ทวิ “ลักษณะ” รัฐธรรมนูญ 2521 จุด “พลิกผัน”

เป็นอันว่า “บทสรุป” จากปากของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรณีที่มีการคว่ำ “ร่าง” รัฐธรรมนูญเพราะว่า “เขาอยากอยู่นาน” นั้น

ถูกต้อง

และเริ่มเป็นจริงมากยิ่งขึ้นเมื่อมีข้อเสนออันมาจาก “ครม.” ถึง “กรธ.” ให้ปรับแก้ “ร่าง” รัฐธรรมนูญยืดเวลาของ คสช.ออกไปอีก

ในนามแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน”

Advertisement

พลันที่มีการหารือ “ร่วม” ระหว่าง นายวิษณุ เครืองาม ตัวแทน ครม. กับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตัวแทน กรธ.ตัวเลขก็เริ่มปรากฏ

เป็น “เลข 5”

หากนับจากเดือนพฤษภาคม 2557 ไปยังการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณกลางหรือปลายปี 2560

Advertisement

เป็นไปได้ว่าอาจจะเหลื่อมซ้อนไปยังปี 2561

เท่ากับจากเดือนพฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องไปยังเดือนพฤษภาคม 2561 ถือได้ว่าเป็น “ขยักที่ 1” จากนั้นก็จะเป็นระยะเปลี่ยนผ่านอันถือว่าเป็น “ขยักที่ 2” ยาวไปยังเดือนพฤษภาคม 2565

สรุปแล้วก็คือ “คสช.” จะอยู่ 2 สมัย “8 ปี”

ไม่ว่าในที่สุดแล้วระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ใน “ขยักที่ 2” จะดำรงอยู่ผ่าน “บทเฉพาะกาล” หรือผ่าน “กระบวนการ” แบบไหน

แต่ “รูปแบบ” อย่างนี้มิได้เป็น “ของใหม่”

ความจริงเคยปรากฏมาแล้วในธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2520 ในยุคหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

และเมื่อ “รัฐบาลหอย” ถูกโค่นจาก “รัฐประหาร”

ที่ปรากฏผ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 ก็ดำรงอยู่ใน “บทเฉพาะกาล” เพื่อให้รัฐบาลอันมีพื้นฐานจากการรัฐประหารสามารถลงจาก “อำนาจ” ได้อย่างนุ่มนวล

ความหมายก็คือ รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

คำถามก็คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลงจาก “หลังเสือ” ได้อย่างนุ่มนวล ได้อย่างราบรื่น ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งหรือไม่

หากถาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ไม่น่าจะใช่

ยิ่งหากถามไปยังพรรคกิจสังคม ถามไปยังพรรคชาติไทย ถามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งพรรคประชากรไทย

ก็ไม่น่าจะใช่

เห็นหรือยังว่า ความต้องการในทาง “อัตวิสัย” มิอาจดำเนินไปได้โดยราบรื่นแม้จะมุ่งมาด ปรารถนา เพราะปัจจัยกำกับและชี้ขาดอย่างแท้จริงอยู่ที่สภาพในทาง “ภาววิสัย” มากกว่า

ที่คิดว่า “ซอฟต์แลนดิ้ง” อาจกลายเป็น “ฮาร์ดแลนดิ้ง” ก็ได้

เหมือนกับสถานการณ์ในทางการเมืองขณะนี้จะรวมศูนย์อยู่ที่ว่า “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะตีฝ่าคลื่นลมไปได้หรือไม่

ประเด็นนี้ ทาง “คสช.” ให้หลักประกัน “เต็มเปี่ยม”

ประเด็นนี้ยังสัมผัสได้ในความพยายาม ไม่ว่าจะมาจาก “คสช.” ไม่ว่าจะมาจาก “รัฐบาล” และไม่ว่าจะมาจาก “กรธ.”

ที่ “ประนีประนอม” ได้ก็ประนีประนอม

ขณะเดียวกัน หากติดตามบทบาทของฝ่าย คสช. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย กรธ. อย่างต่อเนื่องก็จะประจักษ์ในลักษณะยืนหยัด

เป็นการยืนหยัดในความต้องการ “สืบทอดอำนาจ” ไม่แปรเปลี่ยน

ข้อเสนอของ ครม. ซึ่งลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะท้อนความเชื่อมั่นใน “อำนาจ” ที่มีอยู่

เชื่อมั่นถึงขั้นแม้จะมีความไม่พอใจเกิดขึ้น แต่เสมอเป็นเพียง “ความรู้สึก”

ความหมายก็หมายความว่า มีโอกาสน้อยมากที่ “ความรู้สึก” จะสามารถแปรเป็น “ปฏิบัติการ” โดยกระบวนการในทาง “ประชามติ”

กระนั้น บทเรียนและผลสะเทือนจาก “บทเฉพาะกาล” รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ก็ดำเนินไปในลักษณะ 2 ด้าน

1 มีความเด่นชัดในด้านแห่งการสืบทอดอำนาจในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกัน 1 มีรูปธรรมอย่างเด่นชัดถึงสภาพที่ “ไม่เสถียร” แห่งอำนาจจำเป็นต้องแปรเปลี่ยน

จาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image