ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : นิยาย (หรือนิทาน) เรื่องความยุติธรรม ที่อาจหาได้ใน ‘ต่างโลก’
S.L.A.P.P. (Strategic Lawsuit Against Public Participation) เป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยไม่สุจริตเพื่อเป็นเครื่องมือในการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ไปจนถึงการป้องกันการถูกตรวจสอบจากกลไกของรัฐและสาธารณะ ด้วยการใช้สิทธิทางศาลที่ไม่เหมาะสม มุ่งดำเนินคดีให้ฝ่ายที่ต้องการนั้นหยุดวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบ
กระบวนการทางกฎหมายที่ใช้การฟ้องคดีที่เห็นเจตนาได้ว่าต้องการให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินคดีเกินสมควร เช่น การฟ้องคดีที่กล่าวหาให้ข้อเท็จจริงเข้าองค์ประกอบความผิดที่รุนแรงเกินพฤติการณ์ ฟ้องหรือแจ้งความให้ดำเนินคดีเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
ส่วนกรณีที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด คือการไปฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาในพื้นที่อันห่างไกลจากภูมิลำเนาของจำเลย โดยอ้างว่าในพื้นที่ห่างไกลนั้นก็สามารถเปิดข้อความที่กล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโจทก์ได้
ผู้ที่ใช้วิธีการทางกฎหมายแบบตบปากนี้มักเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมาก แต่มีความอ่อนไหวต่อภาพลักษณ์และการยอมรับจากสาธารณชน เช่น ธุรกิจรายใหญ่ระดับมหาชน หรือแม้แต่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
ครั้งหนึ่งมิตรสหายท่านหนึ่งมาปรึกษาในกรณีที่เขาถูกฟ้องคดีโดยกลั่นแกล้งรูปแบบนี้ ประกอบกับในตอนนั้นผมกำลังเขียน “ไลต์โนเวล” (Light Novel) หรือ “นิยายรูปแบบง่ายแนวใหม่” แนวตายแล้วไปเกิดใหม่ที่ต่างโลก (Isekai) ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาลและกฎหมายที่เกิดขึ้นในดินแดนแฟนตาซีของโลกสมมุติ
จึงได้ไอเดียมาเขียนไลต์โนเวลตอนพิเศษที่มีเนื้อหาเป็นการนำเสนอปัญหาการดำเนินคดีแบบ “ตบปาก” หรือ S.L.A.P.P. เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และให้แง่คิดเกี่ยวกับการใช้กลไกทางกฎหมายไม่สุจริตเพื่อลิดรอนเสรีภาพ และ “ความคาดหวัง” ของผมที่จะได้เห็นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และได้เผยแพร่ให้อ่านกันแบบฟรีๆ ในช่องทางออนไลน์
อย่างไรก็ดี คิดว่าท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้ส่วนใหญ่น่าจะห่างไกลจากนวนิยายแนวใหม่ประเภทนี้ จึงขอนำเรื่องราวของไลต์โนเวลตอนพิเศษดังกล่าวมาดัดแปลงเล่าโดยย่อในรูปแบบของนิทานลงในคอลัมน์ ในวาระที่การใช้มาตรการทางกฎหมายแบบ S.L.A.P.P. กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชน
นิยายหรือนิทานเรื่องนี้ เกิดขึ้นที่โลกแห่ง “เอมุตตา” ซึ่งเป็นระบบโลกที่มีผู้คนใช้เวทมนตร์มาประกอบสร้างเป็นวิทยาการต่างๆ โดยในโลกดังกล่าว มี “ศิวามหารัฐ” เป็นเหมือนจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่มีอำนาจปกครองเกินครึ่งโลก ราชรัฐขนาดเล็กหรือประเทศขนาดกลางก็ต่างยอมเข้าเป็นรัฐในอารักขา หรือรัฐกึ่งอธิปไตยภายใต้การกำกับดูแลของศิวามหารัฐ เพื่อหวังพึ่งพากองกำลังรักษาความปลอดภัย ระบบเงินตรา ระบบกฎหมายและอำนาจบังคับคดี โดยในแต่ละอนุรัฐหรือประเทศนั้นอาจจะมีกฎหมายจารีตประเพณีที่แตกต่างกันบ้าง แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายหลักที่เป็นลายลักษณ์อักษรและแนวคำพิพากษาศาลสูงของศิวามหารัฐ
