ผู้เขียน | ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ |
---|
สะพานแห่งกาลเวลา : ว่าด้วยเรื่อง ‘เครื่องบินตก’
พักหลังมานี้ เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีการตั้งข้อสังเกตกันขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ หรือเป็นเพราะว่า มาตรฐานความปลอดภัยจะลดน้อยถอยลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น
ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ข้อสังเกตทำนองดังกล่าวส่งผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นของผู้ที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นหลายครั้งในระยะหลังมานี้ รวมทั้งเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารชนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์ทหารในวอชิงตัน ดีซี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปมากถึง 67 ราย กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในทางลบอย่างมากบนสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นบุคคลระดับรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะ มีบริบทจำเพาะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
กระนั้น กรณีดังกล่าวก็ยังส่งผลในทางลบอยู่ดี เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวเอพี ที่ระบุว่า อุบัติเหตุทางอากาศที่เกิดขึ้นในระยะหลังมานี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยเครื่องบินของคนอเมริกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ภาพอุบัติเหตุพิสดารที่เครื่องบินโดยสารของแคนาดา พลิกหงายท้องหลังร่อนลงจอดที่นครโตรอนโต เพราะสภาพอากาศไม่ดี กลายเป็นไวรัล แพร่ระบาดไปทั่วในโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้จนถึงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาของ คณะกรรมการด้านความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติ (เอ็นทีเอสบี) ของสหรัฐอเมริกา กลับแสดงให้เห็นแนวโน้มในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อและความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะแสดงให้เห็นว่าจำนวนอุบัติเหตุทางอากาศในสหรัฐอเมริกานั้นโดยรวมแล้วลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2005 จนถึงปี 2024 และแสดงให้เห็นด้วยว่าอุบัติเหตุเครื่องบินในเดือนมกราคม 2025 ซึ่งเกิดขึ้นรวม 52 ครั้งนั้น ต่ำกว่ายอดรวมในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้น 58 ครั้ง และยิ่งต่ำลงไปอีกหากเทียบกับในเดือนมกราคมของปี 2023 ซึ่งเกิดขึ้นมากถึง 70 ครั้งด้วยกัน
แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้มของการเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organisation – ICAO) เก็บรวบรวมไว้ ข้อมูลของ ICAO แสดงให้เห็นชัดว่าจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินทุกๆ 1 ล้านลำ ที่ขึ้นบินนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วงระหว่างปี 2005 จนถึงปี 2023 ทั้งๆ ที่ ICAO นิยามคำว่าอุบัติเหตุเอาไว้กว้างมาก คือไม่ได้นับเฉพาะที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แต่นับรวมเอาเหตุที่ทำให้เครื่องบินเสียหาย จำเป็นต้องซ่อมแซม หรือสูญหายเข้าไปด้วย
ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนปัญหาในการเดินทางด้วยเครื่องบินก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิต แต่ข้อมูลส่วนนี้ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างมากในช่วงเดียวกัน กล่าวคือ จากจำนวนสูงถึง 824 ราย ในปี 2005 ลดลงมาเหลือเพียง 72 รายเท่านั้นในปี 2023 แต่การนับจำนวนผู้เสียชีวิตแทนจำนวนอุบัติเหตุเช่นนี้ จะทำให้สถิติมีความผันผวนสูงมาก อย่างเช่น สถิติจะพุ่งขึ้นมาสูงแบบพรวดพราดในปี 2014 ที่เกิดเหตุใหญ่โตกับเครื่องบินโดยสารถึง 2 กรณี หนึ่ง คือกรณีการหายไปแบบไร้ร่องรอยของเครื่องบินโดยสารมาเลเซีย เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 พร้อมคนบนเครื่องรวม 239 คน ในเดือนมีนาคม และต่อมาในเดือนกรกฎาคม เครื่องบินโดยสารอีกลำของมาเลเซีย เที่ยวบิน เอ็มเอช 17 ก็ถูกจรวดรัสเซียยิงตกในยูเครน ขณะมีคนบนเครื่องเกือบ 300 คนเช่นกัน
ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญ อุบัติเหตุทางอากาศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินโดยสาร มักเกิดขึ้นในรูปแบบสุ่ม และแทบจะไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่พอเกิดขึ้นติดๆ กัน ก็มักถูกมองเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของการเปรียบเทียบการเสียชีวิตของผู้โดยสารในการเดินทางทุกรูปแบบเข้าด้วยกัน ปรากฏว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน ยังคงเป็นรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ดี
ข้อมูลทางการสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในจำนวนเหตุเสียชีวิตจากการเดินทางทั้งหมดในสหรัฐตลอดปี 2022 กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน
อาจพูดได้ว่า การนั่งรถไปยังสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องบิน ยังอันตรายยิ่งกว่าการขึ้นบินกับเครื่องบินด้วยซ้ำไป