คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : สิ่งที่ ‘แย่กว่า’ การเลือกแนวทางที่ ‘แย่ที่สุด’

การเลือกแนวทางที่ ‘แย่ที่สุด’

อุยกูร์ – เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าในเรื่องเดียวกัน ด้วยเนื้อหาเดียวกัน หากได้พูดกล่าวให้แจ้งออกไปก่อนลงมือทำ สิ่งนั้นจะถูกรับฟังในฐานะของ “เหตุผล” ประกอบการ “ตัดสินใจ” แต่ถ้าเรื่องเดียวกันนั้นมาบอกกล่าวหลังจากที่ลงมือทำไปแล้ว มันก็จะกลายเป็นแค่ “ข้ออ้าง” ที่เอาไว้ใช้เพื่อ “แก้ตัว”

เช่นเดียวกับ “เหตุผล” ที่กลายเป็น “ข้อแก้ตัว” เรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์ซึ่งถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557 กลับไปยังประเทศจีนนั้น อันที่จริงแล้วมันก็พอจะมีน้ำหนักที่คนทั่วไปแม้ต่อให้ไม่เห็นด้วย แต่ก็อาจจะพอทำความ “เข้าใจ” ได้ ด้วยความที่เงื่อนไขความเป็นไปได้ทุกทางนั้น ไม่มีทางไหนเลยที่จะเป็นประโยชน์แก่ใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการไทยซึ่งเป็นดินแดนที่รับ หรือชาวอุยกูร์ผู้ถูกกักกันนั้น

ทางออกที่เหมือนจะดีที่สุดในอุดมคติคือการจะส่งตัวพวกเขาต่อไปยังประเทศที่สามซึ่งเป็นถิ่นฐานอันปลอดภัยต่อชาวชาติพันธุ์ หากก็ติดที่ว่าไม่มีประเทศใดแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการหรือชัดเจนว่าจะยอมรับผู้คนเหล่านี้ แม้กระทั่งองค์กรที่รับผิดชอบภารกิจด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) เองก็ยังไม่ให้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองแก่พวกเขาแม้จะถูกกักอยู่ในประเทศไทยนานเกินสิบปี แล้วหากเป็นจริงตามเอกสารที่เปิดเผยออกมา ก็เป็นเพราะทางองค์กรเกรงจะกระทบกับ “เงินบริจาค” จากทางการจีน

ที่ตลกหรือเปล่าก็ไม่รู้คือในตอนที่เริ่มต้นเขียนคอลัมน์นี้แล้วไม่มั่นใจว่าจะใช้ถ้อยคำอย่างไรที่จะกล่าวถึงชาวอุยกูร์กลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เมื่อไปตรวจสอบกับเว็บไซต์ของ UNHCR เองก็พบว่า แม้แต่การกล่าวถึงชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ในแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย ก็ไม่กล่าวถึงพวกเขาในฐานะ “ผู้ลี้ภัย” หรือ “ผู้ที่ต้องหนีภัยทางการเมือง” ที่ชัดเจนแต่ใช้คำพูดที่อ้อมค้อมไปมา เรียกพวกเขาว่า “ชาวอุยกูร์ซึ่งถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงในเชิงข้อเท็จจริงด้วยถ้อยคำซึ่งผูกมัดน้อยที่สุด

ADVERTISMENT

สำหรับทางเลือกที่จะให้พวกเขาอยู่ในประเทศไทยต่อไป สถานะตามกฎหมายพวกเขาก็คือคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องถูกขังในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู ซึ่งก็เป็นการกักตัวไว้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนที่แย่ยิ่งกว่าการถูกลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลที่มีกำหนดระยะเวลา ซ้ำก็ถูกมองว่าเป็นการ “ควบคุมตัวโดยพลการ” และยังเป็นเหตุให้ผู้ถูกควบคุมตัวหลายรายมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไตทำงานผิดปกติ อัมพาตครึ่งล่าง โรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และปัญหาหัวใจและปอด ตามข้อสังเกตของ “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ” ตามคำกล่าวอ้างของ UNHCR ที่เรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมแต่ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอันใด

ส่วนตัวเลือกที่ฟังดูแย่ที่สุด คือการส่งตัวกลับไปทางประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่เขาหนีออกมานั้น ก็สุ่มเสี่ยงทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต้องเผชิญกับการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย การควบคุมตัวโดยพลการ และการบังคับให้สูญหาย “อันเป็นสิ่งที่โหดร้ายเกินจะจินตนาการ” ตามคำกล่าวอ้างของ UNHCR ที่แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายรับรู้ แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศแล้วก็ไม่มีใครรับรองข้อเท็จจริงนี้อย่างเป็นทางการ