เรื่องราวเริ่มต้นที่ “นครรัฐซีส์เปร์” ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตทะเลทรายกลางพิภพ “เอมุตตา”
นครรัฐแห่งนี้มีลานมหรสพซึ่งเป็นพื้นที่แสดงดนตรีและละครของชาวเมือง ซึ่งเดิมเป็นลานมหรสพธรรมชาติ เนื่องจากผู้คนเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นโล่งกว้างเหมาะแก่การแสดง ดนตรี ละคร มายากล หรือแม้แต่ใช้ฝึกซ้อมต่อสู้กัน เมื่อมีผู้ผ่านไปผ่านมาสนใจก็หยุดยืนหรือนั่งลงชมการแสดงที่ว่า ถ้าชอบใจก็วางเงินทองข้าวของไว้ต่างค่าชม นานๆ ไป ที่นั่นก็เป็นเหมือนลานมหรสพกลางเมือง
ต่อมาสภาเมืองได้จ้างบริษัทของ “นายวาณิชเวลตรู” ซึ่งเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองให้ปรับปรุงลานดังกล่าวเป็นลานมหรสพประจำเมืองอย่างจริงจัง พร้อมข้อตกลงให้สิทธิทางบริษัทของนายวาณิชย์จัดพื้นที่นั่งชมพิเศษเพื่อหาประโยชน์และบริหารจัดการคิวการใช้ลานแสดงได้ แต่ภายใต้ข้อแม้ว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ยังต้องเข้าชมมหรสพได้ และนักแสดงสามารถใช้สถานที่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่เมื่อลานมหรสพปรับปรุงเสร็จ กลายเป็นว่าทางบริษัทของนายวาณิชย์ได้ก่อสร้างที่นั่งชมพิเศษเป็นรูปแบบของอัฒจันทร์ล้อมรอบพื้นที่แสดงและเก็บเงินค่าที่นั่งซึ่งมีราคาลดหลั่นกันไปตามความใกล้ไกล ส่วนพื้นที่สำหรับคนทั่วไปดูได้ไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญา คือลานด้านหลังอัฒจันทร์ออกไปที่แทบมองอะไรไม่เห็น และสำหรับผู้จะขอเข้าใช้พื้นที่แสดง แม้อาจจะขอใช้แบบไม่เสียเงินก็ได้ แต่ก็จะต้องไปต่อคิวหลังรายที่ยอมจ่าย ‘ค่าบำรุงรักษา’ ให้ทางบริษัท ซึ่งตราบใดที่ยังมีคิวที่จ่ายค่าบำรุงรักษา ก็จะยังไม่เริ่มนับคิวที่ขอใช้แสดงฟรี
“นายนาคา” ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังของเมืองได้เขียนบทความลงใน “เสียงเสรีชน” ที่เป็นหนังสือพิมพ์ของเมืองทักท้วงการหาประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะแบบเกินกว่าเหตุและน่าจะผิดจากเจตนารมณ์มติสภาเมืองที่ให้ปรับปรุงลานมหรสพ การทักท้วงของนาคาทำให้ผู้แทนสภาเมืองอาจจะพิจารณาทบทวนการอนุมัติผลการปรับปรุงลานมหรสพครั้งนี้
บริษัทของนายวาณิชย์พยายามเจรจากับนายนาคาเพื่อให้ลงข่าวแก้ แต่ก็ไม่เห็นผล จึงได้ให้ทนายความไปฟ้องคดีกับนายนาคาที่ “ราชรัฐปาธัสสถาน” ที่เป็นรัฐอารักขาของศิวามหารัฐเช่นกัน แต่อยู่ไกลลิบจากนครรัฐซีส์เปร์ ถ้าเทียบกับโลกของเรา ก็ประมาณจากเอเชียกลางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อให้เดินทางโดยเรือเหาะเวทมนตร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสูงสุดของโลกเอมุตตา ก็ยังใช้เวลาเกือบหนึ่งวัน ไม่ต้องพูดถึงว่าการเดินทางโดยวิธีอื่นที่ใช้เวลาร่วมสัปดาห์หรือว่ากันเป็นเดือน เพราะต้องผ่านทั้งเขตทะเลทรายและเทือกเขาสูง
