ออยู่อาศัย ในแง่ความเป็นธรรมผู้เขียนจึงคิดว่าภาระภาษีจากที่ดินที่ว่างเปล่า กับที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง มีผู้อยู่อาศัยหรือทำพาณิชยกรรม ตามหลักผลประโยชน์ เพราะผู้เป็นเจ้าของได้ประโยชน์หรือ Benefit ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินเปล่าหรือมีสิ่งปลูกสร้างก็ควรเสียภาษีเหมือนๆ กัน โดยทั่วไปเราไม่ควรจะคำนึงด้วยซ้ำว่าสินทรัพย์นั้นมีรายได้หรือไม่ จะเก็บบนฐานมูลค่า

แต่ถ้ามีรายได้ก็อาจจะมีการเก็บภาษีตามหลักความสามารถในการเสียภาษี เช่น กรณีมีการให้เช่า หรือการใช้ที่ดินเพื่อกิจการพาณิชย์ การค้าหรืออุตสาหกรรม ซึ่งควรเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าเพื่ออยู่อาศัย

Advertisement

การที่รัฐบาลยกเว้นภาษีที่เก็บจากทรัพย์สินที่เป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยยกเว้นมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทนั้น จริงอยู่ก็ยังอาจทำให้รัฐบาลมีรายได้เข้ามา เพราะรัฐบาลยังมีฐานภาษีที่จัดเก็บกับทรัพย์สินประเภทที่ดินว่างเปล่า และสิ่งปลูกสร้างเพื่อการค้า และพาณิชยกรรมอีกมาก แต่โครงสร้างอัตราภาษีที่ดินที่ว่างเปล่ากับโครงสร้างอัตราภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยขัดกับหลักตรรกะที่ถูกต้อง ขัดกับหลักของความเป็นธรรม หลักประสิทธิภาพ หลักผลประโยชน์ ทำไมรัฐบาลจึงต้องการเก็บภาษีที่ดินที่ไว้ว่างเปล่าในอัตราที่สูง โดยเริ่มตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปจนถึงเพดานสูงสุดที่ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีไว้เพื่ออยู่อาศัยที่มีเพดานสูงสุดเพียงร้อยละ 0.5 สามัญสำนึกคงตอบได้ง่ายๆ ว่ารัฐบาลทำถูกแล้ว คือ รัฐบาลไม่ต้องการส่งเสริมให้คนถือครองที่ดินว่างเปล่าไม่นำมาใช้เป็นประโยชน์ เพราะที่ดินมีจำกัด ไม่ควรกระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คนหรือคนจำนวนน้อย

ในโลกแห่งความเป็นจริง ในเมืองไทยคงมีเจ้าสัวมีธุรกิจขนาดใหญ่สะสมที่ดินว่างเปล่าไว้จำนวนมาก เพื่อขายต่อหรือรอการพัฒนา เมื่อเขาเห็นว่าโอกาสเหมาะที่จะทำ มีนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า สะสมที่ดินไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อหวังผลตอบแทนในรูปใดรูปหนึ่งมากหรือน้อยแล้วแต่ความสามารถหรือฐานะของตนเอง มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องมีที่ดินว่างเปล่าไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรอการพัฒนา
มีเจ้าของธุรกิจเตรียมซื้อที่ดินไว้เพื่อตั้งโรงงาน มีเกษตรกรถือครองที่ดินไว้เพื่อการเพาะปลูกทำไร่ทำนา มีคนธรรมดาผ่อนที่ดิน
แปลงเล็กๆ แค่ 50 หรือ 100 ตารางวา ไว้เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในยามชรา หรือให้ลูกหลาน เราแยกไม่ออกหรอกว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ถือไว้เพื่อเป็นเงินออม เหมือนเอาเงินไปฝากธนาคารหรือออมในหุ้น ในพันธบัตรรัฐบาล หรือถือไว้เพื่อลงทุน หรือเก็งกำไร โครงสร้างภาษีทรัพย์สินในอดีตของไทย คือภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน ล้วนมีภาระภาษีที่ต่ำเกินไปสำหรับที่ดินที่ว่างเปล่า ขณะเดียวกันบ้านที่อยู่อาศัย ได้รับยกเว้นหรือเสียภาษีน้อยมาก กระนั้นก็ตาม ภาระภาษีในอดีตแม้จะต่ำเพียงไร คนที่มีที่ดินว่างเปล่าที่เห็นโอกาสเหมาะที่ควรจะขาย เหมาะหรือนำมาพัฒนา เพราะเขาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีเหตุมีผล ถ้าเป็นบริษัทก็แสวงหากำไรให้มากที่สุด ถ้าเป็นครัวเรือนก็หาผลประโยชน์

ในขณะใดขณะหนึ่ง คงมีที่ดินจำนวนมากในประเทศไทย ถือกระจายโดยคนจำนวนมาก ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ในเรื่องของที่ตั้งและสิ่งแวดล้อม ความเจริญ รวมทั้งความพร้อมทางเศรษฐกิจหรือการเงินของเจ้าของที่ดิน ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดินในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ผู้เป็นเจ้าของที่ดินว่างเปล่าจำนวนมากไม่สมควรที่จะต้องถูกลงโทษ โดยวิธีคิดแบบตื้นๆ ของผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลัง แต่ไปให้รางวัลกับผู้มีอันจะกิน ที่สามารถแปลงที่ดินว่างเปล่าเป็นที่อยู่อาศัย มูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านจนเป็นร้อยๆ ล้าน