ADVERTISMENT

ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหาในแนวทางสุดท้ายที่เป็นผลให้โดนโจมตีหนักที่สุดทั้งจากในประเทศและในสายตาของประชาคมโลก แม้ว่าจะพยายามลดความรุนแรงของผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการตัดสินใจลงแล้วด้วยการขอให้ทางการจีนให้คำรับรองเป็นหนังสือทางการต่อความปลอดภัยของผู้ถูกส่งกลับ และให้เจ้าหน้าที่ของทางการไทยเข้าไปเยี่ยมเยียนตรวจสอบ เรื่องคำรับรองจากรัฐบาลจีนจะเชื่อถือได้หรือไม่ แต่การที่ไทยต่อรองให้ทางจีนต้องทำหนังสือเป็นทางการก็จะทำให้ฝ่ายจีนมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ส่วนจะเป็นได้แค่ไหน ก็เหมือนกับการให้คนยืมเงินไปแล้วขอให้เซ็นสัญญาไว้เป็นหลักฐานที่จะคืนเงินหรือเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าข้อตกลงปากเปล่า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจในแนวทางที่สุดท้ายก็ถูกรุมประนามเช่นนี้ บางฝ่ายเชื่อว่าเป็นข้อตกลงต่างตอบแทนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนที่ “แลก” ตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้กับการที่รัฐบาลจีนจะใช้อำนาจในทางการเมืองระหว่างประเทศให้ประเทศรอบข้างประเทศไทยมีการดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บ่อนพนันออนไลน์และมิจฉาชีพรูปแบบอื่นที่มีฐานที่ตั้งในประเทศเหล่านั้น

เรื่องนี้สำหรับผู้ที่มีใจยุติธรรมอยู่บ้างก็น่าจะได้เห็นบ้างว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพออนไลน์รูปแบบอื่นๆ อย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตอำนาจรัฐและอธิปไตยของตัวเองแล้ว ทั้งการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดกับตัวการและผู้สนับสนุน การขันนอตให้ธนาคารที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมจะต้องมีมาตรการที่รัดกุมเพื่อป้องกันการโอนเงินให้เครือข่ายมิจฉาชีพ ความเข้มงวดจริงจังของผู้บังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามบัญชีม้าและแหล่งกบดานของมิจฉาชีพที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นข่าวให้เห็นเกือบทุกวันตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว

หากความพยายามเหล่านั้นก็ยังเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ไม่ชัดเจน จนผู้ที่ไม่ชอบใจรัฐบาล (และออกมาเห็นใจในชะตากรรมของชาวอุยกูร์ในทุกวันนี้) เองก็เหมือนจะไม่ยอมเข้าใจในข้อจำกัดดังกล่าว และยังคงโจมตีรัฐบาลราวกับว่าปล่อยปละละเลยระดับ “ไม่ทำอะไรเลย” กับปัญหาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งที่การจัดการปัญหาในขอบเขตอำนาจรัฐของไทยก็เป็น “ปลายน้ำ” ที่ความเสียหายเกิดขึ้น แต่ก็ยากที่จะแก้ไขได้อย่างเด็ดขาดเพราะต้นตอปัญหานั้นอยู่ในส่วนที่นอกเหนือจากอำนาจรัฐออกไป และต้องอาศัยอำนาจและอิทธิพลในทางการเมืองระหว่างประเทศจากจีนมาช่วย

ถ้าข้อต่อรองเรื่องส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนให้ทางการจีนเป็นไปเพราะเหตุผลนี้จริง และผลของการนี้ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ในประเทศรอบข้างประเทศไทยถึงกับเป็นอันแตกรังไป ถ้าลองไปสอบถามประชาชนชาวไทยทั่วๆ ไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบที่ไม่สู้ถูกใจนักสำหรับผู้ที่ให้คุณค่ากับเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า “ข้อแลกเปลี่ยน” นี้อาจจะสมเหตุสมผลแล้วก็ได้ เมื่อคำนึงถึง “ประโยชน์” หรือการ “บรรเทาทุกข์” ให้แก่คนส่วนใหญ่ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบรรดามิจฉาชีพออนไลน์ อาจจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญกว่าการรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนครึ่งกลางอย่างไร้ทางออกก็ได้

ไม่นับว่าบรรยากาศของโลกในปัจจุบันที่ปัญหาอิหลักอิเหลื่อในการจัดการกับผู้อพยพและลี้ภัยทางการเมือง เป็นมูลเหตุหนึ่งซึ่งทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดหรือชาตินิยมนั้นได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในหลายประเทศอย่างชัดเจนเป็นกระแสยุโรป “หันขวา” กับการยกเอาเรื่องการก่อการร้ายขึ้นมาขู่ว่า การตัดสินใจและดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยนั้นเสี่ยงจะต้องพบกับเหตุก่อการร้ายจากฝ่ายผู้ร่วมอุดมการณ์ชาติพันธุ์ที่มุ่งหมายมาล้างแค้นนั้น ยิ่งทำให้เหตุผลสนับสนุนแนวทางที่จะไม่ให้รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์กลุ่มนี้กลับไปให้จีนก็ดูสะเปะสะปะเข้าไปใหญ่ เพราะกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่เช่นนี้เพราะด้วยการข่มขู่และความหวาดกลัวจากการก่อการร้ายจนไร้ทางเลือกจนต้องปล่อยทิ้งปัญหาคาราคาซังนี้โดยไม่อาจตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งได้