ในขณะนั้น ราชรัฐปาธัสสถานเพิ่งได้คุณท่านตุลาการคนใหม่เป็นเด็กสาวอายุสิบหกปีนามว่า “ตุลยา” มารับตำแหน่งต่อจากบิดาของเธอที่เป็นอดีตตุลาการแห่งราชรัฐที่เพิ่งถึงแก่อสัญกรรม คล้ายๆ การสืบทอดตำแหน่งขุนนางของโลกเราในยุคกลาง
ตุลยามีข้ารับใช้คนหนึ่ง ชื่อ “ธัรมะ” ชายหนุ่มผู้มีอดีตชาติเป็นชาวไทยในโลกของเรานี่แหละ โดยชาติก่อนเขาเคยเป็นเนติบัณฑิตไทยที่เพิ่งสอบได้เกียรตินิยมซึ่งในประวัติศาสตร์มีน้อยคนมากๆ แต่วันหนึ่งขณะที่เขารอรถเมล์กลับบ้านที่ริมถนนกาญจนาภิเษก ก็ถูกรถบรรทุกเบรกแตกคันหนึ่งพุ่งเข้าชนจนเสียชีวิต และดวงจิตของเขามาจุติใหม่ในราชรัฐปาธัสสถานของโลกเอมุตตาอันเป็นฉากของเรื่อง
ตามธรรมดาเพื่อความสนุกของเรื่องแนวนี้ เมื่อตัวเอกไปเกิดใหม่ไม่ว่าจะย้อนอดีตหรือไปต่างภูมิต่างภพก็ต้องเหลือความทรงจำจากชาติภพเดิมอยู่ ทำให้ธัรมะยังมีความทรงจำเกี่ยวกับหลักกฎหมายไทยทั้งแพ่งและอาญาที่แม่นยำสมเป็นเนติบัณฑิตเกียรตินิยม ซึ่งหลายเรื่องสามารถเทียบเคียงได้ตรงกับกฎหมายพื้นฐานของศิวามหารัฐในโลกเอมุตตาได้อย่างน่าประหลาด รวมถึงหลักกฎหมายอาชญาว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อสาธารณชนโดยประการที่น่าจะทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดที่มีทั้งระวางโทษจำคุก และเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายโจทก์ด้วย ซึ่งคล้ายๆ กับความผิดฐาน “การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” นั่นเอง
รวมถึงเคยมีแนวคำพิพากษาศาลสูงสุดของศิวามหารัฐ ตัดสินไว้ว่า การเขียนใส่ความที่ทำให้เสียหาย ลงหนังสือ จดหมายข่าว หรือใบปลิว หากหนังสือหรือสิ่งที่มีข้อความนั้นถูกนำไปเผยแพร่ยังที่ใด ก็ถือว่าที่นั่นมีมูลคดีเกิดขึ้น และศาลใดๆ ก็ตามที่ยอมรับอำนาจทางกฎหมายของศิวามหารัฐอันเป็นสถานที่พบหนังสือหรือจดหมายข่าวนั้นจำหน่ายหรือแจกจ่ายอยู่ก็รับฟ้องคดีไว้ได้ คล้ายแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 2054/2518 และที่ 2360/2523 ของประเทศไทยอันเป็นชาติภพเดิมของธัรมะ
โดยคดีนี้ ทนายความของนายวาณิชย์นำหลักฐานคือหนังสือพิมพ์ “เสียงเสรีชน” ที่อ้างว่ามีข้อความหมิ่นประมาทนายวาณิชย์และวางจำหน่ายในตลาดหลวงปาธัสสถาน ฟ้องขอให้ศาลแห่งปาธัสสถานลงโทษจำคุก และเรียกค่าเสียหายจากนายนาคา เป็นเงินถึงสองล้านชั่งทอง
เด็กสาวที่แม้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งตุลาการ ก็รู้ทันทีว่านี่เป็นการฟ้องคดีที่ตั้งใจจะให้จำเลยมาแก้คดีไม่ได้ ตามหลักกฎหมายของดินแดนต่างโลกนั้น ศาลจะถือว่าจำเลยไม่ติดใจต่อสู้แล้วพิพากษาให้แพ้คดีตามฟ้องของโจทก์ และโจทก์จะสามารถยื่นคำร้องบังคับคดีหรือขอให้ลงโทษต่อศาลในดินแดนใดก็ได้ที่ยอมรับอำนาจทางกฎหมายและการบังคับคดีของศิวามหารัฐ แต่จะไม่รับฟ้องโดยไม่มีเหตุผลก็ไม่ได้ เพราะมีแนวคำพิพากษาของศาลระดับสูงกว่าราชรัฐนั้นตัดสินไว้
ธัรมะจึงให้คำแนะนำเจ้านายของเขาว่าให้มีการเปิดศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อน โดยเรียกผู้ขายหนังสือพิมพ์รายเดียวของเมืองมาให้การ ก็ได้ทราบความจริงว่าได้รับหนังสือพิมพ์ “เสียงเสรีชน” มาวางจำหน่ายจริง แต่เป็นเพราะข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายผู้ค้าขายหนังสือของศิวามหารัฐ ที่ร้านหนังสือทุกร้านจะต้องรับหนังสือพิมพ์ของดินแดนอื่นๆ ทั้งหมดในเครือรัฐต่างๆ ในศิวามหารัฐมาขายด้วย
