สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อเอกชนบุก‘ดวงจันทร์’

สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อเอกชนบุก‘ดวงจันทร์’

การสำรวจอวกาศซึ่งในยุคศตวรรษที่ 20 เคยเป็นภารกิจของหน่วยงานของรัฐ กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะมีเอกชนบางรายจากบางประเทศ อยู่ระหว่างการทำหน้าที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) หรือองค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) เป็นต้น ภารกิจสำรวจครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่การสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ อาจกลายเป็น “ต้นแบบ” ของการสำรวจอวกาศในอนาคต รวมถึงการเริ่มต้นทำให้การสำรวจอวกาศกลายเป็น “ธุรกิจ” ขึ้นมาอีกด้วย

เรื่องของเรื่องก็คือ ในเวลานี้ กำลังมียานแลนเดอร์ สำหรับสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ของเอกชนมากถึง 3 ลำ จาก 2 ประเทศ กำลังอยู่ระหว่างเดินทาง หรือไม่ก็อยู่ในวงโคจรโดยรอบดาวบริวารของโลกใบนี้ โดยที่องค์กรอวกาศของประเทศนั้นๆ ไม่มีส่วนร่วมในการลงทุนสนับสนุนอยู่ด้วยเลย

แลนเดอร์ 2 ลำแรก ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมกัน เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ลำแรก เป็นของบริษัทเอกชนจากเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ชื่อ Firefly Aerospace อีกลำเป็นของบริษัทเอกชนด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง ispace ทั้งสองลำใช้บริการจรวด ฟัลคอน 9 ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ เพื่อขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ลำสุดท้าย คือยานแลนเดอร์ชื่อ “เอเธนา” (Athena) ของบริษัท Intuitive Machines ของสหรัฐอเมริกา ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดย สเปซเอ็กซ์ เช่นเดียวกันเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้นี่เอง

ADVERTISMENT

ยานแลนเดอร์ หรือยานสำหรับลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ทั้ง 3 ลำ มีภารกิจจำเพาะของตัวเองที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ เอเธนา ยานที่มีความสูง 4.73 เมตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ มีกำหนดจะลงจอดในวันที่ 6 มีนาคมนี้ บริเวณที่ราบใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีน้ำในสภาพเป็นน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมาก เอเธนา จะมีอุปกรณ์ขุดเจาะติดตั้งอยู่ด้วย และจะเจาะพื้นผิวดวงจันทร์ลงไปหลายครั้ง ครั้งละ 10 เซนติเมตร จนกว่าจะถึงความลึกรวม 3 เมตร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยจะใช้เวลาอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ 10 วันเต็ม

นอกจากเป็นแท่นขุดเจาะแล้ว เอเธนา ถูกออกแบบมาให้ปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กอีกลำ เป็นโดรนที่ถูกตั้งชื่อให้ว่า “ฮอปเปอร์” (Hopper) ซึ่งจะบินแยกออกไปลงในปากปล่องหลุมอุกกาบาตใกล้เคียงเพื่อสำรวจหาวี่แววของน้ำภายในนั้นเช่นกัน นอกจากนั้น เอเธนา มีกำหนดจะปล่อยยานหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เล็กเท่ากล่องไม้ขีด เรียกว่า แอสโตรแอนท์ (AstroAnt) ออกไปเพื่อทำหน้าที่วัดอุณหภูมิและตรวจสอบสภาพแวดล้อมอีกด้วย ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในระหว่างนี้ ก็จะมีการทดสอบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารไร้สายขึ้นเป็นครั้งแรกบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยใช้เครือข่ายที่พัฒนาโดยบริษัทโนเกีย ในการเชื่อมต่อรับส่งสัญญาณภาพและวิดีโอ ระหว่างยานทั้งสามพร้อมกันไปด้วย

ADVERTISMENT

ยานแลนเดอร์อีกลำ คือ บลู โกสต์ แลนเดอร์ (Blue Ghost lander) ของบริษัท Firefly Aerospace เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และกำหนดจะลงจอดบริเวณริมสุดด้านตะวันออกของพื้นที่ด้านตะวันออกใกล้สุดของดวงจันทร์ในวันที่ 2 มีนาคม โดยมีอุปกรณ์ของนาซา 10 อย่างติดตัวไปด้วย และจะใช้เวลาเพื่อสำรวจกับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นฝุ่น ก้อนหินน้อยใหญ่ แล้วยังมีเศษชิ้นส่วนของสินแร่อยู่ด้วย เป็นเวลานานราว 2 สัปดาห์

ลำสุดท้าย ซึ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมๆ กับบลู โกสต์ คือ ยาน รีซิเลียนซ์ (Resilience) ของบริษัท ไอสเปซ จากประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะถึงวงโคจรรอบดวงจันทร์ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมนี้ และหากลงจอดเป็นผลสำเร็จ ก็จะปล่อยยานสำรวจเคลื่อนที่ หรือยานโรเวอร์ น้ำหนัก 11 ปอนด์ ออกไปทำหน้าที่เก็บและวิเคราะห์ฝุ่นตัวอย่างจากผิวดวงจันทร์ ตรวจสอบองค์ประกอบของน้ำด้วยเครื่องมือ อิเล็กโทรไลเซอร์ แถมยังพกโมเดลบ้าน ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวสวีเดนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาอีกต่างหาก

หากภารกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ก็จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ภาคเอกชนจะกลายเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศในอนาคต ซึ่งถึงแม้ด้านหนึ่งจะเป็นข้อดีที่ช่วยให้ภารกิจนี้หลุดพ้นจากหน่วยงานของรัฐที่ใหญ่โต แต่อืด เฉื่อยเนือย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้ภารกิจสำรวจอวกาศกลายเป็น “ธุรกิจ” ที่มุ่งหวังเพียงทำเงินรายได้ และไม่ได้ใส่ใจโครงการทรงคุณค่าที่อาจเป็นโครงการระยะยาว แต่ให้ผลตอบแทนช้าและน้อย รวมทั้งอาจเกิดกรณีที่เห็นแก่กำไรจนละเลยเรื่องความปลอดภัยของนักบินอวกาศไปเลยก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image