ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
---|
สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง
หมุดหมายระยะยาวคือการช่วงชิงการนำ และการได้มาซึ่งประโยชน์กับฝ่ายตนเองในระบอบประชาธิปไตยที่กระท่อนกระแท่นและคุณภาพต่ำแบบที่เป็นอยู่ (ส่วนสำคัญคือโครงสร้างบางอย่างในระบอบนี้มันยังมีปัญหาและเป็นผลมาจากกระบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา)
ไม่ว่าจะหมายถึงการสร้างความหวังในการทำให้ดีขึ้น โดยแสดงความหวังและความกล้าหาญในการเข้าปะทะกับระบบที่ดำรงอยู่
หรือการสร้างสภาวะให้ยอมจำนน ด้วยเงื่อนไขที่ว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ เราคือ
ผู้ที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีผลงานมาก่อนคนอื่นไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ หรือเราสู้มาก่อน การยอมอยู่ในสภาพนี้คือสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป เป็นความจำเป็น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผิดไปจากนี้คือไม่เข้าใจความจริง ไม่ใช่นักปฏิบัติ
รวมไปถึงพวกที่มองว่าระบบที่มีอยู่คือสิ่งที่ดีที่สุด ต้องปกป้องรักษาเอาไว้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในระดับรากฐาน
ถ้าเชื่อว่ามีสามฝ่ายเช่นนี้ ยังมีพลังอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในสมการนี้
ไม่เชื่อลองเอาคะแนนของพรรคที่เหลือมาคำนวณดูก็น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละสามสิบถึงสี่สิบ
ต้องมองสองระดับ คือ คนพวกนี้เป็นก๊กไหน ถ้ามองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกลุ่มใหญ่ เขาเป็นเนื้อเดียวกันกับพรรคเสียงน้ำเงินไหม
และถ้าไม่ใช่ในแง่ชนชั้นนำในกลุ่ม ถ้าเราหมายถึงตัวผู้เลือกตั้ง คนพวกนี้พร้อมจะย้ายข้างไปในทางไหน เพราะการเลือกในแต่ละครั้งอาจจะหมายถึงการเลือกตัวเลือกที่แท้จริง และการเลือกตัวเลือกที่ไม่จริงแท้ แต่เป็นการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ คือเป็นการเลือกที่แม้ว่าฝ่ายตัวเองยังไม่ชนะ แต่ก็จะเลือกฝ่ายที่มีแนวโน้มชนะฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบมากที่สุด
ตัวชนชั้นนำในกลุ่มนั้น กับตัวผู้เลือก/ผู้สนับสนุนอาจจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน
ยังไม่นับรวมก๊กที่อยู่นอกเกม ไม่ว่าจะกองทัพ รัฐราชการ ทุน และพลังทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่มีส่วนกำหนดการเมือง
ในสังคมการเมืองที่สนามอำนาจมันไม่ได้แคบอยู่แต่ในสภา และปัจจุบันสนาม/ปริมณฑลทางอำนาจมันซ้อนทับและซับซ้อนกันมาก แม้ว่าแต่ละสนามนั้นพลังของแต่ละฝ่ายอาจจะไม่ได้เท่ากันไปเสียทั้งหมด
การอธิบายเรื่องสามก๊กทางอำนาจ จึงอาจจะเป็นทั้งคำอธิบายสถานการณ์จริง
และเป็นทั้งวาทกรรมในการทำให้เรามองอยู่ในกรอบนี้เช่นกัน
ไม่ใช่ข้อกล่าวหา มันเป็นเรื่องธรรมดา
คำอธิบายของผมก็คงถูกวิจารณ์ว่าทำหน้าที่นี้ (ได้) เช่นกัน
มาสู่เรื่องที่กำลังน่าสนใจระยะสั้น ก็คือการนับถอยหลังสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ใกล้จะเกิดขึ้นนี้
ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว
แต่เป็นการต่อสู้ของแต่ละพรรคที่ซัดกันนัว
หรือยืนเฉยๆ ให้คนอื่นเขาซัดกัน ก็เป็นหนึ่งในการกระทำการอย่างหนึ่งไปด้วย
มองในแง่บวกนี่ก็คือข้อดีของประชาธิปไตยที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้
แต่อย่าลืมว่าเกมมีมากกว่าสามฝ่าย
สี่สิบสี่คนของก้าวไกลจะยังปฏิบัติหน้าที่ในสภาจนถึงวันนั้นไหม ไม่ใช่เรื่องของสามฝ่ายในสภากำหนด
การผลักประเด็นเรื่องของการปรับ ครม. ออกมาก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีผลต่อความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะเกมระหว่าง เพื่อไทยกับภูมิใจไทย แถมยังกระทบพรรคร่วมอื่นๆ
ยังมีเกมเรื่องการสืบค้นเรื่องความเป็นเจ้าของที่ดินของหัวหน้าพรรคการเมืองสองพรรค
มีเกมการร้องที่มาของ ส.ว.