การตัดสินใจที่เหลือทางเลือกเพียงสามทางที่เลวร้าย แต่เมื่อรัฐบาลได้เลือกทางที่เหมือนจะดูแย่ที่สุด แม้ว่าจะเพื่อแลกกับประโยชน์ของประชาชนในชาติ และได้พยายามบรรเทาผลร้ายไปแล้วนั้นอาจจะพอรับฟังได้ ถ้า “การดำเนินการ” ขององคาพยพในฝ่ายรัฐบาลไทยนั้นทำให้ทางเลือกที่เลวร้ายที่สุดนี้เป็นไปในทางที่ส่งผลกระทบในทางที่แย่ลงไปได้กว่านั้นอีก

เพราะ “ฝ่ายความมั่นคง” ของไทยกลับเลือกที่จะ “ดำเนินการ” กับเรื่องนี้แบบปิดเร้นลวงพรางราวกับรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เช่นการลักลอบเคลื่อนย้ายผู้ถูกส่งกลับกันในยามวิกาลด้วยรถตู้ที่ปิดบังพรางอัตลักษณ์ ซ้ำเมื่อเรื่องเริ่มถูกเปิดเผย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ดันปฏิเสธพลางโยนกลองกันไปมาไม่ให้ความชัดเจน จนเมื่อถูกจับได้ไล่ทันประกอบกับการเปิดเผยจากทางการจีน ผู้รับผิดชอบในการส่งตัวฝ่ายไทยจึงค่อยออกมา “สารภาพ” พร้อมชี้แจงแสดงเหตุผลตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า มันเป็นเหตุผลที่ต่อให้ไม่เห็นด้วยแต่ก็พอเข้าใจได้เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวง แต่ก็ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั่นแหละว่า “เหตุผล” ที่มาภายหลัง “การกระทำ” นั้นมันสายเกินไป และเป็นได้เพียง “ข้อแก้ตัว”

ส่วนที่แย่ที่สุดของเรื่องนี้คือการที่ตัวคุณแพทองธาร นายกรัฐมนตรีเองนั้นก็ยังไม่ทราบรายละเอียด หรือไม่ได้รับรายงานเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์ไปให้ทางการจีนเลย ทั้งๆ ที่ในภายหลังทางฝ่ายจีนออกมาเปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อตกลงกับทางการจีนในครั้งที่นายกฯ ไปเยือนในเดือนในช่วงกลางเดือนที่แล้ว เช่นนี้คุณแพทองธารในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะ “ไม่รู้” หรือ “ไม่ได้รับรายงาน” เรื่องใหญ่ขนาดนี้มาก่อนได้อย่างไร

เมื่อพิจารณาจากความลับล่อลวงพรางข้างต้น ก็อดจะเดาเสียไม่ได้ว่า เรื่องนี้ใครสักคน อาจจะเป็น “พวกผู้ใหญ่” ในพรรคเพื่อไทยเองที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ไม่สะอาด” สักเท่าไร และความที่ไม่อยากให้ตัวนายกฯ ต้องมา “มือเปื้อน” กับเรื่องนี้ ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการไปตกลงและจัดการกันเองหลังฉากโดยไม่ทำให้เธอรับรู้เสียเลยตั้งแต่ต้น เป็นผลให้เมื่อมีสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ครั้งแรก นายกฯ จึง “ยังไม่ได้รับรายงาน” เรื่องนี้

ผลของการกระทำข้ามหัวปกปิดเช่นนี้กลับทำให้คุณแพทองธาร ในฐานะที่ตามกฎหมายต้องถือเป็น “ผู้บังคับบัญชาสูงสุด” ของฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองทั้งปวงนั้น ต้องเพลี่ยงพล้ำโดยไม่จำเป็น และจะกลายเป็นแผลใหญ่ที่จะถูกฝ่ายค้านคว้านเปิดขึ้นมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ทั้งที่จริงๆ แล้ว คำขอเปิดอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ ส่วนตัวแล้วค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะถ้อยคำบางอย่างอ่านแล้วนึกว่ามีอดีต กปปส.บางคนในพรรคช่วยร่างและตรวจทานให้ จากการโจมตีในประเด็นส่วนตัวด้วยความหวาดกลัว “ผีทักษิณ” ที่เรื่องนี้ยังไม่รวมความผิดปกติที่อยู่ดีๆ ก็เลือกที่จะไม่อภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งซึ่งกำลังมี “บาดแผล” ซิบๆ ที่ตัวเองเป็นฝ่ายจิกเปิดมาตลอด กลับเลือกไม่อภิปรายด้วยข้อกล่าวอ้างง่ายๆ ว่า เพราะ “ข้อสอบรั่วไปแล้ว”

หากประเด็นการส่งตัวชาวอุยกูร์ก็ดันกลายเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างให้ข้อพิสูจน์ตามคำกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านที่ว่าคุณแพทองธารนั้น “…ขาดภาวะผู้นำในการบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา ยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือตน รวมถึงยินยอมให้ผู้เป็นบิดาสามารถชักนำ จูงใจ มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารราชการแผ่นดินได้… ฯลฯ” ฟังดูมีน้ำหนักขึ้นมาเสียอย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image