แต่สำหรับหนังสือพิมพ์ที่เป็นปัญหานั้นรับมาเพียงเล่มเดียว และเล่มนั้นก็ขายให้แก่ทนายความของนายวาณิชย์ที่มาฟ้องคดีนั่นเอง
เมื่อได้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ตุลาการแห่งปาธัสสถานจึงออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาหรือจริงๆ คือคำสั่งว่าจะรับฟ้องของโจทก์หรือไม่ โดยตัดสินว่า คดีนี้ ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหามิได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ราชรัฐปาธัสสถาน และการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดนั้นก็เกิดขึ้นนอกดินแดนนี้ แม้ผู้เสียหายจะอ้างว่ามีการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาทในตลาดหลวงของปาธัสสถานก็หามีชาวปาธัสสถานหรือผู้ใดนอกเหนือจากทนายความซึ่งเป็นคนของผู้เสียหายที่ได้เห็นข้อความหมิ่นประมาทนั้นไม่ จึงถือว่า มูลคดีของเรื่องนี้มิได้มีส่วนใดเลยที่เกิดขึ้นในปาธัสสถาน และยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดด้วย เนื่องจากกรณีนี้ไม่มี “บุคคลภายนอก”
นอกจากนี้ ยังสั่งให้ลงโทษทนายโจทก์ที่นำความมาฟ้องยังศาลอันห่างไกลจากสถานที่ซึ่งมูลคดีเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาในการกลั่นแกล้งผู้ถูกกล่าวหาให้ต้องรับภาระเกินสมควรในการมาสู้คดี เป็นการใช้สิทธิในกระบวนยุติธรรมโดยไม่สุจริตเพื่อหวังแต่ความได้เปรียบของตนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการผิดต่อหลักครรลองคลองธรรมว่าบุคคลจะต้องกระทำการโดยสุจริต จึงมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ทนายความของโจทก์ที่นำความมาฟ้อง ต้องทำงานบริการสังคมด้วยการทำความสะอาดตักมูลสุนัขยักษ์ที่เป็นสัตว์พาหนะในโลกนั้นให้กับสำนักงานนครบาลเป็นเวลาเจ็ดวันด้วย
นับว่าคำแนะนำของธัรมะ ซึ่งในตอนนั้นเป็นคนรับใช้ของคุณท่านตุลยา สามารถช่วยให้ตุลาการสาวตัดสินคดีไปได้อย่างสวยงามตามหลักกฎหมายโดยไม่ขัดต่อจิตสำนึกแห่งความยุติธรรม และด้วยการให้คำแนะนำดังกล่าว ตุลาการเด็กสาวจึงแต่งตั้งให้ธัรมะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในทางคดีของเธอ และมีครุยให้สวมเพราะถือเป็นตำแหน่งขุนนางด้วย เป็นอันว่าจบเรื่องราวของคดีฟ้องปิดปาก
เรื่องเล่าข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของไลต์โนเวลเรื่อง “สอบเนติ์ได้ยังไม่ทันใส่ครุย ก็ดันตุยไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ต่างโลก” ซึ่งจะมีตอนต่อออกมาเรื่อยๆ ในอนาคต
เป็นนิยายในรูปแบบไลต์โนเวล ที่เขียนขึ้นด้วยความเชื่อว่า ความยุติธรรมนั้นมีธรรมชาติร่วมกันอย่างหนึ่ง และมนุษย์ย่อมสัมผัสถึงธรรมชาติแห่งความยุติธรรมนั้นได้ ไม่ว่าจะในโลกนี้หรือต่างโลก โดยผู้เป็นตุลาการนั้นคือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะเป็นปากเสียงผู้ประกาศความยุติธรรมนั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและเสรีภาพของผู้คน ไม่ว่าจะอยู่บนโลกไหนมิติใดก็ตาม