ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
---|
สงครามกลางเมืองในพม่า – ในรายงาน The Military, Money and Myanmar: Breaking the Nexus (กองทัพ เงิน และเมียนมา: ทลายจุดเชื่อม) ของสภาที่ปรึกษาพิเศษของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ที่รวบรวมโดย ดร.ฌอน เทอร์เนล (Sean Turnell) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล NLD อดีตนักโทษการเมืองหลังรัฐประหาร 2021 และที่ปรึกษาของรัฐบาล NUG ในปัจจุบัน เป็นรายงานขนาดสั้นที่รวบรวมที่มาของเงิน ที่ SAC หรือคณะปกครอง ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ใช้ในการโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และเพื่อควบคุมความสงบภายในประเทศ นับตั้งแต่ปี 2021
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุทธปัจจัยที่มีความสูงสุดในทุกสงคราม คือเงิน เมื่อมีเงินทรัพยากรและยุทธปัจจัยอื่นๆ ย่อมตามมา โดยเฉพาะในสภาวะไร้ขื่อไร้แปในพม่า เทอร์เนลแบ่งที่มาของรายได้และอำนาจในการควบคุมการเงินของ SAC เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แหล่งที่มาของอำนาจและเงินของ SAC และกองทัพพม่า การควบคุมธนาคารกลาง และอุปสรรคของการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แหล่งที่มาของเงินของ SAC และกองทัพพม่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจตรงที่ ไม่เคยมีใครทราบว่ากองทัพพม่ามีงบประมาณแต่ละปีเท่าไหร่ เพราะตลอด 70 ปีที่ผ่านมา กองทัพมีบทบาทนำในการเมืองพม่า และยังควบคุมธนาคารกลางได้แบบเบ็ดเสร็จ ดังนั้นไม่ว่ากองทัพจะขอเงินธนาคารกลางไปมากเท่าไหร่ ก็จะได้รับมามากเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึง GDP หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่องบประมาณกองทัพมีมากเกินไป ท่ามกลางการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่ดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น รัฐบาล SAC พยายามหาเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะเงินจัตไร้เสถียรภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ และมีมูลค่าต่ำมาก รัฐบาลทหารพม่าแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินโดยการสั่งพิมพ์ธนบัตรเรื่อยๆ แม้รัฐยังจะพอมีรายได้จากภาษีและบริษัทของรัฐ (State Enterprises) แต่วิธีการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คันของ SAC คือการยืมเงินจากธนาคารกลาง เพื่อมาพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม
การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแบบไร้มาตรฐานนี้มีผล กระทบกับเศรษฐกิจของพม่าอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดคือภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินแลกเปลี่ยนที่เสื่อมค่าลงเรื่อยๆ การเวนคืนทรัพย์ของรัฐที่ไม่มีมาตรฐานใดๆ (เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุคเนวิน ระหว่างปี 1962-1988) และแน่นอนว่าทำให้สภาวะด้านการเงินของพม่าขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง
ในประเด็นต่อมา รัฐบาลทหารเป็นผู้ควบคุมธนาคารกลางพม่า (CBM) เพราะธนาคารกลางคือตัวแสดงหลักที่อัดฉีดเงินเข้าไปสนับสนุนให้กองทัพพม่าใช้กำลังโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้าน หลังเกิดรัฐประหาร รัฐบาล SAC เปลี่ยนผู้บริหารธนาคารกลางพม่า แล้วนำคนของตนเองเข้าไปควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เทอร์เนลเล่าว่าพรรค NLD พยายามนำธนาคารกลางออกมาจากการควบคุมของกองทัพ แต่ผู้บริหารชุดเก่ากลับถูกควบคุมตัวหลังรัฐประหาร หลายคนยังอยู่ในเรือนจำจนถึงทุกวันนี้ หน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการผลิตธนบัตร มีการประเมินว่าธนบัตรจัตกว่า 30 ล้านล้านจัตถูกสั่งพิมพ์ไปแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เทียบกับรัฐบาลพลเรือนที่พิมพ์ธนบัตรประมาณ 3 พันล้านจัตต่อปี