Advertisement

ลองมาดูว่าอัตราภาษีที่จะเรียกเก็บในอนาคตสำหรับประเทศไทย 4.0 สำหรับที่ดินว่างเปล่า กับบ้านที่อยู่อาศัย มันเป็นธรรมแค่ไหน ในโครงสร้างภาษีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีกลับมาให้กระทรวงการคลัง คนที่มีบ้านมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะไม่เสียภาษี แต่ถ้าเกิน 50 ล้านแต่ไม่เกิน 100 ล้าน จะเก็บภาษีจากส่วนที่เกินนี้ในอัตราร้อยละ 0.05 ซึ่งจะต้องเสียภาษีให้รัฐ 25,000 บาท แต่บ้านหลังนี้ราคา 100 ล้าน เพราะฉะนั้นอัตราภาษีที่แท้จริง จริงๆ คือร้อยละ 0.025 (25,000 หารด้วย 100 ล้าน) ลองมาเทียบกับที่ดินว่างเปล่า สมมุติผมเป็นข้าราชการซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่งรอจังหวะจะปลูกเมื่อเกษียณ หรือออมไว้ให้กับลูกหลานจะได้อยู่ด้วยกันในอนาคต ผมยังไม่พร้อมจะปลูกใน 1-3 ปีข้างหน้าที่รัฐบาลกำลังจะเก็บภาษี

สมมุติที่ดินของผมมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.5 ล้าน รัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีจากผมในอัตราร้อยละ 1 ผมจะต้องเสียภาษีให้รัฐ 25,000 บาท สำหรับผม ผมอาจจะยินดีเสียให้ แต่ผู้อ่านเป็นผม ผู้อ่านคิดว่ามันเป็นธรรมแล้วหรือที่ผู้ที่มีบ้านอยู่อาศัยแล้วมีที่ดินด้วย มีมูลค่า 100 ล้านแต่เสียภาษีแค่ 25,000 บาท เพียงแค่เป็นเพราะเจ้าของบ้านหลังนี้มีคฤหาสน์ และเครื่องตกแต่ง (จริงๆ อาจจะเกินร้อยล้าน เพราะว่าเครื่องตกแต่งไม่รวมอยู่ในตัวบ้าน) บนที่ดิน มูลค่าบ้าน และที่ดินของบ้าน 100 ล้าน สูงกว่าที่ดินเปล่าของผมถึง 40 เท่า และที่มันตลกกว่านั้นรายได้ของรัฐและภาระภาษีของผมจะหายไปเลย เมื่อใดที่ผมพร้อมและตัดสินใจปลูกบ้าน ตราบใดที่มูลค่ารวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

โรงแรมเมื่อสร้างแล้วไม่จำเป็นต้องมีผู้พักเต็มร้อยเสมอ เพื่อโรงแรมจะได้ใช้ทรัพยากรเต็มที่ ที่ดินที่ว่างเปล่ายังใช้ทำประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ ก็ไม่จำเป็นที่จะถูกมองโดยรัฐว่าเป็นกาฝาก หรือมีต้นทุนที่สูงต่อสังคมเสมอไป ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับบริบทเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ตราบใดที่รัฐมีโครงสร้างสถาบัน และมีสิ่งที่ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อเอกชน ในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และผลตอบแทนสูงสุด ตราบใดที่รัฐมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประโยชน์ และการใช้สอยของที่ดินที่เหมาะสม

รัฐควรมองประโยชน์ที่เจ้าของได้จากการถือครองที่ดินที่ว่างเปล่าไม่ต่างไปจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินเพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อทำการค้า ทุกคนได้ประโยชน์จากรัฐ และจากการพัฒนาของประเทศควรเสียภาษีให้แก่รัฐ ในอัตราที่ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ระบบภาษีที่ทำให้ต้องมีการใช้ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสร้างบ้าน คอนโดฯ อาคารพาณิชย์ โรงงาน ร้านค้า ที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้ที่ดินไม่ว่างเปล่า แต่ขายไม่ออก หรือมีอัตราการใช้ที่ต่ำมาก จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่าที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า แต่รอเวลาการพัฒนาเมื่อถึงเวลาอันควร

ผู้เขียนคิดว่า เนื่องจากภาษีทรัพย์สิน เป็นภาษีท้องถิ่น รัฐบาลควรใช้ฐานภาษีบ้าน และที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ภาระภาษีจะต่ำมาก อาจจะต่ำกว่าภาษีจดทะเบียนประจำปีรถยนต์ด้วยซ้ำไป และเก็บอัตราเดียวกับที่ดินที่ว่างเปล่า แต่ที่ดินที่ว่างเปล่าจะถูกเก็บในอัตราก้าวหน้าเมื่อถือครองเกินจำนวนหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ระบบภาษีทรัพย์สินมีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

 

ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image