ผู้เขียน | สุชาติ ศรีสุวรรณ |
---|
ที่เห็นและเป็นไป : ทางตัน‘เพื่อไทย’
การเมืองช่วงนี้ถือเป็นความยุ่งยาก
ที่ต้องประสบความยุ่งยากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย
หากเป้าหมายอยู่ที่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าที่ 2570 ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าอุปสรรคมากมาย กระทั่งที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ลดเป้าลงมาแล้วเหลือแค่ 200 เก้าอี้ จากที่เคยมุ่งมั่นว่าจะแลนด์สไลด์ แนวโน้มล่าสุดดูจะต้องตอบคำถามอีกมากมาย
ชัยชนะการเลือกตั้งที่ต้องอาศัยฐาน 2 ส่วนคือ
หนึ่ง เครือข่ายฐานเสียงแบบจัดตั้งที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุปถัมภ์ในทุกรูปแบบ หลังการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งทั้งที่ “ทักษิณ” ชักธงรบด้วยตัวเองเต็มที่ กลับเป็นที่รับรู้กันว่าไม่เป็นอย่างที่หวัง หลายพื้นที่ชัดเจนว่าชั้นเชิงการเมืองที่เล่นแบบเงียบๆ แต่เอาตายของพรรคภูมิใจไทยช่วงชิงชัยชนะได้อย่างเหมือนไม่ต้องออกแรงอะไรมากนักเสียด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือ “ภูมิใจไทย” กระจายการเข้าถึงความร่วมมือของ “บ้านใหญ่” ได้ทุกภาคทั่วประเทศ ขณะที่ “เพื่อไทย” ยังเดินได้แค่ภาคอีสานกับภาคเหนือเป็นหลัก
สำหรับ “บ้านใหญ่” ที่ดูแลตัวเองได้ ซึ่งมีไม่น้อย การเลือกว่าจะอยู่กับใครคือประเมินเอาตอนใกล้ๆ เลือกตั้งว่าอยู่กับใครแล้วมีโอกาสในอำนาจมากกว่า
สอง ฐานคะแนนที่ได้จากกระแสความเชื่อถือศรัทธา เป็นฐานเสียงที่ไม่มีความแน่นอนอย่างที่สุด เชื่อกันว่าหลังตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” พรรคเพื่อไทยต้องทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูฐานคะแนนส่วนนี้ ในช่วงเลือกตั้ง อบจ. ขณะ “ทักษิณ” เดินสายหวังยึดครองบ้านใหญ่ อีกทางหนึ่งคือเดินหน้าฟื้นเครือข่าย “เสื้อแดง” โดยใช้งาน “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ที่ติดสอยห้อยตามไปทุกหนแห่งเต็มที่
เท่าที่ฟังในช่วงนั้นได้ผลในระดับหนึ่ง มีการสร้างเครือข่ายเสื้อแดงขึ้นเพื่อบริหารจัดการกันใหม่อยู่พอสมควร
ทว่าถึงวันนี้ เกมแก้รัฐธรรมนูญเป็นคำถามหนักให้กับ “คนเสื้อแดง” ที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ติดตามการเมืองใกล้ชิด และอ่อนไหวต่อการเมืองเชิงอุดมการณ์ อยู่ไม่น้อย
คำพูด และท่าทีแบบ “อ้าปากเห็นทะลุไปถึงตับไตไส้พุง” เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาในการเคลียร์ แม้จะเป็นนักโน้มน้าวระดับ “เต้น-ณัฐวุฒิ” ก็เถอะ
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ยาก
ยิ่งเกมถูกบังคับให้เล่นกันเลยเถิดไปถึง “การใช้ดีเอสไอล้ม ส.ว.” และใช้ “กระทรวงเกษตรฯเล่นงานโฉนดที่ออกในเขตหวงห้าม” ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ถึงกับใช้คำว่า “หากเป็นการเมือง ก็เป็นเรื่องหน้าตัวเมีย”
นับจากนี้การพูดคุยกันโดยไม่ถือมีดแอบไว้ข้างหลังดูจะเป็นเรื่องยาก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องเป็นเรื่องตายในความคาดหวังของฐานกระแสที่มีต่อพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ถูกพรรคภูมิใจไทยหักแบบไม่ไว้หน้า ชนิดให้เห็นกันชัดๆ ว่า ใน “รัฐสภา ใครใหญ่กว่าใคร”
“พรรคที่กุมเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติคือใคร”
หากเป็นการเมืองเมื่อก่อน เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลต้องเผชิญกับความยุ่งยากเช่นนี้ คง “ยุบสภา” ไปแล้ว เพื่อเป็นบทเรียนให้พรรคร่วมทบทวนตัวเอง
แต่ ณ วันนี้ ที่จะต้องคิดหนักคือ “พรรคแกนนำรัฐบาล” เอง ด้วยเหตุผลที่ต่างรู้กันว่า แนวโน้มไปในทางที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย
การเมืองที่เป็นเบี้ยล่างในเกมกำหนดทิศทางอำนาจ
เศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้นในทุกมิติ ทางการคลังที่หนี้สินล้น ช่องทางหารายได้รัฐตีบตัน ทางการเงินที่ข้าวของแพง ค่าแรงต่ำ ธุรกิจล้มระเนระนาดให้เห็นทุกวัน ขณะที่ต้องรับมือกับสงครามการค้าโลกที่ผันผวนรวดเร็ว ในสภาพที่ไม่มีสมาธิเพราะถูกกดดันจากแรงต้านรอบตัว
แม้ทุกพรรคพร้อมจะยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อในฐานคะแนนในแนวทางของตัวเองว่ายังแน่นอน
แต่ “พรรคเพื่อไทย” พูดได้เต็มปากหรือว่าพร้อม
และนั่นหมายความว่า นับจากนี้การเมืองแบบ “ได้ทีขี่แพะไล่” จะกดดันพรรคเพื่อไทยให้ตั้งตัวไม่ติดหนักขึ้น
จะแก้ได้ต้อง “กล้าหาญเล่นใหญ่” ให้เห็นเท่านั้น