สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก วัดพุทไธศวรรย์ ชื่อนี้มีด้วยที่เมืองพิษณุโลก?

วัดพุทไธศวรรย์ (บริเวณเวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทอง) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยุธยา (จากหนังสือ วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)

พระเจ้าอู่ทอง ประทับชั่วคราวอยู่เวียงเหล็ก เพื่อสร้างพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระนครสร้างเสร็จได้ถวายเวียงเหล็กเป็นวัดพุทไธสวรรย์

[ชื่อ เวียงเหล็ก น่าจะเกี่ยวข้องกับเหล็กที่พระเจ้าอู่ทองเสวย มีบอกในคำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่าพระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก โดยขูดเป็นผงเอาไปตำให้แหลกละเอียด แล้วคลุกเครื่องกระยาหาร]

เวียง เป็นคำตระกูลไต-ไท หมายถึงศูนย์อำนาจ (หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์) อยู่ในเมืองที่ล้อมรอบเป็นขอบเขตเฉพาะด้วยคันดิน หรือ กำแพง

หลังรับอินเดียจึงมีความหมายกว้างกว่าเดิม ใช้เรียกบริเวณที่มีพระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางก็ได้ ในล้านนาเรียกเวียงพระธาตุ เช่น เวียงพระธาตุลำปางหลวง (จ. ลำปาง)

Advertisement

[เชียง เป็นคำตระกูลไต-ไท หมายถึง เมือง โดยไม่เน้นกายภาพว่ามีกำแพงล้อมรอบ จะมีหรือไม่มีกำแพงก็ได้ แต่มักมีเวียงเป็นแกนอยู่ในเชียง ความเชื่อดั้งเดิมว่าต้องมีดงไม้ใหญ่เป็นที่อยู่ของผีบ้านผีเมือง]

 

พุทไธศวรรย์ ชื่อวัดมีคำถาม?

Advertisement

“พุทไธศวรรย์” มีในวรรณกรรมยุคต้นอยุธยา ยวนพ่าย (โคลงดั้น) กวีหลายคนร่วมกันแต่งยอพระเกียรติพระบรมไตรโลกนาถ

พรรณนาถึงเหตุการณ์เมื่อประทับ (รับศึกเมืองเชียงใหม่) อยู่ที่เมืองพิษณุโลก ว่าทรงมีกรณียกิจทางการเมืองหลายอย่าง เช่น ทรงผนวช, ลาผนวช, สร้างวัด, สร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก (โคลงบท 76-80) มีโคลงบทหนึ่งว่า

ปางสร้างอาวาศแล้ว                  ฤาแสดง

คือพุทไธศวรรย์หมาย               ชื่อชี้

ปางถกลกำแพงพระ                  พิษณุ แล้วเฮย

อยู่ช่างพระเจ้าฟี้                        เฟื่องบร

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นักปราชญ์สยามบอกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ว่า

“วัดพุทไธศวรรย์มีมาก่อนแล้ว และอยู่ที่อยุธยา มิได้อยู่ที่พิษณุโลก ยวนพ่าย บทที่ 80 ก็ว่าได้ทรงสร้างพระอาวาศขึ้น แล้วพระราชทานชื่อว่า วัดพุทไธศวรรย์ หรือว่า วัดพุทไธศวรรย์มีที่พิษณุโลกอีกวัดหนึ่ง ขอฝากให้นักโบราณคดีช่วยกันพิจารณา”

[ยวนพ่ายโคลงดั้น โดย ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ถอดความ แปลศัพท์ และอธิบาย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2513 หน้า 137-138]

ยวนพ่าย (โคลงดั้น) แต่งร่วมสมัยเรือน พ.ศ. 2000 ไม่บอกว่าพระบรมไตรฯ ทรงผนวชที่วัดชื่ออะไร? ไม่บอกเรื่องสร้างวัดจุฬามณี แต่บอกชัดเจนว่าสร้างวัดพุทไธศวรรย์        ที่เมืองพิษณุโลก

วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก มีชื่อในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แต่งสมัยพระนารายณ์ หลังเหตุการณ์จริงราว 200 ปี หรือหลัง พ.ศ. 2200 น่าสงสัยว่ามีเปลี่ยนแปลง หรือสลับกัน ระหว่างชื่อวัดพุทไธศวรรย์ กับวัดจุฬามณี ต้องตรวจสอบใหม่อย่างถี่ถ้วน แต่เกินสติปัญญาที่ผมจะทำได้

 

พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก

เทพยดาอารักษ์ประกาศว่า ผู้ใดจะสร้างพระนครลงที่หนองดสนต้องมีฤทธิ์ 2 อย่าง (1.) กินเหล็กได้ (2.) ยิงลูกศรไป ลูกศรกลับมาหาเองไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

พระเจ้าอู่ทองให้ “กรางเหล็กแท่งหนึ่งออกตำให้แหลกเป็นผงกรองโดยละเอียด” (กราง แปลว่า ขัดถูด้วยตะไบหรือหางกระเบนให้เป็นผง) แล้วใส่คลุกลงในเครื่องพระกระยาหาร ผงเหล็กคลุกข้าวมีรสอร่อย เสวยทุกเวลาและเสวยได้มาก แล้วกลายเป็นโอสถวิเศษให้มีพระฉวีวรรณงามผ่องใสขึ้นกว่าเก่า

พระเจ้าอู่ทอง เสด็จประทับตำหนักน้ำ แล้วแผลงศรยิงไปในทางเหนือน้ำ ลูกศรตกน้ำ แล้วลอยตามน้ำมา พระองค์ทรงกั้นไว้ด้วยคันศร ลูกศรก็เลื่อนลอยเข้ามาหาสู่แล่งศรที่ถือในพระหัตถ์ ไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

พุทไธสวรรย์02.มีนา

พื้นที่บรรพชน

พระเจ้าอู่ทองเมื่อสร้างพระนครศรีอยุธยาสำเร็จแล้ว ก็ย้ายไปอยู่พระราชวังแห่งใหม่ ส่วนเวียงเหล็กถวายเป็นวัดพุทไธศวรรย์

แต่ยังมีความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่บรรพชนจนถึงสมัยหลังๆ ดังให้มีเฉลิมฉลองขอขมาผีบรรพชน เมื่อถึงเดือน 12 เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงราชอาณาจักร

กฎมณเฑียรบาลกำหนดว่าพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมส่งน้ำ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือพระที่นั่ง แล้วล่องไปทำพิธีส่งน้ำ (หมายถึง ขอให้น้ำลด เพื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่น้ำท่วม) พร้อมด้วยพระอรรคมเหสี, แม่หยัวเมือง, ลูกเธอหลานเธอ ฯลฯ

ครั้นถึงวัดพุทไธศวรรย์เสด็จขึ้นทอดพระเนตรการละเล่น มีจุดดอกไม้ไฟ มีเล่นหนังใหญ่ (เรื่องรามเกียรติ์)

คืนเดียวกันนี้มีเล่นหนังใหญ่ในวังหลวงด้วย แสดงถึงความสำคัญของเวียงเหล็กเสมอด้วยวังหลวงของราชอาณาจักร จะเห็นอีกว่าเวียงเหล็กกับวังหลวงอยู่แนวเดียวกันเหนือ-ใต้

 

พระเจ้าอู่ทองในนิทาน

พระเจ้าอู่ทอง มีตำนานนิทานบอกเล่าสืบต่อตกทอดมากมายหลายสำนวน ล้วนเป็นที่รู้จักตามท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้นๆ

มีสำนวนหนึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้แพร่หลาย ว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นเทพารักษ์ แต่มักแปลงตัวเป็นหนุ่มรูปงาม ไปสมสู่กับสตรีชาวบ้านร้านตลาด ต่อมาถูกขอร้องให้บวช เลยกลายเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ จะคัดคำบอกเล่านั้นมาดังนี้

“คุณแม่เครือวัลย์ จบกระบวนยุทธ์ มารดาท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อสมัยท่านเป็นเด็ก คุณยายท่านเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นเทพารักษ์พระเจ้าอู่ทองเป็นที่ครั่นคร้ามของชาวเมืองมาก

