สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเหล็ก วัดพุทไธศวรรย์ (จบ) เวียงเหล็ก และเมืองปทาคูจาม ขุมกำลังของ “สยาม” รัฐสุพรรณภูมิ

(ซ้าย) ชาวสยาม มีชุมชนอยู่ฟากตะวันตก (ขวา) ชาวละโว้ มีชุมชนอยู่ฟากตะวันออก

เวียงเหล็กกับเมืองปทาคูจามมีพื้นที่ทับซ้อนกัน น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาแต่แรกก่อนยุคอยุธยา

ชวนให้น่าสงสัยว่าเมืองปทาคูจามเป็นเมืองของพระเจ้าอู่ทอง ที่สร้างตำหนักเวียงเหล็กไว้เป็นที่ประทับ ชื่อเมืองว่า “ปทาคูจาม” จะมีแต่ครั้งแรกสร้าง หรือเรียกสมัยหลัง ยังไม่พบหลักฐาน

เมืองปทาคูจาม อยู่ด้านใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา บริเวณเดียวกับเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นชุมชนชาวสยาม จากดินแดนสยาม (สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช) ขุมกำลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสุพรรณภูมิ มีหลักฐานหลายอย่างในยุคหลังๆ ดังนี้

ขุมกำลังของรัฐสุพรรณภูมิ

Advertisement

เมืองปทาคูจาม เป็นขุมกำลังของรัฐสุพรรณภูมิมาตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา สืบจนยุค         ขุนหลวงพะงั่ว กระทั่งยุคเจ้านครอินทร์ พบหลักฐานในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ดังนี้

  1. พระรามราชา วงศ์ละโว้ (โอรสพระราเมศวร) เสวยราชย์ที่อยุธยา พ.ศ. 1938

ต่อมา พ.ศ. 1952 พระรามราชา ขัดแย้งกับเจ้าเสนาบดี (เชื้อสายวงศ์สุพรรณภูมิ) ให้จับทำโทษ

เจ้าเสนาบดีหนีรอดข้ามไปอยู่เมืองปทาคูจาม ส่งข่าวถึงเจ้านครอินทร์ (รัฐสุพรรณภูมิ) นัดหมายยกกำลังยึดอยุธยา

Advertisement
  1. จากนั้นเจ้าเสนาบดียกพลจากเมืองปทาคูจามปล้นได้อยุธยา เชิญเจ้านครอินทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองอยุธยา

แล้วให้พระรามราชาไปกินเมืองปทาคูจาม เท่ากับพระรามราชาถูกควบคุมอยู่ปทาคูจาม ซึ่งเป็นขุมกำลังของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ

[ก่อนหน้านี้ผมเคยเข้าใจว่าปทาคูจามเป็นขุมกำลังของวงศ์ละโว้ แต่เมื่อทบทวนหลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้วก็รู้ว่าคลาดเคลื่อน จึงขอแก้ไข]

“เจ้าเสนาบดี” ดูจากชื่อแสดงฐานะเป็นเจ้า แล้วมีตำแหน่งเสนาบดี บางทีจะเป็นเจ้านายเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิ รับราชการในอยุธยา มีอำนาจควบคุมกลุ่มสยามอยู่เมืองปทาคูจาม

 

ชุมชนชาวสยามบริเวณเมืองปทาคูจาม

ชุมชนชาวสยามบริเวณเมืองปทาคูจาม มีก่อนยุคอยุธยา ดูได้จากวัดพญากง เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำท่าจีน

วัดพญากง (ใกล้วัดพญาพาน และใกล้บ้านโปรตุเกส) อยู่บริเวณเมืองปทาคูจาม ถัดจากวัดพุทไธศวรรย์ลงไปทางทิศใต้

ที่วัดพญากง เคยพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลาขาว (แบบทวารวดี) ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปจากสถูปวัดพระเมรุ เมืองนครปฐม (มีบันทึกในหนังสือพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510)

น่าเชื่อได้ว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดพญากง ตั้งแต่ครั้งมหาเถรศรีศรัทธา (เจ้านายรัฐสุโขทัย) ไปบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวง (พระปฐมเจดีย์) เป็นยอดปรางค์ และหาเหตุผลไม่ได้ที่จะเคลื่อนย้ายสมัยหลังมาไว้บริเวณนี้ ผมเคยรวบรวมไว้ในหนังสือ พระปฐมเจดีย์ฯ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545)

ชื่อวัดพญากงกับชิ้นส่วนพระพุทธรูปแบบทวารวดีจากเมืองนครปฐม สอดคล้องการเป็นชุมชนชาวสยามจากลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เพราะพญากง เป็นชื่อในนิทานประจำสถูปพระปโทณเจดีย์ กลางเมืองนครปฐม ที่น่าชื่อว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาได้จากนิทานสันสกฤต แล้วดัดแปลงเป็นพื้นเมือง

 

สยามรวมกับละโว้

กรุงศรีอยุธยา มีกำเนิดเกี่ยวข้องกับผู้นำอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสยาม กับ กลุ่มละโว้

กลุ่มสยาม มีผู้นำในตำนาน เรียก อู่ทอง อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องใกล้ชิดขึ้นทางเหนือถึงลุ่มน้ำน่าน-ยม กับลงทางใต้ถึงดินแดนคาบสมุทร มีตำนานนิทานเรื่องท้าวอู่ทอง เกาะกลุ่มหนาแน่นบนพื้นที่แถบนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกกลุ่มตระกูลอินทร์)

กลุ่มละโว้ มีผู้นำในพงศาวดาร เรียก รามาธิบดี อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชา มีตำนานนิทานเกี่ยวกับเมืองละโว้และกัมพูชา เช่น พญาแกรก, ท้าวโคตรบอง, พระปทุมสุริยวงศ์ ฯลฯ เกาะกลุ่มหนาแน่นบนพื้นที่แถบนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกกลุ่มตระกูลราม)

จีน มีเอกสารโบราณเรียกกลุ่มสยามว่า เสียน (หรือ เสียม) และเรียกกลุ่มละโว้ว่า หลอฮก (หรือ หลอหู) เมื่อร่วมกันสถาปนารัฐอยุธยา จีนเรียกรวมว่า เสียนหลอฮก (หรือ เสียมหลอหู) บางทีเรียกสั้นๆ ว่า เสียนหลอ (หรือ เสียมหลอ)

สยามกับละโว้รวมกันอย่างหลวมๆ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1839 เพื่อผลประโยชน์ที่มีกับจีน ด้านการค้าและการเมือง ดังพบหลักฐานจากเอกสารจีนอยู่ในบันทึกของโจว ต้า กวาน

รวมกันแล้วก็แยกกันได้ถ้าผลประโยชน์ขัดกัน หลังจากนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสยามกับละโว้รวมกันอีก แล้วได้นามว่ากรุงศรีอยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดินว่า รามาธิบดี เมื่อ พ.ศ. 1893

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image