แต่พรรคเพื่อไทยเองก็ยังต้องเจอกับศึกภายในพรรคเองที่เก้าอี้รัฐมนตรีก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ตามแรงสนับสนุนภายในของกลุ่มต่างๆ ในพรรค
ส่วนการเปิดประเด็นหลายเรื่องของพรรคประชาชนในช่วงนี้ก็ยิ่งชัดว่า เป็นการเปิดประเด็นที่จะทำให้ประชาชนติดตามต่อเนื่องไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องจีนเทาที่ชายแดน และเรื่องของการบริหารสวัสดิการของผู้ประกันตน
การเปิดเกมก่อนแล้วทำให้ประชาชนลุ้นตามว่าจะมีการอภิปรายต่อกันในสภาไหม หรือถ้ามีการสกัดกั้นในสภา ก็ยังมีปริมณฑลอื่นที่ยังสู้กันได้ต่ออีกทั้งสื่อออนไลน์ และสื่ออื่นๆ รวมทั้งการลงถนน
หรือลงไปในพื้นที่สื่อออนไลน์
อย่าลืมว่าเกมเรื่องการยุบสภาก็ยังมี และในความเป็นจริง เกมยุบสภาไม่ใช่เกมตามตำราที่รัฐบาลจะเชื่อว่าตนเป็นฝ่ายได้เปรียบในการยุบสภา
ในบ้านเรา การยุบสภามักจะเป็นผลจากความเพลี่ยงพล้ำของพรรคนำในรัฐบาล
มากกว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบในการเข้ามาบริหารอีกรอบหนึ่ง
ยิ่งในวันนี้ เมื่อผลการเลือกตั้ง อบจ.ที่ทุกฝ่ายมองเห็นความหวังว่า ถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ทุกฝ่ายย่อมมีหวังที่จะได้คะแนนเพิ่มเข้าฝ่ายตัวเอง
จากฝ่ายแพ้ที่เชื่อว่าจนเกือบชนะ
และฝ่ายชนะที่ก็ไม่แน่ใจว่ารอบหน้าจะชนะอีกไหมถ้าไม่ทำงานหนัก
แต่อีกด้านหนึ่ง การเรียกร้องบนถนนให้ยุบสภาไม่น่าจะเกิดได้ง่าย เพราะโดยทั่วไปการเรียกร้องบนถนนมักจะเป็นเรื่องของการเรียกร้องให้ลาออก แต่รัฐบาล หรือพรรคนำเลือกที่จะยุบสภาล้างไพ่
เกมยุบสภาที่ชัดเจนกว่าในบ้านเรา มักจะมาจากการที่อำนาจในฝ่ายรัฐบาลไม่ลงตัว
แล้วฝ่ายนำในรัฐบาลคิดว่ายุบสภาน่าจะดีกว่าลาออก
ดังนั้นเกมยุบสภาที่ท้าทายกันในโลกออนไลน์จากกองเชียร์ฝ่ายหนึ่ง จึงยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และเกมท้าทายให้นายกรัฐมนตรีลาออกซึ่งอาจจะนำไปสู่การยุบสภาก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะเพื่อไทยยังมีตัวสำรองอีกคนหนึ่ง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้ เพื่อไทยก็ไม่น่าจะเป็นพรรคเดียวที่จะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผมยังไม่เคยเห็นข้อเรียกร้องจากถนนที่เรียกร้องให้ยุบสภาแล้วนายกรัฐมนตรีตอบรับง่ายๆ
และการเรียกร้องจากถนนอาจมีปัจจัยแทรกซ้อน หรืออาจจะกลายไปเป็นเงื่อนไขเรื่องของการแก้ปัญหานอกหนทางประชาธิปไตยเข้าไปอีก (อย่าลืมว่าการลงถนนตามกฎเกณฑ์อาจไม่ถูกใจบางคน แต่ไม่ได้ผิดตามรัฐธรรมนูญ แต่บางเรื่องผิดรัฐธรรมนูญเห็นๆ แต่คนที่ตัดสินไปตามรัฐธรรมนูญไม่เห็นก็มีอยู่บ่อย)
เอาเป็นว่าตอนนี้นับถอยหลังสู่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันก่อนครับ ค่อยๆ ดูกันไปทีละระยะ