เล่ากันว่าท่านมักปรากฏตัวเป็นชายหนุ่มรูปงามไปสมสู่กับสตรีชาวบ้านร้านตลาด เจ้าคุณวัดพุทไธสวรรย์ท่านได้อัญเชิญเทพารักษ์มาและขอร้องให้บวชเสีย เทพารักษ์ก็ยินยอม แต่นั้นข่าวฤทธิ์เดชของท่านก็เงียบไป

ทุกวันนี้ชาวพระนครศรีอยุธยาจำนวนมากก็ยังเคารพสักการะในฐานที่เป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีทุกข์ก็บนบานศาลกล่าวให้ช่วยคุ้มครอง”

[ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ในข้อเขียนคัดมาคือ ภริยาจอมพล ถนอม กิตติขจร จากบทความเรื่อง “พระบรมราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี” โดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นที่ระลึกงานเสด็จทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2513 หน้า 4]

พุทไธสวรรย์03.มีนา

เจ้าอู่ เมืองจีน

โครงเรื่องนิทานพระเจ้าอู่ทองทำชู้ ยังมีในคำบอกเล่าของขุนนางข้าราชการสมัยพระเจ้าปราสาททอง ยุคอยุธยา ต่อมา วัน วลิต (พ่อค้าฮอลันดา) จดไว้ มีความโดยย่อดังนี้

จักรพรรดิจีนมีโอรสองค์หนึ่ง ชื่อ เจ้าอู่ เป็นเจ้าชายตัณหาจัด มักทำชู้สู่สมภรรยาขุนนางจีน จนจักรพรรดิจีนให้เนรเทศลงสำเภาปล่อยไปขึ้นบกในสยาม แล้วสถาปนาอยุธยา จะคัดส่วนหนึ่งมาดังนี้

“มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งซึ่งปกครองแว่นแคว้นหลายแว่นแคว้นในประเทศจีน (ชาวสยามไม่ทราบพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้) พระองค์มีโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าเจ้าอู่ ซึ่งเป็นเจ้าชายที่ตัณหาจัด ข่มเหงภรรยาขุนนางจีนสำคัญๆ ไปหลายคน หญิงคนใดที่ไม่ยอมให้พระองค์ข่มเหงก็จะถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ

ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าร้องเรียนพระเจ้าแผ่นดินถึงความประพฤติตัวไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมของพระราชโอรส และขู่จะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินออกจากราชบัลลังก์ ถ้าหากพระองค์ทรงปฏิเสธไม่ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย

พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอม และตั้งใจที่จะปลงพระชนม์พระราชโอรส

แต่สมเด็จพระราชินี (พระมารดาของเจ้าชายที่ถูกกล่าวหา) ทรงคัดค้าน และเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือให้พระราชโอรสออกนอกประเทศ

พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอม และได้เล่าความคิดนี้แก่พวกขุนนาง พวกขุนนางก็พออกพอใจ และเห็นด้วยกับพระองค์—–

พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเรือสำเภาหลายลำ พร้อมทั้งเสบียงมากมาย เช่น ข้าว อาวุธยุทธภัณฑ์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเดินทางไกลให้แก่พระราชโอรส พระองค์ยังพระราชทานข้าราชบริพารให้อีก 200,000 คน และของมีค่าต่างๆ”

[พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182 (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2548 หน้า 12]

 

เซอร์กาลาแฮด อังกฤษ

พระเจ้าอู่ทองทำชู้ นิทานนี้ อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยกไปขยายเทียบกับ เซอร์กาลาแฮด (อัศวินของพระเจ้าอาเธอร์) เมื่อตายไปวิญญาณของเซอร์กาลาแฮดทำชู้กับลูกสาวชาวบ้านที่ต้องการความสุขทางเพศรส

[อยู่ในบทความเรื่อง “พระเจ้าอู่ทอง กับเซอร์กาลาแฮด” ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2523) หน้า 6-9]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image