ประเด็นสุดท้ายที่เทอร์เนลกล่าวถึงในส่วนแรกของรายงานฉบับนี้คืออัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผิดปกติ ซึ่งก็มีที่มาจากความไม่ปกติของธนาคารกลาง ความพยายามของรัฐบาล SAC และธนาคารพม่าคือต้องการเก็บเงินต่างประเทศไว้ในประเทศ และบังคับให้ทุกภาคส่วนต้องแลกเงินต่างประเทศมาเป็นจัต มาตรการแปลกๆ ที่ธนาคารกลางออกมา เช่น การบังคับให้บริษัทที่ทำธุรกิจในพม่า โดยเฉพาะของชาวต่างชาติที่ใช้บัญชีเป็นเงินต่างประเทศ ต้องแลกเป็นเงินจัต ด้วยอัตราที่ SAC กำหนดขึ้นเอง เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ SAC ได้เปรียบและได้ผลประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ บริษัทของคนพม่าที่ส่งออกสินค้าภายนอกประเทศก็ต้องแลกเปลี่ยนเงินมาเป็นจัต ตามอัตราที่ SAC กำหนดเช่นกัน
นอกจากนี้ ความไม่ปกติของค่าเงินจัต ทำให้ธนาคารกลางสร้างอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราขึ้นมา ใช้กับประเทศบริษัทที่ต่างกันออกไป เช่น หากเป็นบริษัทที่เป็นประโยชน์กับ SAC ก็จะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ เอื้อให้บริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั้งใหญ่เล็กต่างล้มหายตายจาก เพราะธนาคารกลางเป็นผู้ผูกขาดการแลกเปลี่ยน และยังยกเลิกสัญญาหรือสัมปทานบริษัทรับแลกเงินทั้งใหญ่ทั้งเล็กทั้งหมด ยกเว้นไม่กี่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ SAC
ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลทหารพม่าคือการถูก บอยคอตจากประเทศในโลกตะวันตกและอีกหลายประเทศทั่วโลก SAC จึงพยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นค่าเงินที่ธนาคารกลางกำหนดหรือเงินหยวนสำหรับการค้าขายกับจีน เช่นเดียวกับเงินรูปีของอินเดีย และเงินบาทไทย
แม้จะมีมาตรการมากมายเพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่รัฐบาลทหารต้องการ แต่ในภาวะสงคราม ที่กองทัพมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ทำให้เงินสำรองของพม่าลดลงอย่างรวดเร็ว มาเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินสำรองในปี 2020 มาเพียงนิดเดียว มาตรการการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกผลักให้รัฐบาลทหารพม่าค้าขายได้กับจีน รัสเซีย และประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ บีบให้รัฐบาลพม่าต้องทำตามข้อเรียกร้องของประเทศที่พร้อมจะญาติดีกับพม่า พม่ากลับไปทำสัญญากู้เงินกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง หลังโครงการกู้เงินหลายครั้งถูกพับไปโดยรัฐบาล NLD
นอกจากมาตรการหลายอย่างที่ SAC นำออกมาใช้ เพื่อทำให้ตนสามารถนำเงินจากธนาคารกลางไปใช้เพื่อทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังมีกลไกอื่นๆ ที่เอื้อให้รัฐบาลทหารยังคงมีอำนาจ แม้จะอ่อนแอลงไปมาก นั่นคือการดำรงอยู่ของ “โครนี่” (Crony) หรือนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาลทหาร คนเหล่านี้คือเจ้าของธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล โดยมากจะมีธุรกิจหลายอย่างในเครือบริษัทขนาดใหญ่ เช่น สายการบิน โรงแรม บริษัทก่อสร้าง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ความร่ำรวยของมหาเศรษฐีในพม่า ล้วนมาจากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำทหาร การเกื้อหนุนจุนเจือกันในยามที่รัฐบาล SAC ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก และในห้วงที่ต้องใช้เงินมากมายเพื่อเผด็จศึกกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านอย่างเด็ดขาด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อธิบายได้ว่าเหตุใด SAC จะไม่มีวันล้มลงง่ายๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ ท้ายสุด การสู้รบในพม่าที่ยืดเยื้อมาถึง 8 ทศวรรษ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการต่อสู้ของกองทัพและรัฐบาลทหารพม่าเพื่อรักษาอำนาจและแหล่งเงินของตนกับพวกพ้อง