สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขอโทษ! แล้ว ‘ปลดล็อก’ ประวัติศาสตร์ไทย

ลงพื้นที่ – นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน พบปะผู้บริหารสถานศึกษาและหารือถึงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ พร้อมกล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับว่าขออภัยต่อความผิดพลาดในการสลายชุมนุมเหตุการณ์ตากใบปี 2547 ที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ต. จวบ อ. เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 หน้า 1)

ทักษิณขอโทษ – “ขออภัยต่อความผิดพลาดในการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อปี 2547” (21 ปีที่แล้ว) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศหลายครั้งเมื่อลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (มติชน วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 หน้า 1)

ความผิดพลาดที่รัฐราชการไทยรวบอำนาจรวมศูนย์ทำต่อชาวมุสลิม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จชต. + สตูล) เริ่มอย่างน้อยตั้งแต่แผ่นดิน ร.5 ต่อมา ร.6 ทรงพยายามแก้ไข

แต่หลังจากนั้นมีการกระทำรุนแรงต่อชาวมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย เมื่อ 86 ปีที่แล้ว พ.ศ.2482 ราษฎรถูกบงการต้องเป็นคนไทยทั้งประเทศไทย

นับแต่นั้นประชาชนมลายูถูกบังคับเป็นไทย และต้องมี “ความเป็นไทย” ด้วยความรุนแรงแสนสาหัสจนบัดนี้ยังไม่เลิกรา

ADVERTISMENT

ก่อนนายทักษิณ ชินวัตร (21 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2547) เคยมีปัญหารุนแรงมาก่อน สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2518 ต้อง “แสดงความรับผิดชอบครั้งแรกของการเมืองไทย”

ผมเคยแสดงความเห็นไว้หลายตอนต่อเนื่องในมติชนรายวัน (เมื่อ 21 ปีมาแล้ว) จะคัดมาเฉพาะที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ ดังนี้

ADVERTISMENT

“เขาเป็นคนมลายู” แต่เราหลอกว่า “เขาเป็นคนไทย”

“การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ คิดอย่างไรก็ไม่ออก เพราะเราหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ซึ่งที่จริงเขาเป็นคนมลายู ตัวที่เป็นปัญหาก็คือ การหลอกว่าตัวเขาเองเป็นคนไทย”

ข้อความที่ยกมาเป็นตอนหนึ่งในคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 หลังเหตุการณ์ประท้วงที่จังหวัดปัตตานี ที่ยืดเยื้อเป็นแรมเดือนตั้งแต่ปลายปี 2518 ถึงต้นปี 2519) อาจารย์รัตติยา สาและ แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา คัดข้อความนี้พิมพ์ไว้ในหนังสือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกฯ (สกว. พิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ. 2544) แล้วมีข้อความต่อไปอีกว่า

“อย่าบังคับให้เขาเป็นคนไทย—ส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขา รักษาเอกลักษณ์ (Identity) ชนมลายูไว้ แต่ไม่ใช่ให้สิทธิเหนือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้—ที่เราดำเนินงานผ่านมาเริ่มต้นก็ผิดแล้ว คือบอกว่า ‘แขกเป็นไทย’ การให้เขาพูดภาษาไทยจึงยากมาก”

กรณีบังคับให้ “แขกเป็นไทย” ก่อให้เกิดปัญหาบาดหมางลึกๆ ทางสังคมและวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนานนับศตวรรษ ดังที่อาจารย์รัตติยา สาและ กรุณาอธิบายอย่างละเอียดอ่อนไว้ในงานวิจัยชิ้นเยี่ยม ดังนี้

ประเทศไทย (รัฐบาลกลาง) ใช้อำนาจปกครองจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 ขณะที่ยังเป็นประเทศสยามและสามจังหวัดดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็น “บริเวณเจ็ดหัวเมือง” ซึ่งไม่มีทายาทเจ้าเมืองมลายูมุสลิมเป็นเจ้าเมือง (ราฌา) อีกต่อไป ผู้คนที่นี่จึงต้องเป็น “คนสยามเชื้อสายมลายู” โดยปริยาย

เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย คนสยามกลุ่มนี้ถูกกำหนดให้เป็นคนไทยเต็มตัว คือเป็นคนสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาอิสลาม และเรียกสั้นๆ ว่า “ไทยมุสลิม” ในขณะที่เจ้าของนามเรียกตนเองว่า “ออแฤ นนายู” (ออแฤ มลายู = คนมลายู) ซึ่งหมายถึงเป็นผู้สืบเชื้อสายมลายู/เชื้อชาติมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ใช้วิถีชีวิตอย่างมลายูอิสลาม และปฏิเสธความเป็น “คนสยาม” (ออแฤ สีแย) หรือ “คนไทย” ตามที่เข้าใจว่าเป็นคน “ที่นับถือศาสนาพุทธ” คนเหล่านี้เคยรังเกียจ “ภาษาไทย” เพราะถือว่าเป็นภาษาแห่งพุทธศาสนา จึงไม่นิยมเรียนภาษาไทย เพราะกลัวจะกลายเป็นคนพุทธ

ความเข้าใจว่า “สยาม” หรือ “ไทย” หมายถึง “พุทธศาสนา” ยังผูกขาดอยู่ในความคิดของคนรุ่นเก่า (แก่) อีกหลายคนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การให้ความหมายคำว่า “ไทย” หรือ “สยาม” และ “มลายู” ต่างกันนี้ ถือได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทั้งสองฝ่าย (ไทยพุทธ และมุสลิมไทย) ผิดใจกัน และเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (ไทยพุทธ) บางฝ่าย ในการที่จะเปลี่ยนแปลงให้คนมุสลิมเป็น “คนไทย” ตามความหมายของรัฐบาลไทยในอดีตได้

รัฐบาลไทยเริ่มเรียกมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็น “คนไทย” อย่างจริงจังเมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทันทีที่เรียกเขาว่าเป็น “คนไทย” รัฐบาลไทยก็เริ่มนโยบาย “ผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม” เพื่อให้มุสลิมเหล่านั้นได้เป็นคนไทยดั่งที่ต้องการ เช่น ยกเลิกการศึกษาภาษามลายูในโรงเรียนประถม ห้ามหนังสือมลายูเข้ามาในประเทศไทย ฯลฯ

“เขาเป็นคนมลายู” แต่เราหลอกว่า “เขาเป็นคนไทย” แล้วเบียดเบียนบังคับเขาอย่างนั้นสมควรแล้วหรือ?

(สยามประเทศไทย  มติชนฉบับวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2547)

“ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ไทย

ขออภัยให้ถาวร ต้องปลดล็อกประวัติศาสตร์ไทยที่เป็น “ประวัติศาสตร์เชื้อชาติไทย” ให้เป็น “ประวัติศาสตร์ประเทศชาติ” ที่ประกอบด้วยดินแดนและผู้คนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” มีทั้งไทย และไม่ไทยจำนวนมาก

รัฐปัตตานี ใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547

ตามตำราประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้เรียน-สอนกันในโรงเรียนทั่วประเทศมาช้านาน บอกว่าคนไทย “อพยพ” มาจากที่อื่นจากทางทิศเหนือ แล้วตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1800

ก็แสดงว่า “คนไทย” ไม่ใช่เจ้าของดินแดนประเทศไทยทุกวันนี้ แต่เป็น “แขก” แปลกหน้าเพิ่งอพยพเข้ามาเมื่อราว พ.ศ. 1800 แล้วรุกรานขับไล่เจ้าของดินแดนแท้จริงให้ไปอยู่ที่อื่น

แล้วใครล่ะเป็นเจ้าของ? ใครเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ดินแดนนี้ก่อน?

หนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นพยานหลักฐานที่เป็นคำตอบทั้งหมด แล้วยังเตือนล่วงหน้าว่า

ไฟใต้อาจดับได้ชั่วคราว แต่ “อำนาจ” แท้จริง ยังครอบงำอยู่ ย่อมเกิดไฟใต้ได้อีกเสมอ นั่นคือ “ประวัติศาสตร์ไทย”

หนทางที่จะทำให้ไฟใต้ดับได้ค่อนข้างถาวรและยั่งยืน ก็ต้องดับไฟ “ประวัติศาสตร์ไทย” ที่ล้าหลังคลั่งชาติและดูแคลนคนอื่น

“ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image