ผู้เขียน | โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ |
---|
ว่าด้วยประธานาธิบดีทรัมป์คว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) โดยกล่าวหาว่าองค์กรนี้มีการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไร้เหตุผล มุ่งเป้าโจมตีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอย่างอิสราเอล โดยเนื้อหาของคำสั่งฝ่ายบริหารมีดังนี้คือ มีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการเดินทางต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนพลเมืองอเมริกันหรือพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เช่น อิสราเอล มาตรการเหล่านี้รวมถึงการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา และการห้ามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา สำหรับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
สำหรับสาเหตุของการคว่ำบาตรคือทางศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม โยอัฟ กัลแลนต์ ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โยอัฟ กัลแลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล และ โมฮัมเหม็ด เดอีฟ ผู้บัญชาการทหารกลุ่มฮามาส โดยระบุว่ามีเหตุผลอันสมควรที่บุคคลทั้ง 3 คน ต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม สืบเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในกาซาที่เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2566 ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยสิ้นเชิง
ปฏิกิริยาจากนานาชาติที่มีต่อการประกาศคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ มีหลายประเทศได้ออกมาแสดงการสนับสนุนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมี 79 ประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่ยืนยันความสนับสนุนต่อความเป็นอิสระและความเที่ยงตรงของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยแถลงการณ์ระบุว่า
“ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นเสาหลักของระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยการรับประกันถึงความรับผิดชอบสำหรับอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุด และความยุติธรรมสำหรับเหยื่อ”
ส่วนทางศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ประณามคำสั่งคว่ำบาตรของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยระบุว่าจะยืนหยัดเคียงข้างเจ้าหน้าที่ของตน และจะเดินหน้าอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อความทารุณทั่วโลกต่อไป
ความจริงสหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยเป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศและมีท่าทีที่ไม่ยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซีย ใน พ.ศ.2563 ประธานาธิบดีทรัมป์ (สมัยแรก) ได้ประกาศคว่ำบาตร อัยการฟาตู เบนซูดา และผู้ช่วยของเธอ เนื่องจากการสอบสวนอาชญากรรมสงครามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำโดยทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่การคว่ำบาตรครั้งนั้นได้ถูกยกเลิกในสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ท่านผู้อ่านที่เคารพคงจะสับสนระหว่างศาลโลก (International Court of Justice – ICJ) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) จะเป็นองค์กรตุลาการระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความยุติธรรมระดับสากล แต่ทั้งสองศาลมีอำนาจหน้าที่ ขอบเขต และลักษณะของคดีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนแม้ว่าศาลทั้ง 2 แห่งนี้จะตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์เหมือนกันก็ตาม เพราะศาลโลก (ICJ) เป็นศาลที่ตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นศาลที่ดำเนินคดีอาชญากรสงครามระดับโลก
ศาลโลก (ICJ) เป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นรัฐอธิปไตยและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่หน่วยงานต่างๆ ของ UN เช่น คดีพิพาทเขตแดน เช่น คดีปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา, คดีการละเมิดอำนาจอธิปไตย เช่น กรณีรัสเซียถูกกล่าวหาว่ารุกรานยูเครน โดยจะพิจารณาคดีเฉพาะที่รัฐคู่กรณียอมรับอำนาจศาลแต่ไม่มีอำนาจบังคับให้ปฏิบัติตามคำตัดสินโดยตรง แต่สามารถให้สหประชาชาติใช้มาตรการกดดัน
ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง ได้แก่
1.อาชญากรรมสงคราม (War Crimes)
2.อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity)
3.อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)
4.อาชญากรรมรุกราน (Crime of Aggression)
โดยมีตัวอย่างคดีที่สำคัญเช่นหมายจับ วลาดิมีร์ ปูติน จากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน, คดี โอมาร์ อัล-บาชีร์ อดีตผู้นำซูดาน ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์
เป็นการดำเนินคดีต่อ “บุคคล” ไม่ใช่รัฐ มีอำนาจออกหมายจับได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิก มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วม ICC และไม่ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
ศาลโลก (ICJ) ก่อตั้งโดยกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) เมื่อ พ.ศ.2488 เริ่มดำเนินการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2489 ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก่อตั้งตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) เมื่อ พ.ศ.2541 เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2545
ครับ! ว่าไปแล้วทั้งศาลโลก (ICJ) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็เป็นได้แค่เสือกระดาษเท่านั้นเอง