ความภูมิใจที่‘จุฬาฯ’หลงลืม โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบ 100 ปี มีงานเฉลิมฉลองวันที่ 26 มีนาคม 2560 “จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ”

กำหนดการเริ่มมาตั้งแต่ 26 มีนาคม 2559 มีหลายงานที่รำลึกถึง 100 ปีที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนจะขาดอย่างหนึ่งที่ “จุฬาฯ” ไม่นับเป็น “ความภูมิใจ” จะหลงลืมไปหรืออย่างไรไม่ทราบได้

คือ เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับนิสิตนักศึกษา และประชาชนไทยในแต่ละเหตุการณ์ แม้วันนี้ยังมีตัวบุคคลในเหตุการณ์นั้น

Advertisement

ผมพอจำได้ว่ามีใครบ้าง เท่าที่ทราบภายหลังมี เตียง ศิริขันธ์ (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนิสิตจุฬาฯ หรือไม่ ใครยืนยันได้บ้างครับ) ที่ทราบแน่นอนคือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2479 ทั้งได้รับเลือกเป็น
สาราณียกรหนังสือ “มหาวิทยาลัย-23 ตุลา” และได้
รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2479

เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2490 จึงเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งเกิดความขัดแย้งทางแนวคิดกับพรรคจึงเดินทางกลับเมืองไทย พ.ศ.2501 และถูกจับในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากได้รับการปล่อยตัว เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่งที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ให้นิสิตนักศึกษา และผู้ที่เข้าป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการออกจากป่ามาร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยในที่สุด

ทั้งมี จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดคนสำคัญ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ สาราณียกร 23 ตุลา ที่ถูก “โยนบก” มีงานเขียนที่ปัญญาชนรุ่นหลังอ้างอิง และถูกยิงตายระหว่างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่นานหลังจากถูกปล่อยตัว

Advertisement

ถึงยุคการเลือกตั้งสกปรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2500 นิสิตนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในจำนวนนั้นผู้นำการเดินขบวน คือ ประสิทธิ์ ณรงค์เดช นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักศึกษาห้าสถาบัน ที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งที่ทุจริตอย่างกว้างขวาง

หลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเป็นนายกรัฐมนตรีถึงเดือนธันวาคม 2508 อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จัดให้มีรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 และปฏิวัติตัวเองเมื่อ พ.ศ.2514

อีกสองปีจากนั้น เกิดการเดินขบวนหลายครั้ง นำโดยนิสิตนักศึกษา อาทิ ประสาร มฤคพิทักษ์, พิรุณ ฉัตรวานิชกุล เริ่มอภิปรายโจมตีรัฐบาล หลังจากเกิดศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มี ธีรยุทธ บุญมี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเลขาธิการศูนย์

เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองเขม็งเกลียวขึ้น มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น มีการเรียกร้องให้ประชาชน 100 คน ร่วมลงชื่อ กระทั่งนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งขณะเดินทางไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับกุม 12 คน (ต่อมามีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 13 คน) การชุมนุมประท้วงจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนเกิดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย ระหว่างนั้น มีผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยคนหนึ่งคือ สุธรรม แสงประทุม

หลังจาก 14 ตุลา 16 สถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่มั่นคง มีการชุมนุมเรียกร้องหลายครั้ง กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดการชุมนุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหตุให้ปฏิวัติจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
สุธรรม แสงประทุม นิสิตคณะนิติศาสตร์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ
ไทยกับพวกถูกจับกุม และได้รับการปล่อยตัวในอีก 2 ปีต่อมา

การก่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ของนิสิตจุฬาฯ เป็นเหตุการณ์สำคัญในรอบ 100 ปี ชาวจุฬาฯ ควรบันทึกไว้ในความทรงจำ เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรหลงลืม

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image